ถึงเวลาเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ... คนไทยพร้อมกันหรือยังกับการจะมี 5G ในกำมือ?

ปิดการประมูลอย่างสวยงาม หลัง 5 รายใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมตบเท้าเข้าประมูล 5G กันอย่างพร้อมเพรียง วงเงินรวมกว่า 100,521 ล้านบาท ซึ่งค่ายที่คว้าคลื่นไปครองมากที่สุด หนีไม่พ้น AIS (เอไอเอส) 23 ใบอนุญาต (700 MHz 1 ใบอนุญาต, 2600 MHz 10 ใบอนุญาต และ 26 GHz 12 ใบอนุญาต) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น TRUE 17 ใบอนุญาต, DTAC 2 ใบอนุญาต, CAT 2 ใบอนุญาต และ TOT 4 ใบอนุญาต โดยคลื่น 700 MHz มีการแข่งขันสูงที่สุด กว่าจะเคาะก็ประมูลกันมากถึง 20 รอบ

"การประมูลไม่ได้เหนือความคาดหมายมาก รายได้ประมาณ 1 แสนล้านนิดๆ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย กสทช. พอสมควร"

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและการสื่อสารโทรคมนาคม เปิดบทสนทนาโลกแห่ง 5G กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วยการมองว่า ราคาประมูล 5G ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรมากนัก เพียงแต่ไทยคาดหวังกับราคาประมูลกันมากเกินไปเท่านั้นเอง ซึ่งประเด็นต่อไปที่ต้องกำกับดูแลและสำคัญมากๆ คือ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนดไว้ให้โอเปอเรเตอร์ต้องขยายโครงข่าย

"การคำนวณราคาคลื่นจะมีหลักการและเหตุผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ และอยู่ในหลักการที่เป็นหลักสากล ผมมองว่าราคาก็ยังสมเหตุสมผลอยู่ อาจจะสูงไปนิดนึง แต่ก็ยังยอมรับได้"

...

หากย้อนกลับไปดูรายชื่อโอเปอเรเตอร์ที่ตบเท้าเข้าประมูล 5G ก็จะเห็นค่ายที่เราคุ้นเคยและคุ้นชิน ทั้ง AIS, TRUE หรือ DTAC จนเกิดความกังวลจากผู้บริโภคอย่างเราๆ ว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งวงจรธุรกิจที่จะเกิดการ ‘ผูกขาด’

"ครั้งนี้มี 5 ราย ไม่ผูกขาด เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันมากกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะตามปกติในต่างประเทศ ถ้ามีโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเคลื่อนที่ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายก็จะถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดี ถ้าจะดีมากก็ 4-5 ราย แต่ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ไม่รอด แล้วการผูกขาดในวงการโทรคมนาคมก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ เพราะเริ่มมีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแบ่งส่วนการตลาด อย่างเฟซบุ๊กที่มีการโทรศัพท์ได้ด้วย กลายเป็นว่ามีการต่อสู้ข้ามอุตสาหกรรม"

ส่วนคำถามยอดฮิตอย่าง "5G มาแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะถูกลงไหม?" หากจะหาคำตอบในมุมมองคนใช้อยู่ทุกวันอย่างเราๆ ก็แน่นอนว่ามันแพง แต่หากมองในมุมของ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ก็จะเห็นว่า ราคาต่อเมกะไบต์หรือกิกะไบต์นั้นลดลง แต่ที่ต้องจ่ายแพงๆ นั้นก็เป็นเพราะเราใช้กันมากเกินไป

"แนวโน้มการให้บริการจะลดลงไปเรื่อยๆ จนในอนาคตค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแทบไม่ต้องเสีย อาจต้องจ่ายบ้าง แต่ไม่ใช่การจ่ายเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต และอาจไม่เสียค่าโทรศัพท์เป็นนาทีอีกต่อไปแล้ว จะเสียแบบอื่นแทน คือ ข้อมูล การวิเคราะห์ ภาพ 3 มิติ จะเป็นแนวๆ ให้บริการที่ลึกซึ้งมากขึ้น"

มาถึงตรงนี้ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่โลก 5G ย้อนมองกลับไปที่ ‘โลก 4G’ ทุกวันนี้ใช้เต็มประสิทธิภาพกันแล้วหรือยัง?

