- วิกฤติโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 8% พอๆ กับวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540
- "เทคโนแครต" ชี้ "ท่องเที่ยวไทย" ฟื้นเร็ว แต่ต้องเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเป็นช่วงที่ดีที่สุด อย่ารอโควิด-19 จบค่อยทำ
- "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" สร้างความเชื่อมั่น วิกฤติโควิด-19 ระบบธนาคารโดยรวมค่อนข้างเข้มแข็ง สภาพคล่องสูง
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "เศรษฐกิจไทย" ที่ย่ำแย่หนักในห้วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของวิกฤติสาธารณสุข ที่เรียกกันว่า โควิด-19 (COVID-19) ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สร้างบาดแผลความเจ็บปวดให้กับรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ที่ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา...เราจะเห็นภาพของการล้มหาย
หลากหลายความเห็นจากทุกสารทิศส่งถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เร่งแก้ปัญหา ขืนยังเนิบนาบมีแต่จะแย่ลงทุกวันๆ ...ฟากรัฐบาลเองก็ยืนยันไม่ได้นิ่งเฉย เร่งเข็นโครงการเล็ก โครงการน้อย ประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ เรียกว่า ทำเท่าที่ทำได้แล้ว...
โดย "เทคโนแครต" อย่าง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ก็ถือว่าเป็น "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ใหม่แกะกล่องอีกหนึ่งคนเพิ่งรับตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน เช่นเดียวกับ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บอกให้ได้เบาใจบนเวทีงานเสวนา เศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยบนเวทีโลก ไว้ว่า หากเทียบกับ 2 วิกฤติที่เกิดมาก่อนหน้านี้ คือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540-41 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551-52 ในครั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 ปี 2563 ในแง่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) อาจหนักกว่า แต่ในแง่ของตัวเลขปัจจัยอื่นๆ กลับเบากว่ามาก
...
"ปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทย -8% ต่อมาปี 2552 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ติดลบไม่ถึง 1% และปี 2563 วิกฤติโควิด-19 ประมาณการว่าก็น่าจะ -8% ถ้าไปดูไส้ในเห็นได้ว่า ปี 2541 จีดีพี -8% การลงทุน -5% การบริโภค -10% แต่รอบนี้เท่าที่ดู การบริโภค -3% น้อยกว่าปี 2540 พอสมควร หรือปี 2551-52 ประเทศไทยแทบไม่รู้สึกอะไรเลย แม้ว่าส่งออก -15% มากกว่ารอบนี้"
ซึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ตัวเลขเหล่านั้นสื่อได้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ค่อนข้างมาก
แต่ที่ทำให้รอบนี้ รู้สึกสะเทือนหนักหน่วงกว่าครั้งไหนๆ นั่นก็เพราะว่า วิกฤติโควิด-19 ดันไปกระทบกล่องดวงใจอย่าง "การท่องเที่ยว" ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีมากถึง 11-12% แถมยังพึ่งพาการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักอีกต่างหาก
หากย้อนดูความรุนแรงที่ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่พิษร้ายไว้ ก็ต้องบอกว่า โรงแรมขนาดเล็ก-กลาง ปิดกิจการกันนับไม่ถ้วน ส่วนรายใหญ่ก็ขนโปรโมชันลดกระหน่ำ หวังดึงคนเข้าพัก แต่ก็ยังหืดขึ้นคอ
"เทคโนแครต" แนะวางแผนปี 2564 ตอนนี้ อย่ารอโควิด-19 จบ
"ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้คุยกับ "เทคโนแครต" อีกหนึ่งท่านที่ห่างหายไปจากหน้าจออยู่พักใหญ่ หลังกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะหวนกลับสู่ภาคธุรกิจอีกครั้ง อย่าง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่บอกว่า ณ เวลานี้ เหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว
"เชื่อมั่นว่า ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ วิกฤติโควิด-19 จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ได้รับข่าวดีของ 'วัคซีนไฟเซอร์' ที่มีประสิทธิภาพมากถึง 90% หมายความว่า ในอนาคต มีโอกาสที่จะมีวัคซีนตัวที่ 2 และตัวที่ 3 ออกมาอีก และหากวัคซีนตัวถัดๆ มามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับตัว 'วัคซีนไฟเซอร์' ก็หมายความได้อีกว่า โอกาสที่จะคลี่คลายปัญหาจากโควิด-19 คงใกล้เข้ามาแล้ว"
แน่นอนว่า เมื่อเห็นแสงสว่างและบรรยากาศของความผ่อนคลายจากวิกฤติโควิด-19 มาถึง ดร.กอบศักดิ์ จึงแนะว่า ภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้อง "คิด" ได้แล้วว่า หากวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง...จะเตรียมการเพื่อออกจากวิกฤติโควิด-19 นี้อย่างไร เพราะมีหลายๆ อย่างที่หากว่า การเตรียมการเกิดขึ้นก่อนวิกฤติโควิด-19 จบเพียงระยะสั้นๆ อาจจะไม่ทันการ ดังนั้น ต้องเร่งเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้
...
