กลับมาอีกครั้งกับวาระร้อน CPTPP ... ย้อนดูที่มาที่ไป หากไทยเข้าร่วมได้อะไร? เสียอะไร? จับตาจีนและสหรัฐฯ กับการเปลี่ยนดุลอำนาจเศรษฐกิจใหม่
CPTPP ถูกดันมาแล้วหลายหน และก็ต้องพับแผนไปแบบเงียบๆ แต่รอบนี้ดูท่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจัง ไม่เหมือนกับรอบที่ผ่านๆ มา ที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งไม้ต่อ ประสานวิปรัฐบาลเสนอสภาฯ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาถกข้อดีและข้อเสีย ปลุกกระแสทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ออกมาซัดข้อมูลกันต่อเนื่อง
แต่ดูท่าแล้ว การมาของ CPTPP รอบนี้มีสัญญาณบางอย่างที่อาจบอกได้ว่า โอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมเป็น 1 ในประเทศสมาชิก CPTPP นั้นสูงพอสมควร
และไม่ว่าเวลานั้น ไทยจะ "เข้าร่วม" หรือ "ไม่เข้าร่วม" ก็ตาม ในเวลานี้ เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับ CPTPP กันสักนิดว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร?
สำคัญที่สุด คือ สมมติถ้าไทย "เข้าร่วม" จะได้หรือเสียอะไร?
ก่อนอื่นเลย CPTPP ย่อมาจาก Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ "ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" นั่นเอง โดยมีการลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศชิลี และมีการบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP รวม 426 ล้านล้านบาท
...
ซึ่ง ณ เวลานี้ นับว่า CPTPP เป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยก็ว่าได้ แต่เดิมทีมีการคาดหวังว่า CPTPP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว
แล้วเพราะอะไรทำให้ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง?
คำตอบอยู่ตรงนี้!!
เดิมทีแล้ว CPTPP เป็นแนวคิดของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ "บารัค โอบามา" แต่ครั้งนั้นรู้จักกันในชื่อว่า TPP ย่อมาจาก Trans-Pacific Partnership หรือ "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่อยู่ใน "ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย"
แต่แล้วฝันยังไม่ทันได้เป็นจริง!!
เมื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ก้าวขึ้นมาเป็น "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ" คนใหม่ ก็ทำเรื่องตรงกันข้าม ด้วยการ "ถอน" สหรัฐอเมริกาออกจาก TPP ทันทีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 พร้อมลั่นวาจาดังฉะฉานว่า "ข้อตกลง TPP เป็นอันตรายต่อสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง"
ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า TPP จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของสหรัฐอเมริกาและดันเศรษฐกิจให้เติบโต โดยปี 2568 จะมีมูลค่าการส่งออกกว่า 10 ล้านล้านบาท
แต่ความหวังของ "โอบามา" ต้องดับวูบไป พับ TPP เก็บใส่ลิ้นชัก
ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ถูกดึงมาร่วมหัวจมท้าย TPP ด้วยกันในตอนแรก ใครที่คิดว่าสหรัฐอเมริกาถอน แล้วคนอื่นจะถอย ขอบอกว่าไม่!!
นอกจากไม่ถอดใจแล้ว เหล่าประเทศสมาชิกเดิมยังฟื้นคืนข้อตกลงการค้าเสรีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แล้วจัดการลบบทบัญญัติออกถึง 22 ข้อ ที่ล้วนแต่เป็นบทบัญญัติที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน ซึ่งประเทศอื่นๆ มองว่า "มันไม่จำเป็นและไม่ได้ประโยชน์อะไร"
จนกลายมาเป็น CPTPP ในวันนี้นั่นเอง
และที่บอกไว้ว่า ความคาดหวังเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องจบลง นั่นก็เพราะว่า เมื่อ "สหรัฐอเมริกา" ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ถอนตัวออกจาก TPP ก็ทำให้การรวมตัวเป็น CPTPP มีขนาดเศรษฐกิจเล็กลง จากเดิมที่อยู่ราวๆ 38-40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก มูลค่าราว 3,396 ล้านล้านบาท ก็เหลือเพียง 13-14% เท่านั้น
สำหรับสิทธิประโยชน์หลักๆ ที่ CPTPP นำเสนอต่อประเทศสมาชิก และประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมในอนาคต ก็อย่างเช่น ในระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันจะมีการกำหนดกำแพงภาษีต่ำ หรือบางสินค้าและบริการอาจถึงขั้นขจัดกำแพงภาษีเลย อีกทั้งยังเปิดโอกาสทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ ที่อาจช่วยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกพัฒนาคุณภาพและปรับปรุงสินค้าในการเข้าตีตลาดในประเทศอื่นๆ ได้
โดยครอบคลุมสินค้าและบริการจำนวนมาก ทั้งบริการด้านการเงิน การสื่อสารทางไกลโดยใช้เทคโนโลยี และมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร
ส่วนคำถามที่คาใจใครหลายๆ คนว่า "ถ้าไทยเข้าร่วมจะได้อะไรกับเขาบ้าง?"
ก็ขอไล่ตอบเป็นข้อๆ ตรงนี้ คือ
1. บอกไปแล้วว่า CPTPP เปิดโอกาสทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ ดังนั้น ไทยเองก็เช่นกัน มีโอกาสที่จะเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะกับบางประเทศที่ไทยไม่ได้มีการทำข้อตกลงสิทธิประโยชน์ทางภาษีร่วมกันมาก่อนเลย เช่น แคนาดาและเม็กซิโก
2. ไทยอาจกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ ซึ่งนับว่าสำคัญมากๆ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า โควิด-19 อาจทำให้เกิด New Supply Chain ที่อาจย่นระยะใกล้ๆ เพื่อง่ายต่อการผลิต ดังนั้น ประเทศในกลุ่มสมาชิก CPTPP ที่อยู่ภูมิภาคเดียวกัน หรือประเทศที่มีการทำการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก ก็อาจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น แต่หากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ก็อาจเสียโอกาสตรงนี้ไปให้กับประเทศเพื่อนใกล้เรือนเคียงอย่าง "เวียดนาม" ได้
...