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ แยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. การครอบคลุม และ 2. ความเร็วในการส่งข้อมูล ถ้ามองประเด็นการครอบคลุม ไทยเกิน 95% เหนือจากค่าต่ำสุดหรือค่าเฉลี่ย ซึ่งครอบคลุมมากกว่าในยุโรปและหลายๆ ประเทศซะอีก ส่วนในประเด็นความเร็วในการส่งข้อมูล ไทยก็อยู่ในค่าเฉลี่ย ไม่สูงมาก แต่ก็ไม่ต่ำ

"ไทยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ถึงแม้ไม่ดีมาก แต่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานแน่นอน ระบบ 4G ก็ยังพัฒนาอยู่ ไม่ใช่ว่า 5G มา แล้ว 4G เลิก แต่ 4G จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็วขึ้นเยอะ เร็วขึ้นอีกเป็น 10 เท่า กว่า 5G จะมาแทน 4G จะเร็วกว่านี้เป็น 10 เท่า ในช่วง 2-3 ปีนี้"

ในเมื่อ 4G ไทยเองก็ไม่เป็นสองรองใคร นั้นหมายความว่า ไทยพร้อมแล้วกับการก้าวสู่ ‘โลก 5G’ ใช่หรือไม่?

"ไทยช้ามาตลอด"

แม้ในหลายภาคส่วนมองว่า ‘โลก 5G’ เร็วเกินไปสำหรับไทย แต่ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กลับมองว่า การประมูล 5G เกิดขึ้นเร็วดีกว่าการประมูลที่เกิดขึ้นช้า เพราะยังไงแล้วการประมูลในครั้งนี้ก็มีการแบ่งซอยย่อยในการชำระค่าธรรมเนียม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพอสมควร

...

"พอช้าก็บอกว่าช้าเกินไป ผมว่าเร็วเกินไปดีกว่าช้า ในมุมมองประโยชน์ของประชาชน ส่วนผลกระทบน่าจะมีกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ อุตสาหกรรมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอัตโนมัติ ฉะนั้น การโรลเอาต์ในช่วงแรกก็จะเป็นการวางโครงข่ายตามอีอีซี ตามโรงงาน ตามนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ก็เมืองใหญ่ๆ"

แล้วในมุมมองที่ว่า ‘โลก 5G’ มันเร็วเกินไปสำหรับไทย นั้นเร็วเกินไปอย่างไร?

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการเลขาธิการ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ให้เหตุผลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า แม้ 5G จะมีประโยชน์ แต่ยังไม่มีอุปกรณ์ที่จะใช้ ไทยเป็นประเทศผู้ใช้ ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา จีน หรือเกาหลีใต้ที่ผลิตอุปกรณ์รองรับ 5G ต้องดูว่าคลื่นของไทยกับคลื่นของประเทศอื่น เมื่อนำอุปกรณ์เข้ามาต้องเอามาทำอะไรอีกหรือไม่

"ประเด็นใหญ่ของ 5G คือ ไทยไม่มีของใช้ เช่น Internet of Things (IoT) สมาร์ทโฟนบางรุ่นก็อาจยังไม่รองรับ อุปกรณ์หลายอย่างก็ยังไม่มี เช่น Smart Car (รถอัจฉริยะ) ไทยยังไม่ยอมให้นำเข้า คิดว่า 5G ประมูลเร็วไป"

และนอกเหนือจากอุปกรณ์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งข้อกังวลของทางมูลนิธิฯ ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ คือ ความแรงของคลื่น 5G ที่ในยุโรปมีประเด็นนกตายหลายพันตัว ซึ่งยังไม่ถูกอธิบาย ไม่ถูกตั้งคำถาม

...

"อุปกรณ์ยังจำกัดอยู่ ยังไม่ได้ทำให้เกิดการเข้าถึงจริงๆ ไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ แต่ยังมีการเกษตรที่เป็น Smart Farm ส่วนควบอื่นๆ มันแพงมาก ไม่ใช่แค่ความเร็วในอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวที่เราจะใช้ดาวน์โหลดหนัง ฟังเพลง เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องการใช้เงิน เราเป็นผู้ใช้หมดเลย บ้านเราอินเทอร์เน็ตเร็วแค่ minimum ไม่ใช่การันตี maximum เป็นปัญหามาตั้งแต่ 2G, 3G และ 4G แล้ว กสทช. ก็ไม่เคยจัดการ อย่าโม้เกิน จริงๆ แล้วต้องทำให้จุดอื่นๆ รองรับด้วย แล้วมันเอื้อ"

ขณะที่ นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็มองไม่ต่างกันว่า ก่อนที่จะมีการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยี อย่างแรกควรแก้ปัญหาการเข้าถึงก่อน ตั้งแต่การเปลี่ยนไปใช้ทีวีดิจิทัล การวางเสาสัญญาณที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ สัญญาณไปไม่ถึง แม้จะพัฒนาก้าวหน้าแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะประชาชนทุกคนไม่ได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง

"ประชาชนควรเข้าถึงได้จริง ไม่ใช่เป็นแค่ความคิด แล้วมันไปไม่ได้ หมายถึงว่า คนที่ไปได้คือคนที่อยู่ในเมืองเท่านั้น แต่จริงๆ ถ้าพุ่งเป้าไปที่คนที่อยู่นอกเมือง คนที่อยู่ห่างไกล แล้วเขาสามารถเข้าถึงระบบนี้ได้ เราคิดว่าระบบการพัฒนาแบบนั้นต่อให้เป็นระบบ 4G หรือ 5G มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไร เพราะว่าตอนนี้ปัญหามันคือการเข้าถึง มันกระจุกตัวและมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพัฒนา เพราะอย่างน้อยคนไทยมันต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงตามสิทธิที่เขามีตามรัฐธรรมนูญ"

...

ก้าวสู่ ‘โลก 5G’ ต้องทุ่มอย่างต่ำ 2 หมื่นล้านต่อปี

แน่นอนว่าการจะก้าวเข้าสู่ ‘โลกอัตโนมัติ’ ที่มีเครือข่ายระบบ 5G เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนสำคัญ ต้องแลกกับการลงทุนอันมหาศาล ซึ่งจากการประเมินของ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ คาดว่าอยู่ที่ราวๆ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

"ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพและแข่งขันในตลาดได้ เป็นผู้นำได้ อย่างต่ำ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีต่อราย 5G จะเปลี่ยนอุตสาหกรรม อย่างในแวดวงสื่อและบันเทิงจะมีอะไรแปลกๆ มากขึ้น เช่น AR, VR ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพชัดเจน"

5G เปลี่ยนโลก หุ่นยนต์ เทคโนโลยี รุกคืบแย่งงานมนุษย์

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความตื่นกลัวการเข้ามาของ 5G และเทคโนโลยี AI ค่อนข้างรุนแรง หลายคนหวั่นวิตกกลัวตกงาน ไม่มีงานทำ ถูกหุ่นยนต์รุกคืบ เป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากนี้ ไทยที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวสู่ ‘โลก 5G’ จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบไหนบ้าง? และจะน่ากลัวแค่ไหนกันกับการแทนที่มนุษย์ของเทคโนโลยี

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ไล่เรียงทีละสเตปถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นภาพ เริ่มจาก ‘วงการยานยนต์’ ที่รถยนต์จะมีการเกาะกับระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือที่เรียกว่า Low Earth Orbit สามารถมองเห็นรถแล้วรถสามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ไอโอทีและกล้องต่างๆ ได้

"รถจะเริ่มฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เก็บข้อมูลถนนหนทางไว้ในระบบคลาวด์ ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ประมาณช่วงปี 2035 ตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังวางแผนให้รถยนต์อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันในแต่ละยี่ห้อ"

ส่วนรถยนต์ไร้คนขับน่าจะเกิดประมาณอีก 10 ปีข้างหน้า ณ เวลานี้ ยังไม่สมบูรณ์แบบ ถ้า 5G มาพร้อมกันกับวงโคจรต่ำ ที่ ‘อีลอน มัสก์’ เอาดาวเทียมมาฝังกับ SpaceX แล้วในหลายบริษัทยิงขึ้นไปหลายหมื่นดวง ตอนนี้ยิงเป็นพันดวงแล้ว มันจะทำให้โลกสามารถถูกมองเห็นได้จากดาวเทียม รวมทั้ง 5G บนภาคพื้นดิน ทำงานร่วมกัน เกิดระบบอัตโนมัติมากมายในช่วงทศวรรษนี้

อีกด้าน คือ ‘การแพทย์’ ที่จะเกิดแพทย์ทางไกลแบบอัตโนมัติ สังเกตง่ายๆ จาก Smart Watch ที่วันนี้บอกเราได้ว่า หัวใจเต้นเท่าไร เต้นอย่างไร ผิดปกติไหม ความดัน รวมถึงเดินกี่ก้าว เบิร์นเท่าไร นั่งนานๆ บอกให้ยืน ลุกเดิน คอยเตือนเรา มันจะค่อยๆ แทรกตัวเข้ามาในสังคม