เพราะในมุมมองของ ดร.กอบศักดิ์ เองก็ยอมรับว่า แม้กระทั่งตัวเองก็ยังเริ่มมีกำลังใจ พอเห็นโอกาสว่า วิกฤติโควิด-19 ใกล้จะจบก็จะสามารถเตรียมการขับเคลื่อนสภาพคล่องต่างๆ เพื่อช่วยลูกค้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือได้ โดยการเตรียมการครั้งนี้ รัฐบาล และภาคธุรกิจรายใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน ต้องเตรียมการกับผู้ประกอบการ หรือลูกค้า เพื่อให้ออกไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งหนึ่งได้
จากคำกล่าวของ ดร.กอบศักดิ์ ก็สอดรับกับ "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ที่ยืนยันความเชื่อมั่นว่า ไทยเคยเจอหนักกว่าวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว แต่ก็ผ่านมาได้ และที่ทำให้มั่นใจว่า ในที่สุด... ไทยจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ในแง่เสถียรภาพหลายมิติ ตอนนี้ถึงแม้ทุกอย่างจะดูหนัก แต่เสถียรภาพรอบนี้เทียบกับรอบก่อนๆ นั้นดีกว่า
"เทียบกับปี 2540 ทุนสำรองประเทศเยอะ หนี้ต่างประเทศน้อย ภาพต่างกันโดยสิ้นเชิง มิติที่ 2 คือ ระบบธนาคาร ที่ทราบกันดีว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ธนาคารล้ม แต่ในรอบนี้ ระบบธนาคารโดยรวมถือว่า เข้มแข็งค่อนข้างมาก สภาพคล่องสูง ฐานะเงินทุนอยู่ที่ 19% ติดอันดับ 3 ในภูมิภาค ...สภาพการคลังเทียบกับในอดีตก็ยังเข้มแข็ง ไม่ได้มีปัญหาอะไร"
...
ช่วงที่ดีที่สุด... ปี 2564 ท่องเที่ยวไทยจะกลับมา
"มั่นใจว่า... ไทยจะเป็นประเทศที่การท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างรวดเร็ว"
ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ในปี 2564 "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" ก็จะยังเป็น "กล่องดวงใจ" ของเศรษฐกิจไทย เพราะหากมองไปประเทศเพื่อนๆ บ้านรอบๆ แล้ว ถามว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านั้นจะไปเที่ยวที่ไหน ลองคิดตาม... จะไปเที่ยวประเทศที่มีโควิด-19 เยอะแยะไปหมด หรือจะมาเที่ยวประเทศไทยที่แทบจะไม่มีโควิด-19 เลย ดังนั้น มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า "ภาคการท่องเที่ยว" ที่วันนี้ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด จะเป็นภาคที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว และในส่วนนั้น คิดว่าจะกลับมาทำให้ทุกกลุ่มอาชีพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้งหนึ่ง
...
ในส่วนธุรกิจอื่นๆ ดร.กอบศักดิ์ มองว่า แม้จะได้รับผลกระทบ... แต่ว่าก็มีบางรายได้ที่พออยู่ได้บ้าง อาจไม่ทำกำไร ยอดขายอาจไม่ดีในปีนี้ แต่ก็พอจะเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ ดังนั้น รัฐบาลและกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ที่ยังพอมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้ จึงอยากให้คิดว่า เราเหลือเวลาอีกประมาณ 6 เดือนก่อนที่วิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จะต้องเตรียมการอย่างไรในการที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของตนเอง ตั้งแต่ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงร้านค้า เพื่อเตรียมการรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาใหม่
"ผมว่านี่เป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะว่าประเทศไทยไม่มีโควิด-19 เพื่อนบ้านมีหมดเลย เขาไม่สามารถปรับปรุงอะไรได้ เราสามารถใช้เวลานี้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับปรุงโฉม แล้วขณะเดียวกัน ก็ขับเคลื่อนไปข้างหน้า วางแผนสู่อนาคตในปี 2564 เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการที่จะเดินไปข้างหน้า..."
สุดท้าย การจะเดินไปข้างหน้านั้น ในส่วนภาคท่องเที่ยวที่ได้รับบทหนักมาตั้งแต่รายแรกๆ จนตอนนี้ คงจะขับเคลื่อนแค่เพียงภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการวางแผนรับมือจากรัฐบาล การเตรียมการด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน และภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อให้สอดรับและเดินหน้าไปพร้อมกันได้ในปี 2564 อย่างเข้มแข็ง และกลับมาเป็น "การท่องเที่ยวไทย" ที่เป็นหมุดหมายอันดับต้นๆ ของโลก.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun
ข่าวน่าสนใจ:
- อดีต รมว.คลัง ชี้ทางออกเศรษฐกิจไทย ถึงช้าแต่ต้องทำ ล้มแล้วต้องลุกได้
- "ยักษ์ธุรกิจช่วยตัวเล็ก" กลยุทธ์ฟื้นเศรษฐกิจ ทางรอดปี 2564
- เทรนด์ล้ำอนาคต ท่องเที่ยวผนึกการแพทย์ สู่ Medical & Wellness Hub ของโลก
- ถึงเวลาปฏิวัติ จะเป็น "แรงงาน" คุม "หุ่นยนต์" หรือถูกแทนที่แล้วตกงาน
- "กระตุ้นสวัสดิการสังคม ดูแลสินค้าเกษตร" ทางรอดเศรษฐกิจไทย