และ 3. เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาว
แต่เมื่อมีได้ก็ย่อมมี "เสีย" เช่นกัน!!
ข้อแรกคงหนีไม่พ้นความกังวลที่หลายๆ คนกำลังคิดไม่ตก และกลายมาเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง คือ ผลกระทบที่มีต่อ "อุตสาหกรรมการเกษตร" เพราะ CPTPP จะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันในไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะ "ปุ๋ย" ที่บางประเทศถือเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักเลยทีเดียว และในส่วนนี้ยังมีบทบัญญัติที่เรียกว่า UPOV หรือ "ข้อบัญญัติที่สมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่" ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ อีกแล้ว คือ สามารถนำ "พันธุ์พืชไทย" ไปวิจัยและพัฒนา แล้วสามารถจดสิทธิบัตรได้อีกด้วย
แน่นอนว่า กระทบกับเกษตรกรแบบเต็มๆ!!
กระทบอย่างไร?
หากเป็นไปตามบทบัญญัติที่ว่านี้ เกษตรกรไทยจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ เพราะหากมีลักษณะที่ไปเหมือนกับที่มีการจดสิทธิบัตรไว้ ถือว่าใช้ไม่ได้!! ดังนั้น เกษตรกรต้องซื้ออย่างเดียว กลายเป็นเพิ่มต้นทุนทางการเกษตรให้สูงขึ้นอีก
ต้นทุนเพิ่ม! สินค้าก็ต้องราคาเพิ่ม!
...
และอีกข้อหนึ่ง คือ ผลกระทบต่อ "ธุรกิจบริการ" ที่มีการระบุว่า ประเทศสมาชิก CPTPP สามารถกำหนดหมวดธุรกิจการบริการได้ว่าไม่อยากเปิดเสรีอันไหน ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็นปัญหา หมายความว่า หมวดธุรกิจการบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้จะต้องเปิดให้นักลงทุนต่างชาติทั้งหมด และเมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากๆ ก็อาจทำให้ไทยเสียตลาดท้องถิ่นของตัวเองได้
ส่วนข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวล คือ การเข้าร่วม CPTPP ให้สิทธิประโยชน์กับแค่บางกลุ่มเท่านั้น!!
โดยจากการศึกษาของ Asian-Pacific Resource & Research Centre for Women (ARROW) แสดงให้เห็นว่า CPTPP จะได้ประโยชน์แค่เพียง "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" เท่านั้น
ยกตัวอย่างกรณีของ "นาฟต้า" หรือ ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement: NAFTA) ที่ทำให้ประเทศที่ยังไม่พัฒนาได้รับผลกระทบ เช่น เม็กซิโก ที่พบว่า ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECED) ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศอยู่ในสถานะ "ยากจน"
...
มาที่อีกด้านหนึ่งของ CPTPP กลายเป็นสนามประลองเชิงของ 2 ขั้วมหาอำนาจโลกไปแล้ว
หลังสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก TPP ทางจีนเองก็กลับมามีท่าทีสนอกสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อีกครั้ง นับเป็นนัยสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยน "ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ" ในอนาคต
และเมื่อจีนมีท่าทีสนใจแบบนี้ ทางสหรัฐอเมริกาเองก็มีความกังวลว่า "จีนอาจฉวยโอกาสใช้ CPTPP ในการเลี่ยงกำแพงภาษีสงครามการค้า" ซึ่งในความเป็นจริง หากมาดูดีๆ แล้ว ไม่ว่าจีนจะร่วมหรือไม่ร่วม CPTPP ก็สามารถส่งวัตถุดิบให้กับประเทศสมาชิก CPTPP เช่น เวียดนาม ได้เหมือนเดิม และนั่นทำให้จีนสามารถส่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี
ขณะที่ "ทรัมป์" เอง ก็มีการเปรยสัญญาณเป็นพักๆ ว่า อาจกลับมาเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง หากว่าเขาได้รับ "ดีลที่ดีกว่าสมัยโอบามา"
มาถึงตรงนี้ ข้อสรุปสั้นๆ ของ CPTPP แม้ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เติบโตขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกด้วยการเสียเปรียบในบางธุรกิจที่อาจกระทบต่อประชาชนในประเทศ
จึงเป็นที่น่าจับตาว่า "ไทยจะเลือกเข้าร่วมหรือไม่?" และสุดท้าย CPTPP จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่กลายเป็นสนามประลองยุทธแห่งใหม่ของ 2 ขั้วมหาอำนาจ "จีน-สหรัฐอเมริกา" หรือไม่?.
ข่าวอื่นๆ :
- โควิด-19 ดัน "ฟู้ด เดลิเวอรี่" โต "ขยะพลาสติก" ทะลัก ก่อมลพิษไม่รู้ตัว
- ถอดรหัสม็อบสหรัฐฯ เหยียดผิวฝังราก 400 ปี ทรัมป์ตัวปัญหา
- The World of the Married ผู้หญิงเกาหลีใต้ ตราบาป "การหย่าร้าง"
- รื้อ! สมการทุนนิยม เปลี่ยน Supply Chain สู่ชาตินิยม โลกแตกแยก 5 ปีฟื้น
- "การบินไทย" แบกหนี้ปีกหัก เส้นทาง "แผนฟื้นฟู" ในมรสุม "โควิด-19"