ถ้าถามว่า "ผู้ชายชาติไหน 'สำอาง' ที่สุดในโลก? แน่นอนคำตอบคงหนีไม่พ้น "หนุ่มแดนกิมจิ" เพราะมีการใช้จ่ายเงินไปกับ "สกินแคร์" (Skincare) สูงที่สุดในโลก กว่า 495 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.55 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21% อีกทั้งยอดขาย "เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย" ในเกาหลีใต้ ในช่วงปี 2011-2017 ยังมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึง 44%

จากผลสำรวจของ Global Data พบว่า ผู้ชายเกาหลีใต้ 3 ใน 4 จะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือที่เรียกว่า Men’s Grooming เพื่อดูแลตัวเอง เช่น ทำทรีตเมนต์บำรุงผม หรือใช้เครื่องสำอางบำรุงผิวอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z (เกิดหลังปี 2000) ที่กว่า 60% มักจะใส่ใจดูแลตัวเองเพื่อรักษาความอ่อนเยาว์และสร้างเสน่ห์ในแบบผู้ชาย

แน่นอนว่าเมื่อเกริ่นกันมาแบบนี้แล้ว ก็คงต้องไปทำความรู้จักกับ "ปรากฏการณ์หนุ่มเจ้าสำอาง" ที่เบื้องลึกมีมากกว่าแค่การเสริมความงามอย่างที่คิดกัน...

อิทธิพล K-Pop สู่ปรากฏการณ์ "หนุ่มเจ้าสำอาง"

...

ถ้าจะให้อธิบายปรากฏการณ์ "หนุ่มเจ้าสำอาง" ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลด้านวัฒนธรรม K-Pop ที่กำลังเฟื่องฟูไปทั่วโลก

"โรอัลด์ มาลิอังเคย์" (Roald Maliangkay) ผู้อำนวยการสถาบันเกาหลี มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งกลับไปเยี่ยมบ้านที่เกาหลีใต้ เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ "หนุ่มเจ้าสำอาง" ว่า เขาได้ไปเดินในย่านมยองดง ศูนย์กลางแหล่งช็อปปิ้งและความบันเทิงของกรุงโซล แล้วรู้สึกอึ้งมากที่เห็นเด็กหนุ่มสมัยนี้หลายคนแต่งตัวเลียนแบบไอดอล พวกเขาแต่งตัวอย่างพิถีพิถัน มีผมย้อมสีที่ดูแลอย่างดี และทำศัลยกรรมตาสองชั้น นอกจากนี้ สังเกตเห็นว่าบางคนมีการแต่งหน้าบางๆ อีกด้วย

ขณะที่ "เจมส์ เทิร์นบูล" (James Turnbull) นักเขียนและนักบรรยายที่เชี่ยวชาญในเรื่องสตรีนิยมและวัฒนธรรมป๊อปในเกาหลีใต้ ก็มองว่า กระแสความนิยมที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันในสังคมที่ผู้ชายต้องออกไปหางาน

"ตลาดแรงงานในเกาหลีใต้มีการแข่งขันอย่างดุเดือด คนวัย 20-30 ปี ต้องอัปเกรดตัวเองให้ดีพอ ด้วยการเพิ่มใบปริญญา เข้าอบรม เรียนภาษา และอื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมความงามก็มองเห็นความต้องการนี้ จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้กลุ่มลูกค้าชายดูดีขึ้น เพราะการมีรูปลักษณ์ที่ดีในใบสมัครงานถือเป็นจุดแข็งหนึ่ง"

หากบริษัทเครื่องสำอางสามารถขยายสินค้าให้กับหนุ่มๆ เกาหลีได้ ก็จะทำกำไรให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยบริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังของโลก Allied Market Research (AMR) คาดการณ์ว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมเสริมหล่อของบรรดาหนุ่มๆ อาจกอบโกยรายได้สูงถึง 1.66 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.19 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ในปี 2018 แค่ตลาดสกินแคร์ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 7% มูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,123 ล้านบาท

เป็น "ผู้ชาย" ...ต้องอกสามศอก?

