‘มะพร้าวไทย’ เหนื่อยอีก หวั่นราคาตกซ้ำ หลัง PETA กล่าวหาบังคับใช้ ‘แรงงานลิง’ แบรนด์ไทย 2 รายใหญ่ ถูกดึงเข้าลิสต์เกี่ยวโยงวงจรทารุณกรรมสัตว์ ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ระงับการขาย!!

อยู่ดีๆ ก็ตกเป็น ‘จำเลย’ ที่ทั่วโลกจับตา

เมื่อ ‘องค์กรพิทักษ์สัตว์’ หรือ People pf the Ethical Treatment of Animal ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า PETA (พีต้า) ออกมาเปิดเผยรายงานช็อกโลก ที่เป็น ‘คำกล่าวหา’ ร้ายแรง ตราหน้ามีการ ‘ทารุณกรรมสัตว์’ ด้วยการบังคับใช้ ‘แรงงานลิง’ เหมือนเป็นดั่ง ‘เครื่องจักรเก็บมะพร้าว’

สะเทือนภาพลักษณ์ประเทศไทย

กระแทกกระเทือนอุตสาหกรรมส่งออกมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

กระทบ 2 รายใหญ่เจ้าตลาดแบรนด์ ‘กะทิ’

‘คำกล่าวหา’ ของ PETA อ้างว่ามีการตรวจสอบสวนมะพร้าว 8 แห่ง และโรงเรียนฝึกลิงอีกจำนวนหนึ่งอย่างลับๆ และพบการ ‘ข่มเหงลิง’ ในสถานที่เหล่านั้น ด้วยการพราก ‘ลิงกังเหนือ’ ออกจากผืนป่า แล้วเอามาฝึกเป็น ‘แรงงาน’ แล้ว ‘ล่ามโซ่’ จำกัดพื้นที่ และบังคับให้ปีนต้นไม้เพื่อเก็บมะพร้าวมาทำ ‘กะทิ’ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

...

แม้ชาวสวนที่เกี่ยวข้องจะยืนยันว่า "ภาพที่เห็นไม่ใช่อย่างที่คิด!" แต่เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่าง ‘คน’ กับ ‘ลิง’ ในการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ได้มีการบังคับขืนใจใช้แรงงาน อีกทั้งสวนมะพร้าวในไทยก็ไม่ได้มีการใช้ ‘แรงงานลิง’ ทุกแห่ง

คือ สวนมะพร้าวที่มีการเก็บผลผลิตเพื่อใช้ ‘น้ำ’ เป็นหลัก มักจะเป็นลำต้นแคระ ก็ใช้วิธีการเก็บด้วยไม้ไผ่ยาวหรือเครื่องมือตัดแต่งกิ่ง แต่สวนมะพร้าวที่มีการเก็บผลผลิตเพื่อมาทำ ‘กะทิ’ ลำต้นจะสูงมากกว่า 15 เมตร จึงจำเป็นต้องใช้ ‘ลิง’ ในการช่วยเก็บมะพร้าวแทน

แต่ PETA ก็ไม่ฟัง เรียกร้องให้ ‘รัฐบาลไทย’ แบนการกระทำที่เหมือนกับ ‘จองจำลิง’ นี้เสีย!

กลายเป็นชนวนเหตุที่เหมือนดั่งคลื่นซัดไปทั่วโลก ทุกสายตาจับจ้องมาที่ประเทศไทย แต่ที่หนักหนาและออกมาตอบรับไวที่สุด คือ ‘สหราชอาณาจักร’

4 ผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่เมืองผู้ดี "ASDA เชนค้าปลีกรายใหญ่เครือ Walmart, Sainsbury, Boots & Ocado, Tesco ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุด" ตบเท้าขานรับรายงาน PETA ‘หยุดขาย’ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว ‘2 แบรนด์ไทย’ กวาด ‘กะทิ’ ออกจากชั้นวางทุกแห่งทันที ด้วยข้อหาที่ว่าอาจมีความเกี่ยวพันกับวงจรการผลิตที่มีการบังคับใช้ ‘แรงงานลิง’

ประกาศเสียงแข็ง "จะไม่ยอมให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ในห่วงโซ่การผลิตทุกรูปแบบ!"

และการออกมา ‘บอยคอตกะทิไทย’ ในครั้งนี้ของ 4 ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจาก ‘คู่หมั้น’ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่มีนามว่า ‘แคร์รี ไซมอนด์ส’ ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ

ไม่เพียงแค่การยินดี...