ที่สำคัญ 5G จะเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมิติที่รัฐบาลและเอกชนต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัว หากไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ ไทยจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เสื่อมสภาพกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเทคโนโลยีผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติ คนเปลี่ยนสกิลในความรู้ ความสามารถ ที่จะเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องมีความรู้ในเรื่องของการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โปรแกรมมิง การวิเคราะห์ข้อมูล

ฉะนั้น เด็กที่จบอาชีวะจะต้องควบคุมหุ่นยนต์เป็น ไทยต้องผลิตวิศวกรและช่างฝีมือที่สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง การปรับระบบการศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญมากใน 3-5 ปีข้างหน้า

ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ดี มีระบบการศึกษาที่ดี ก็จะทำให้เข้าไปสู่อุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพ มีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง รวมไปถึงระบบสาธารณสุขที่ใช้ระบบดิจิทัล 5G เข้ามาช่วยทำงานแทนแพทย์ที่ขาดแคลน จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

ถามว่า ใน ‘โลก 5G’ หุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์เลยใช่หรือไม่?

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ยืนยันหนักแน่นว่า "ไม่มีทาง"

ในระยะ 50 ปี ถึง 100 ปี มีการคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์ว่า หุ่นยนต์หรือ AI ก็ยังไม่สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ เพราะมนุษย์ต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ถึงแม้จะมีความสำคัญมากขึ้น แบ่งงานกันอยู่ แต่ใน 100 ปีต่อไปนั้นไม่ทราบ พูดแค่ในระดับ 50 ปี

โจทย์ใหญ่การบ้านรัฐบาล สานต่อ ‘โลก 5G’ หลังปิดการประมูล

"เรื่องแรกที่ภาครัฐต้องทำในระยะสั้น คือ การฝึกอบรมคนในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว"

แล้วในระยะยาว?

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มองว่า ต้องมีการปรับกระบวนการในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทฤษฎีต้องควบคู่กับการปฏิบัติ ในอดีต เน้นทฤษฎีเกือบ 80-90% ถ้าปฏิบัติต้องไปฝึกงานเอา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เด็กๆ มีโดรน มีทีวี มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ไม่เหมือนสมัยเราเด็กๆ ฉะนั้น การเรียนการสอนต้องมาคิดเพื่อเด็กอายุ 20-30 หรืออายุ 10 ขวบแล้ว ว่า เขาจะอยู่กับโลกนี้เพื่อการแข่งขันในรูปแบบใหม่ มองว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

อีกประเด็น คือ ศีลธรรมและคุณธรรม เพราะโลกมนุษย์พอมีเทคโนโลยีก้าวหน้า คนเริ่มไม่สนใจกัน คนเริ่มใช้ความทันสมัย ฉะนั้น มองว่าความเป็นมนุษย์ยังมีความสำคัญอยู่ ถึงแม้ AI จะทำงานแทนมนุษย์หลายอย่าง แต่งานบางอย่างหรือส่วนใหญ่ เช่น แพทย์ พยาบาล การท่องเที่ยว ยังใช้มนุษย์อยู่ มองว่าระบบการศึกษาที่สร้างการปลูกฝังรูปแบบใหม่ คือ การทำประโยชน์เพื่อสังคมสาธารณะ ฝึกให้เด็กทำงานในสาธารณะ ไม่ใช่สอนศีลธรรมคืออะไรตามหนังสือ ควรสอนเชิงปฏิบัติมากกว่า

"5G เป็นเรื่องของภาคอุตสาหกรรม แต่ 4G จะมุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคในการที่เป็นบรอดแคสต์ได้ เป็นทีวีได้ สื่อสารได้ดีขึ้น เห็นหน้ากัน แต่ 5G ไปไกลกว่านั้น ควบคุมหุ่นยนต์ ควบคุมโดรน ใส่แว่น VR จะออกไปอีกจุดหนึ่ง จะก้าวข้ามไปมากกว่าการส่งความเร็วของข้อมูลที่เร็วขึ้น มากกว่านั้น"

ก่อนปิดบทสนทนา ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถามย้ำอีกครั้งว่า 5G จะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกอย่างเลยใช่หรือไม่?

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ก็ตอบหนักแน่นว่า "แน่นอน มันกำลังคืบเข้ามาแล้ว".