หากจะให้อธิบายความนิยมชมชอบความลุ่มหลงในการดูแลตัวเองของ "ผู้ชายเกาหลี" ว่ามาจากอะไร ก็คงต้องหยิบยกผลการศึกษาของ "มาลิอังเคย์" (Maliangkay) ในปี 2010 ที่มีหัวข้อว่า "The effeminacy of male beauty in Korea" มาอ้างอิงเพื่อความเข้าใจ โดยตอนหนึ่งระบุว่า "หนึ่งในความเป็นไปได้เกิดจากผู้หญิงออกมาต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศและปฏิเสธค่านิยมที่ว่า ผู้ชายต้องแมนๆ อกสามศอก"

การศึกษาดังกล่าวอ้างว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีอุดมคติในการมองผู้ชายเปลี่ยนไปเริ่มมาจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไอเอ็มเอฟ หรือ "ต้มยำกุ้ง" เมื่อปี 1997 ที่ผู้หญิงจำนวนมากเป็นฝ่ายที่ต้องตกงาน โดยจากการสำรวจพบว่า จำนวนลูกจ้างเพศหญิงลดลงถึง 8.2% แต่เพศชายกลับลดลงไม่ถึง 5%

"ความเหลื่อมล้ำทางเพศ" ที่สะสมมานาน ก็ถูกจุดชนวนระเบิดขึ้นมานับตั้งแต่ยุคนั้น ทำให้ "สังคมผู้หญิง" เลือกใช้วิธีแสดงออกด้วยการตั้งคำถามผ่านวรรณกรรมหรือโลกภาพยนตร์ต่างๆ ว่า "ทำไมผู้หญิงถึงถูกกระทำฝ่ายเดียว?" ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงเปลี่ยนรสนิยมหันไปชอบผู้ชายที่มีภาพลักษณ์อ่อนโยน แตกต่างจากสมัยก่อนที่มักจะชอบผู้ชายแข็งแรง บึกบึน เป็นผู้นำ

...

แต่การเปลี่ยนแปลง "รสนิยม" ในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่กับผู้หญิงฝ่ายเดียว ผู้ชายเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดความนิยมนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อผู้ชายเห็นว่า ผู้หญิงมีรสนิยมชอบหนุ่มหน้าใสและดูแลตัวเองดี ก็เลยมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกันเพื่อให้เป็นที่นิยม

"ทุกวันนี้...จึงพบเห็นนักเรียนชายที่ดูบึกบึนหรือดิบเถื่อนน้อยลง"

"มาลิอังเคย์" (Maliangkay) แสดงทัศนะว่า เมื่อก่อนเราจะเห็นว่า คาแรกเตอร์พระเอกในหนังหรือละครเกาหลีมักจะดูแข็งแรง ก้าวร้าว บึกบึน เป็นผู้นำ แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ ตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ลักษณะนี้จะเป็นตัวละครที่ไม่มีการศึกษา รับบทหัวหน้าแก๊งมาเฟีย หรือมีอาชีพเป็นทหารกับตำรวจ และมักมี 'จุดอ่อน' คือ มีจิตใจบอบบาง ปากหนัก ไม่กล้าแม้จะอธิบายความรู้สึกตัวเอง

สำหรับตัว "มาลิอังเคย์" เอง เขาจะเลี่ยงใช้คำเรียกผู้ชายว่า "Effeminacy" หรือที่มีความหมายว่า "อ้อนแอ้น มีลักษณะคล้ายผู้หญิง" ในการอธิบายปรากฏการณ์ของผู้ชายที่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพราะความเป็นจริงแล้ว ผู้ชายแมนๆ และคมเข้มก็สามารถดูแลตัวเองอย่างดีด้วยการแต่งหน้าได้เช่นกัน แม้ในสังคมจะยังรู้สึกแปลกๆ กับผู้ชายแต่งหน้าอยู่บ้างก็ตาม

ด้าน "แคเธอรีน สโปวาร์ต" (Katherine Spowart) เจ้าของบล็อก SkinfullofSeoul กลับมองอีกมุมหนึ่งว่า ยังไงซะ...ผู้ชายเกาหลีก็ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันในสังคม เพราะแม้การเป็นผู้ชายเจ้าสำอางจะดูเหมือนได้รับการยอมรับในเกาหลีใต้ แต่วัฒนธรรมหลักก็ยังมีการตีกรอบบทบาททางเพศของผู้ชายอย่างชัดเจน และไม่มีการพูดถึงเพศอื่นนอกจากชายกับหญิง เพราะเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

แม้ถูกตีกรอบ...แต่กระแสนิยมก็ไปไกลถึง "ตะวันตก"

...

แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงในสังคมเกาหลีใต้ และถูกตีกรอบด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แต่กระแสความนิยมการดูแลตัวเองของผู้ชายกลับขยายเป็นวงกว้างไปถึง..."ฝั่งตะวันตก" ที่หากสังเกตตามเคาน์เตอร์แบรนด์เครื่องสำอางต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้าหรือแม้แต่หน้านิตยสาร ก็จะเห็นแบรนด์ดังระดับโลกเริ่มหันมาใช้ "พรีเซ็นเตอร์ผู้ชาย" ในโฆษณาเครื่องสำอางกันบ้างแล้ว

อย่างในปี 2018 ที่ "ชาแนล" (Chanel) เคาน์เตอร์แบรนด์ระดับโลก เปิดตัวเมกอัพและสกินแคร์สำหรับผู้ชาย "Boy de Chanel" เป็นครั้งแรก กลุ่มผลิตภัณฑ์ก็เช่น รองพื้น 8 เฉดสี, ดินสอเขียนคิ้ว, ลิปบาล์ม เพื่อ "สร้างความงามสำหรับผู้ชาย" ที่สำคัญแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสนี้เลือกเปิดตัวสินค้าที่แรกใน "เกาหลีใต้" ก่อนหลายเดือนถัดมาจะวางขายหน้าร้านค้าในอเมริกา

นอกจาก Chanel แล้ว ยังมีเคาน์เตอร์แบรนด์ดังอื่นๆ อย่าง Tom Ford, Estee Lauder, L ‘Oreal ที่อยากบุกตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย

"นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับแบรนด์เพื่อความงามที่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าชาย และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่เครื่องสำอางจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในอเมริกา ผิดกับเกาหลีใต้ที่ดูหัวสมัยใหม่กว่าเมื่อพูดถึงเรื่องความงาม ซึ่งมีการออกแบบสไตล์การแต่งหน้าสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ ตามแบบไอดอล K-Pop" เดวิด อี้ (David Yi) ผู้ก่อตั้งบล็อกความงาม Very Good Light กล่าว

...

ในเกาหลีใต้ การออกไลน์ผลิตภัณฑ์อย่าง Boy de Chanel ไม่ถือเป็นการปฏิวัติวงการเครื่องสำอาง เพราะมีแค่รองพื้นกับดินสอเขียนคิ้ว ซึ่ง Chanel เองก็พยายามสื่อสารว่า ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นสิ่งที่ผู้ชายใช้ดูแลตัวเองมากกว่าจะเป็นการเสริมสวย เพื่อไม่ให้ผู้ชายกลัวที่จะเดินเข้ามาซื้อ เห็นได้จากแคมเปญโปรโมตสินค้าในอินสตาแกรม (Instagram) ที่โพสต์รูปนายแบบคมเข้มใช้รองพื้นแค่บางเบาจนแทบไม่เห็นว่าแต่งหน้า เพื่อโปรโมตว่าตัวเองเป็นเครื่องสำอางที่แต่งหน้าแล้ว "ดูเป็นธรรมชาติ" ไม่โป๊ะแน่นอน...

"ซาราห์ ลี" (Sarah Lee) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Glow Recipe ผู้ขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสัญชาติอเมริกัน และเป็นตัวแทนร้านค้าปลีกเครื่องสำอางเกาหลี เชื่อว่า ผู้ชายในอเมริกาต้องการสร้างความเป็นชายที่ต่างออกไป และการที่แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำอย่าง Chanel เปิดไลน์ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายก็น่าตื่นเต้นและมีความหมายมาก เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มเปิดบทสนทนาเรื่องนี้ในวงผู้ชาย และจะช่วยให้เรื่องที่ผู้ชายแต่งหน้าเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น

"ไรอัน ซิม" (Ryan Sim) เจ้าของบล็อกความงามแบบเกาหลี ชื่อ Ryanraroar แสดงความเห็นว่า "ผมเชื่อว่าอีกหน่อยโลกจะต้องเปลี่ยนทัศนคติในการมองผู้ชายแต่งหน้า จากที่เคยล้อเลียนว่าเอาสีมาเปื้อนหน้า กลายเป็นหน้าที่แสดงถึงความมั่นใจ"

นับจากนี้ "เครื่องสำอาง" จะกลายเป็นสินค้าที่ไร้เพศ จะไม่มีการแปะป้าย for Men เพื่อแบ่งแยกเพศชาย-หญิง เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็สามารถดูแลตัวเองและสร้างความมั่นใจด้วยการหยิบเครื่องสำอางมาใช้ได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงหรือแปลกแยก.

ข่าวน่าสนใจ: