เก็บเงินเพื่อพ่อวันละ 50 บาท ทั้งที่มีใช้วันละ 100 ช่วยพ่อปลดหนี้ ธ.ก.ส. พร้อมแนะแนวคิดใหม่ หารายวัน เก็บเงินเดือน ชนะใจตนเองในเรื่องการออม

ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ชนะคนอื่น แต่เป็นการเอา “ชนะใจตัวเอง” ต่างหาก เพราะถือเป็นสิ่งยืนยันความแข็งแกร่งที่สุดของตัวเรา ที่นอกจากเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว ยังนำความสำเร็จมาสู่ชีวิต เฉกเช่นเรื่องราวชีวิตของ ว่าที่ร้อยตรี ทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูเอ็ม วัย 29 ปี

“นึกถึงทีไรรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่เอาชนะใจตัวเองได้ การแข่งขันทุกอย่างมันยากที่จะชนะใจตัวเอง แต่ผมทำได้” ครูเอ็มเปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ย้อนเล่าความรู้สึกที่ “เอาชนะใจตัวเอง” ทำเพื่อพ่อได้สำเร็จ แม้กาลเวลาผ่านมา 4 ปี แต่ความรู้สึกในครั้งนั้นไม่เคยลืมเลือนจากความทรงจำ

แม่และพ่อ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ
แม่และพ่อ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ "ครูเอ็ม" ทั้งสองเดินหยอดน้ำยางวันละหลายกิโล ส่งลูกจนเรียนจบ โดยไม่ให้ลูกยืมเงินเรียนเเม้เเต่บาทเดียว

...

เก็บเงินเพื่อพ่อวันละ 50 บาท ทั้งที่มีใช้วันละ 100 

การชนะใจตัวเองครั้งนั้นของครูเอ็ม นั่นคือการมุ่งมั่นเก็บเงินเพื่อพ่อวันละ 50 บาท ตลอด 5 ปีที่เรียนครุศาสตร์ เอกนวัตกรรมและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทั้งๆ ที่มีเงินใช้เพียงวันละ 100 เท่านั้น สิ่งที่เป็นแรงผลักดันจนสามารถชนะใจตัวเองได้ ครูเอ็มบอกว่านั่นเพราะต้นทุนชีวิตคนที่ต่างกัน และสิ่งสำคัญคือ การสำนึกรู้คุณ และตั้งใจตอบแทนบุญคุณ พ่อ แม่ ที่ยอมลำบากทำงานหนักหาเงินเพื่อให้ได้เรียนจนจบ

อุดมการณ์เเละสิ่งที่ครูเอ็มทุ่มเทให้นักเรียน คือการสอนให้นำความรู้ไปเป็นอาชีพได้ ไม่ใช่สอนเเค่ให้รู้
อุดมการณ์เเละสิ่งที่ครูเอ็มทุ่มเทให้นักเรียน คือการสอนให้นำความรู้ไปเป็นอาชีพได้ ไม่ใช่สอนเเค่ให้รู้

พื้นเพชีวิต ครูเอ็มเกิดในครอบครัวยากจน พ่ออายุใกล้ 70 แม่อายุใกล้ 60 ทั้งสองมีอาชีพทำไร่ ทำนา และรับจ้างกรีดยาง เพื่อหาเงินให้ครูเอ็มใช้ระหว่างเรียนเดือนละ 4,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าเช่าหอพักเก่าๆ เดือนละ 800-1,000 พัน เพราะบ้านอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 90 กิโล ส่วนเงินที่เหลืออีก 3,000 บาท พ่อแม่ให้เก็บไว้ใช้จ่าย ซื้อข้าวกิน

ด้วยอายุพ่อแม่ที่สูง แต่ต้องทำงานหนัก และพ่อต้องขายที่เพื่อให้ครูเอ็มได้เรียนหนังสือ ครูเอ็มรู้สึกสงสารพ่อแม่จับหัวใจ จากนั้นคิดมุ่งมั่นตั้งใจเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อทุกๆ ปีจนกว่าจะเรียนจบ หวังนำเงินเก็บทั้งหมดไปให้พ่อเพื่อตอบแทนบุญคุณ โดยนำเงิน 3,000 บาท ที่เหลือมาบริหารวินัยในการออม กำหนดให้ใช้วันละ 100 บาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เก็บเพื่อพ่อ 50 บาท และเก็บไว้ใช้ 50 บาท

