เมื่อมาตรการ ‘Lockdown’ ปิดเมืองสกัดกั้นการลุกลามของ ‘โควิด-19’ (COVID-19) เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วโลกแบบกลับด้าน แม้ผ่อนคลาย ยกเลิก แต่จะกลายเป็น "ความปกติใหม่" (New Normal) ที่อยู่ไปอีกนานและอาจถาวร

ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา มนุษย์โลกต้องใช้ชีวิตภายใต้มาตรการอันแสนเข้มงวดที่แตกต่างกันไป บ้างมีข้อจำกัดเป็นช่วงเวลา ออกแคมเปญให้ทุกคน "อยู่บ้าน" หรือ Stay at Home บ้างเข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และบ้างก็เข้มข้นชนิดที่ว่า "ปิดเมือง" หรือที่เรียกกันว่า มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown)

มีการคาดการณ์ตัวเลขคร่าวๆ ของมนุษย์โลกที่ติดอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ว่า อาจมากกว่า 1 ใน 3 เลยทีเดียว ซึ่งประเทศแรกที่ใช้มาตรการอันแสนเข้มข้นนี้ คือ ประเทศจีน ที่ ณ เวลานั้น มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันสะสมราวหมื่นคน ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะค่อยๆ ทยอยหยิบมาใช้ตาม และที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ สเปน และอิตาลี ที่ในเวลานี้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 2 แสนคน หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ อย่าง อิหร่าน เดนมาร์ก อิสราเอล และเยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกกว่า 1.3 ล้านคน

ความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์มีความแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปในทางเดียวกัน คือ เน้นย้ำให้ "อยู่บ้าน" (Stay at Home), ปิดธุรกิจบางประเภท หรือห้ามการจัดงานอีเวนต์ใดๆ เป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

...

ซึ่งหลังจากผ่านมานานหลายเดือน บางประเทศที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรง ก็เริ่มมีการวางแผนเพื่อเตรียมผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ เมื่อตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงและผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเริ่มทรงตัว เพื่อให้มนุษย์โลกทยอยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติอีกครั้ง

แต่การกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียกว่า "ปกติ" กลับกลายเป็น "ความปกติใหม่" หรือ New Normal ที่สลับสับเปลี่ยนจนกลับด้าน อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ที่แสนเข้มข้น

มาตรการล็อกดาวน์เปลี่ยนชีวิตประจำวันของมนุษย์โลกอย่างไร?

และ New Normal ที่อนาคตจะกลายเป็น Normal เป็นอย่างไร?

คงต้องย้อนไปกลับไปดูช่วงชีวิตในยามปิดเมือง หรือ ล็อกดาวน์ (Lockdown) กันดูอีกครั้งว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบและกลับด้านแบบไหนบ้าง?

ชีวิตในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ของเหล่ามนุษย์โลก คงหนีไม่พ้น "ตื่นสาย นอนดึก ส่วนกลางวันก็แอบอู้งานหน่อยๆ"

เห็นได้จากข้อมูลการพยากรณ์พลังงานไฟฟ้าของ TESLA ที่พบว่า นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาปกติ 08.00 น. ลดลงถึง 18% เช่นเดียวกับที่กรุงโตเกียว และอีก 3 เขตปกครองใกล้เคียง ประเทศญี่ปุ่น ที่หลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ก็พบว่า มีการใช้พลังงานในช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ลดลง 5%

แน่นอนว่า เมื่อมี "มาตรการล็อกดาวน์" การเดินทางระหว่างวันไปทำงานที่ออฟฟิศก็ลดลง เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็สามารถนอนหลับได้ยาวนานขึ้น จากที่ปกติจะเริ่มมีความต้องการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00-08.00 น. ก็ปรับเปลี่ยนไป โดยจากข้อมูลในประเทศเยอรมนี แสดงให้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ คือ เครื่องชงกาแฟไม่ได้มีการใช้งานเลยจนถึงช่วงเวลา 08.00-09.00 น.

จากคำบอกเล่าให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนชาวเยอรมนี ยืนยันว่า "พวกเขาจะไม่ลุกจากที่นอนจนกระทั่งอีกครึ่งชั่วโมงจะเริ่มทำงาน และนั่นทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายนับตั้งแต่ตื่นนอน"

ประเทศในทวีปยุโรปอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี มีมาตรการที่พ่วงมากับการล็อกดาวน์ คือ มาตรการพักงานชั่วคราวที่อนุญาตให้พนักงานหรือลูกจ้างสามารถรับเงินเดือนได้

หรือแม้แต่ในสหราชอาณาจักรก็เช่นกัน จนทำให้พนักงานหรือลูกจ้างเริ่มจะตื่นสายกันมากขึ้น ซึ่งหากเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ก่อนที่จะมีมาตรการล็อกดาวน์ การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. แต่ปัจจุบัน พวกเขาเลือกที่จะออกไปสูดอากาศข้างนอก ทำให้การใช้ไฟฟ้าช่วงเวลากลางวันนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

...

สวนทางกับของประเทศเยอรมนี ที่บอกไปตอนต้นแล้วว่า ชีวิตพวกเขาเลื่อนเวลาเพิ่มไปอีก อันเป็นผลจากการตื่นสาย เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ซึ่งจากปกติที่จะมีการเริ่มใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.00 น. เพราะกลับจากการทำงานและเริ่มต้นทำงานบ้าน แต่พอมีมาตรการล็อกดาวน์ พวกเขาต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) และเรียนออนไลน์แทน ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มเกือบตลอดทั้งวัน และพุ่งสูงสุดในช่วงเย็น หลังมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการดูทีวีใหม่

เปลี่ยนพฤติกรรมการดูทีวีอย่างไร?

เมื่อมนุษย์โลกอยู่บ้าน ไม่ต้องเดินทางแต่เช้า พวกเขาก็นอนดึกขึ้น การหันมารับชมทีวียามเย็นลากยาวถึงค่ำมืดดึกดื่นจึงเป็นเรื่องปกติใหม่ โดยเฉพาะการรับชมแบบออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า "สตรีมมิ่ง"

...

จากรายงานของบริษัท เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) พบว่า ยอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 15.8 ล้านแอคเคาท์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งศูนย์วิจัย Wall Street คาดการณ์ว่าอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 2 เท่า หรือแม้แต่น้องใหม่อย่าง ดิสนีย์ พลัส (Disney+) ที่มียอดสมัครสมาชิกเกินกว่า 50 ล้านแอคเคาท์ ในเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่เคยมีการคาดการณ์เสียอีก

และเมื่อมีการรับชมสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันเช่นกัน รวมถึงพบเทรนด์ความปกติใหม่ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การใช้งานแบนด์วิซที่สลับขึ้น-ลง ในช่วงการรับชมสตรีมมิ่งและการใช้แอปพลิเคชันซูม (Zoom) ในการประชุมหรือเรียนออนไลน์ โดยพบว่า ตลอดเดือนที่ผ่านมามีการบริโภคบอร์ดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตสูงกว่าช่วงก่อนหน้ากว่า 35%

ขณะที่ ประเทศสิงคโปร์ หลังมาตรการขอความร่วมมือให้อยู่บ้าน (Stay at Home) เริ่มใช้เมื่อวันที่ 7 เมษายน ก็พบว่า การใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้พบกับชีวิตประจำวันที่กลับด้านอย่างสิ้นเชิง

คือ ระหว่างวันมียอดการใช้ไฟฟ้าลดลงและอยู่ในระดับต่ำ แต่ในช่วงกลางคืนกลับแตกต่างคนละเรื่องคนละราว โดยในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดกระแสยอดฮิตสตรีมมิ่งสารคดีชื่อดัง Tiger King และ The Last Dance การใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงต่อเนื่องในช่วงกลางคืน กว่าจะเริ่มลดลงก็จนกระทั่งช่วงเวลา 22.00-24.00 น. กลายเป็นว่า จากที่ต้องรีบเข้านอนเพื่อตื่นแต่เช้า ก็เปลี่ยนเป็นนอนก็ต่อเมื่ออีก 1 ชั่วโมงจะพ้นวันไปแล้วนั่นแหละ

...

จากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นรอบโลก นับเป็นความท้าทายใหม่ที่เป็น New Normal ของมนุษย์โลก ซึ่งผู้ให้บริการไฟฟ้าและให้บริการอื่นๆ ต้องให้ความสนใจและปรับเปลี่ยนตามให้ทัน

และแม้ ณ เวลานี้ จะยังไม่แน่ชัดว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน และจะหยุดได้เมื่อไร

แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ประเทศต่างๆ ก็จะมีการปรับมาตรการที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ให้เข้ากับแนวทางของตนเองต่อไป เช่น อิตาลีที่ยังคงคุมเข้มมาตรการต่างๆ และบางมาตรการก็อาจมีการเปลี่ยนให้เป็นมาตรการ "ถาวร" ในอนาคต

รวมถึงเหล่าพนักงานและนายจ้างที่เริ่มจะคุ้นเคยและใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นจากการทำงานที่บ้าน (Work from Home) จนกลายเป็นความปกติในอนาคตเช่นกัน

ไม่เว้นแม้แต่จีน ประเทศแรกที่เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 ที่พบว่า การบริโภคไฟฟ้าระดับครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้าน ทั้งการดูทีวี การทำอาหาร หรือการทำความร้อน ซึ่งจากข้อมูลของ IHS Markit บริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าของบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้นถึง 2.4% และในส่วนของการบริโภคเทคโนโลยีก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย มีการให้บริการด้านเว็บไซต์เพิ่มขึ้นถึง 27% ทีเดียว

หรือหากย้อนมาดูที่ประเทศไทย แม้ไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการเน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมถึงขอความร่วมมือให้อยู่บ้าน (Stay at Home) ก็ทำให้เห็นการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นในรูปแบบ "ปกติใหม่" (New Normal) ที่เริ่มปกติ

อย่างร้านตัดผมหรือร้านอาหาร ที่รัฐบาลอนุญาตให้กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ที่เดิมจะเห็นคนแน่นร้าน ก็เปลี่ยนแปลงไป มีการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารกันมากขึ้น ลดการไปนั่งรับประทานที่ร้าน แม้จะอนุญาตให้นั่งได้ แต่ต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งคาดการณ์ว่ายอดการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารของปี 2563 จะสูงถึง 20 ล้านออเดอร์ ส่วนร้านตัดผมจะเข้าไปนั่งรอในร้านเหมือนเดิมก็ไม่ได้แล้ว ต้องมีการจองคิว และทำได้เฉพาะตัด สระ ไดร์ฟเท่านั้น

และอนาคตอันใกล้ การกลับมาให้บริการของห้างสรรพสินค้าตามปกติอีกครั้ง ก็จะเป็นในรูปแบบ "ปกติใหม่" ที่อาจมีการจำกัดคนเข้า หรือจำกัดเวลา จะมาเดินเที่ยวช้อปปิงนานๆ หลายชั่วโมงแบบแต่ก่อนคงไม่ได้

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เห็นได้ว่า มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) กำลังค่อยๆ ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของมนุษย์โลกให้กลับด้านไปอย่างช้าๆ จนเกิดเป็นความ "ปกติใหม่" (New Normal) ที่ในอนาคตจะกลายเป็น "ปกติ" (Normal).

ข่าวอื่นๆ :