แต่เธอยังออกมาเรียกร้องให้ร้านค้าต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร ออกมาเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน ด้วยการ ‘บอยคอต’ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ทุกประเภทที่มีการใช้ ‘แรงงานลิง’ ไม่ใช่แค่ 2 แบรนด์ดังที่ PETA ว่ามาเท่านั้น

แน่นอนว่า ‘ประเทศไทย’ ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มะพร้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก มีผลผลิตประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี เมื่อเจอ ‘คำกล่าวหา’ และ ‘บอยคอต’ แบบไม่สนคำอธิบาย ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

จากผลผลิต 1.3 ล้านตันต่อปี ทำให้ในปี 2562 ประเทศไทยสามารถส่งออก ‘กะทิสำเร็จรูป’ ออกไปทั่วโลก สร้างมูลค่าได้มากถึง 12,764 ล้านบาท มีตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก มูลค่ากว่า 4,417 ล้านบาท รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 1,088 ล้านบาท และสหราชอาณาจักรที่กำลัง ‘บอยคอตกะทิไทย’ อยู่ตอนนี้ ก็มีสัดส่วนการส่งออกในปี 2562 เป็นอันดับ 3 มูลค่า 1,019 ล้านบาท

...

สำหรับปี 2563 นี้ ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) ตลาดสหราชอาณาจักรขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 มูลค่ากว่า 406 ล้านบาท แต่ก็ยังถือเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนน้อยเพียง 8% เท่านั้น ตลาดใหญ่ของการส่งออก ‘กะทิไทย’ ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มีสัดส่วนมากถึง 34.73%

แม้จะสัดส่วนน้อย แต่ก็กระทบยอดขายอย่างมาก แค่มีกระแสข่าวเกิดขึ้นมา และ ‘กะทิ’ ถูกกวาดเก็บเข้าโกดัง ก็ทำให้ 2 แบรนด์ไทย ที่ PETA ออกมาระบุชื่อกล่าวหา มียอดขายหายไปกว่า 30% แล้ว เพราะในตลาดอังกฤษ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 80% ทีเดียว

จนต้องออกมายืนยันอย่างพร้อมเพรียงกันว่า "ไม่ได้ซื้อมะพร้าวมาจากสวนที่ใช้ ‘แรงงานลิง’ ทุกการเก็บเกี่ยวมาจากแรงงานคนทั้งหมด"

และที่น่าห่วง...ก็หนีไม่พ้น ‘เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว’ ที่ช่วงนี้ราคามะพร้าวก็ตกลงมาเหลือ 15-16 บาทต่อผลแล้ว ก็น่าจับตาต่อไปอีกว่า ‘คำกล่าวหา’ ของ PETA บวกกับสหราชอาณาจักรแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าว จะมีผลต่อราคามะพร้าวหรือไม่?

...

เพราะมีข่าวแว่วๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่า ‘สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และออสเตรเลีย’ อาจร่วมแคมเปญ ‘บอยคอตกะทิ’ ไทยด้วย ซึ่ง 2 แบรนด์ไทยที่ตกเป็นลิสต์บอยคอต ก็ยอมรับว่า ทางสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียได้มีการติดต่อสอบถามถึงการเกี่ยวพันกับวงจร ‘แรงงานลิง’ เรียบร้อยแล้ว แต่ยืนยันว่า "ไม่ได้มีการใช้แรงงานลิงแต่อย่างใด"

หากว่า สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียจะตบเท้าเข้าร่วมแคมเปญ ‘บอยคอตกะทิไทย’ จริง ก็ถือเป็นแรงกระเพื่อมที่น่ากลัวและสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยมากๆ อย่างที่บอกว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนอันดับ 1 และออสเตรเลียอันดับ 2 หากรวมกับสหราชอาณาจักรก็จะทำให้สัดส่วนตลาดส่งออกหายไปกว่า 50.22% ครึ่งต่อครึ่งทีเดียว!

แต่แนวคิดที่ ‘พาณิชย์’ จะทำแพ็กเกจที่มี CODE แปะ ที่ผู้บริโภคและคู่ค้าสามารถสแกนแล้วย้อนกลับไปดูแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์มะพร้าวได้ เพื่อยืนยันว่าเป็น ‘ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ปราศจากลิง’ ก็ถือว่าใช้ได้และน่าสนใจ

...

และทางที่ดี ณ เวลานี้ ถ้าไม่อยากให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ ‘รัฐบาลไทย’ ก็คงต้องรีบชี้แจงกับประเทศคู่ค้า สร้างความเชื่อมั่น ไม่งั้นอาจตั้งรับไม่ไหว แล้วจะยิ่งไปกันใหญ่ ...อย่าลืมว่ามีประเทศอื่นรอเสียบตลาดอยู่.

ข่าวอื่นๆ :