“ผมจะมีบอร์ดแปะไว้ข้างฝา อาทิตย์หนึ่งมี 7 วัน นำแบงก์ 100 มาเสียบจนครบ จะหยิบใช้ตามแต่ละวัน วันจันทร์ วันอังคาร หยิบไปเรื่อยๆ แบ่งเก็บให้พ่อ 50 บาท เหลือใช้ 50 บาทถามว่ามีเงินกินวันละแค่ 50 บาท อิ่มไหม อิ่มครับ เด็กมหาวิทยาลัย กินข้าวเที่ยงกับข้าวเย็นเท่านั้น ข้าวเช้าไม่กิน” ครูเอ็ม เผยวินัยเก็บเงินเพื่อพ่อ

...

ใช้เกิน 50 บาท ต้องหาเพิ่ม ไม่ยุ่งเงินเก็บเพื่อพ่อ

หลังจากว่างจากงานกิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากการเป็นองค์การนักศึกษา หากต้องใช้เงินเกิน 50 บาท ครูเอ็มไม่คิดยุ่งกับเงินที่เก็บเพื่อพ่อเลยสักครั้ง แต่จะหางานพิเศษทำทุกอย่างให้ได้เงินเพิ่ม ครั้งหนึ่งเพื่อนชวนไปกินเนื้อย่างในเย็นวันเสาร์ ครูเอ็มก็ต้องไปรับจ้างล้างถ้วยในตอนกลางคืนแลกกับเงิน 300 บาทก่อนถึงวันนัด การไปกินเนื้อย่างวันนั้นทำให้ครูเอ็มเกิดแรงบันดาลใจเพื่อพ่อแม่ทวีคูณ

ตอนที่พ่อแม่กินได้อร่อยพาไปกินให้เต็มที่ ดีกว่าตอนกินไม่ได้เเล้วหาของดีๆ ให้...นี่คือเหตุผลที่ครูเอ็มมักพาพ่อแม่ไปกินของอร่อยนอกบ้าน
ตอนที่พ่อแม่กินได้อร่อยพาไปกินให้เต็มที่ ดีกว่าตอนกินไม่ได้เเล้วหาของดีๆ ให้...นี่คือเหตุผลที่ครูเอ็มมักพาพ่อแม่ไปกินของอร่อยนอกบ้าน

...

“ผมไม่เคยอาย พูดให้เพื่อนฟังเสมอ ผมไม่ใช่คนรวย ผมฐานะไม่ดี เพื่อนๆ ก็เข้าใจ ไม่ได้รังเกียจ ไปกินเนื้อย่าง ผมสนุกสนานกับเพื่อนๆ แต่พ่อแม่ลำบาก อายุเยอะจะ 60 70 ที่อยู่บ้าน เขาจะกินอะไร ผมคิดแบบนี้เสมอ ทำให้รู้สึกไปแล้วจะไม่สนุก ทำให้เป็นแรงบันดาลใจว่าไม่ต้องไปกิน ไปเที่ยวกลับบ้านไปกินข้าวจ้ำแจ่ว ลวกผัก กับพ่อแม่มีความสุขที่สุดแล้ว”

น้ำตาแห่งสุข หอบถุงเงินแสนกว่า เซอร์ไพรส์พ่อกลางสวนผัก

ตลอด 5 ปีในรั้วการศึกษาครุศาสตร์ ครูเอ็มไม่เคยบกพร่องในหน้าที่ตนเอง แม้ต้องทั้งเรียน ทำกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ในฐานะองค์การนักศึกษา และหารายได้จุนเจือตัวเอง แม้จะเหนื่อยแต่ครูเอ็มไม่เคยท้อ เพราะรู้เป้าหมายว่าทำเพื่อพ่อ

ความตั้งใจเดิม เรียนจบแล้วครูเอ็มจะนำเงินที่เก็บวันละ 50 บาท เป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 91,250 บาทไปให้พ่อ แต่เมื่อเรียนจบได้ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งครูอัตราจ้างรายเดือน แก้ปัญหาสถานศึกษาขาดแคลนครูขั้นวิกฤติ สำนักงานเขตพื้นที่อุดรธานีเขต 1 โรงเรียนบ่อน้อยประชาสรรค์ ตำบลเชียงยืน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ครูเอ็มเปลี่ยนใจ ขอตั้งเป้าเก็บเงินวันละ 50 บาทเพื่อพ่อต่ออีก 1 ปี ด้วยเหตุผลเงินที่จะยกให้พ่อ มีเงินที่หาได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง โดยใช้วินัยเดิมในการเก็บเงิน

...

กระทั่งเก็บเงินวันละ 50 บาทเพื่อพ่อครบ 6 ปี ในวันที่ 29 พ.ย. 59 ปี และตั้งใจจะนำไปให้ในวันพ่อแห่งชาติปี 59 แต่ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ครูเอ็มต้องกลับไปกราบพ่อกลางเดือน ธ.ค. และหิ้วถุงเงินแสนกว่าบาทไปเซอร์ไพรส์พ่อขณะขุดสวนผัก ครูเอ็มย้อนเล่าวินาทีแห่งความประทับใจว่า

“ผมไปเบิกเงินที่ธนาคาร ขอเป็นใบ 50 เพื่อให้พ่อรู้ว่าผมเก็บวันละ 50 มา 6 ปี ผมเดินไปหาพ่อที่สวนผัก ก้มลงกราบ บอกเงินที่เก็บมาขอมอบให้พ่อทั้งหมด จากที่ไม่เคยเห็นน้ำตาพ่อ วันนั้นเห็นน้ำตาพ่อไหล พ่อบอกไม่ต้องเอามาให้พ่อ เอาเงินไปตั้งหลักชีวิตตัวเอง แต่ผมก็ยืนยันว่าต้องการให้พ่อ พ่อเลยเอาไปใช้หนี้ ธ.ก.ส.”

หารายวัน เก็บเงินเดือน เทคนิคชนะใจตนเอง เรื่องการออม

แม้ชนะใจตัวเอง สามารถเก็บเงินวันละ 50 ได้ 6 ปี นำเงินหลักกว่าเเสนให้พ่อได้สำเร็จ แต่ครูเอ็มก็ยังมีวินัยและมุ่งมั่นเก็บเงินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่า สามารถเอาชนะใจตัวเองได้ 6 ปีแล้ว ถ้าไม่เก็บเงินต่ออีก ถือว่าแพ้ตัวเอง

นอกจากชนะใจตัวเอง ครูเอ็มยังเกิดแนวคิดใหม่ในการเก็บเงิน คือ เงินเดือนคือเงินเก็บ เงินเดือนคือเงินที่ยกให้พ่อแม่ เมื่อคิดว่าตัวเองไม่มีเงินเดือน ครูเอ็มก็ต้องทำงานหลายอย่างมากกว่าคนปกติ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง อะไรที่ได้เงินครูเอ็มทำทุกอย่าง ทั้งงานแกะสลัก ร้องเพลง ทำหุ่นยนต์

เทคนิคเอาชนะใจตัวเองในการเก็บเงิน ครูเอ็มแนะนำ ต้องมีเป้าหมายในการเก็บเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ โดยให้แบ่งเงินเป็นก้อน ก้อนนี้ทำเพื่อพ่อแม่ ก้อนนี้เก็บไว้แต่งงาน เก็บไปเรื่อย ต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ จัดระเบียบการใช้เงิน คนเรามีต้นทุนชีวิตต่างกัน อย่าหมดเเรง เหนื่อยก็พักเเล้วสู้ใหม่

“พ่อแม่ไม่ได้สอนว่าต้องเก็บเงินแบบไหน แต่ผมเห็นจากพ่อแม่ เขาทุกข์ยาก ทำให้คิดได้ว่าจะทำยังไงให้มีต้นทุนเมื่อวันหนึ่งหมดแรงไป แต่ละคนมีสิ่งยึดเหนี่ยวใจไม่เหมือนกัน บางคนเก็บเงินเพื่อซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่สำหรับผมคือพ่อกับแม่ เป้าหมายสูงสุดที่ตั้งใจทำให้พ่อแม่ คือสอบบรรจุครูให้ติด” 

ข่าวน่าสนใจ