บุกโลกใบใหม่ของเหล่า "นักเขียน" จากแผ่นกระดาษสู่ดิจิตอล จากบทพรรณนาสู่รูปแบบ "ข้อความแชต" ที่สร้างรายได้สูงสุดเหยียบหลักแสนบาท

เทรนด์การอ่าน "นิยาย" บนแอปพลิเคชัน หรือที่เรียกกันว่า "นิยายออนไลน์" ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้น "นิยายแชต" ที่มีรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวของตัวละครผ่านการสนทนาด้วย "ข้อความแชต" คล้ายกับการสนทนาผ่านแอปพลิเคชันแชตอย่าง ‘ไลน์’ (LINE) ที่คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์คงคุ้นเคยกันดี

แน่นอนว่า กลุ่มผู้อ่านนิยายแชตส่วนใหญ่ คือ "วัยรุ่น" มีช่วงอายุระหว่าง 13-24 ปี ด้วยข้อความที่สั้นกระชับทำให้อ่านง่าย และกว่า 80% ของนิยายแชตที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ‘LGBTQ’ (ความหลากหลายทางเพศ) ทำให้ "นิยายแชต" ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันรูปแบบ "นิยายแชต" ในไทยมีเพียง 2 แอปเท่านั้น คือ ‘Joylada’ (จอยลดา) และ ‘ReadAWrite’ (รี้ดอะไร้ต์)

...

สำหรับ จอยลดา ถือเป็นผู้บุกเบิกวงการนิยายแชตในไทยเลยก็ว่าได้ โดยถือกำเนิดครั้งแรกในปี 2560 ผ่านมาจนถึงวันนี้ปี 2563 ระยะเวลาเพียง 2 ปีนิดๆ มียอดผู้อ่านรวมมากกว่าล้านล้านวิว ซึ่ง ‘จอยลดา’ เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่อยู่ภายใต้ บริษัท อุ๊คบี ยู จำกัด ที่ไม่ได้มีแค่นิยายแชตเท่านั้น แต่ยังมีแอปพลิเคชันนิยายออนไลน์และ e-Book (อี-บุ๊ก) ด้วย รายได้รวมปี 2561 อยู่ที่ราว 2 ร้อยล้านบาท

ด้าน รี้ดอะไร้ต์ นิยายแชตน้องใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดได้ไม่นาน แต่กำลังเป็นคู่แข่งม้ามืดที่น่ากลัวของ ‘จอยลดา’ โดยอยู่ภายใต้ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในธุรกิจของเครือเซ็นทรัล ที่เดิมทีจับกลุ่มอี-บุ๊กเป็นหลัก รายได้รวมปี 2561 อยู่ที่ราว 3 ร้อยล้านบาท

อย่างที่เกริ่นในตอนต้นแล้วว่า "นิยายแชต" มีการเล่าเรื่องราวและความสัมพันธ์ของตัวละครในรูปแบบของ "ข้อความแชต" เป็นหลัก และมีส่วนการบรรยายเป็นตัวเสริม สามารถใส่ลิงก์รูปภาพจาก IG (อินสตาแกรม), Facebook (เฟซบุ๊ก), Twitter (ทวิตเตอร์) และ YouTube (ยูทูบ) ได้ โดยนิยายแต่ละเรื่องจะถูกจัดหมวดหมู่ให้เหมาะสมตามประเภทเนื้อหาเพื่อความสะดวกในการค้นหาตามแนวความสนใจของผู้อ่าน อย่าง ‘จอยลดา’ ก็มีการเพิ่มความน่าสนใจด้วยการตั้งชื่อหมวดใหม่ เช่น หมวดถนนสีชมพู แทนรักโรแมนติก, หมวดทะเลสีเทา แทนดราม่าเนื้อหาเศร้า และหมวดท่าเรือสีรุ้ง ทุ่งลิลลี่ แทนเนื้อหาประเภทชายรักชาย หญิงรักหญิง รวมถึงหมวดโกดังแฟนคลับ ที่แทนถึงนิยายที่แฟนคลับแต่งเกี่ยวกับศิลปิน เป็นต้น

ส่วนค่าใช้จ่ายของการอ่านนิยายแชตนั้น มีทั้งแบบอ่านฟรีและซื้อเหรียญเพื่อปลดล็อกตอนเข้าไปอ่าน โดยยอดอ่านและจำนวนเหรียญของนิยายจะถูกนำไปคำนวณเพื่อเป็นรายได้ให้แก่นักเขียน

จากสถานการณ์ภาพรวมของ "นิยายแชต" ณ ขณะนี้ ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘จอยลดา’ มีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันประมาณ 2 ล้านคน และนักเขียนเกือบ 5 แสนคน โดยหากมาย่อยดูทีละหมวด พบว่า "นิยายแฟนฟิกประเภทชายรักชาย" มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งนิยายแชตที่มียอดอ่านสูงสุดอยู่ที่ 9 พันล้าน และรายได้นักเขียนที่สูงสุดยังสูงมากถึง 8 แสนบาท

ใครๆ ก็เป็น "นักเขียนนิยายแชต" ได้ แต่ไม่ง่ายที่ยอดอ่านจะถึงพันล้าน

นอกจาก นิยายแชต จะอ่านสะดวกแล้ว ยังง่ายต่อการเป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหา หรือ "นักเขียน" เองด้วย หากเขียนไปถูกใจคนอ่านเข้า มียอดอ่านสูง รายได้ก็จะสูงตามไปด้วย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ "นักเขียนนิยายแชต" ทำไมถึงประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมท่ามกลางการแข่งขันสูง ณ เวลานี้ เคล็ดลับการเขียนนิยายคืออะไร?

...

จากเด็กประถมที่แต่งนิยายให้เพื่อนๆ อ่านเล่น จากคำชมเล็กๆ ที่ตอบกลับมาว่า "สนุกจังเลย" กลายเป็นแรงผลักดันสู่เส้นทาง "นักเขียน" ที่มีผู้ติดตามบน ‘จอยลดา’ 15,800 คน และมียอดอ่านรวม 1,600 ล้าน

‘ตูน-ศศิพิชญ์ พันธะจินาธัช’ เจ้าของนามปากกา iamthemoon; นักเขียนนิยายแชตประเภทแฟนฟิก บอกเล่าย้อนวันวานกว่าจะมีวันนี้ ก็เคยผ่านจุดที่มีคนอ่านไม่ถึง 100 คน คอมเมนต์แค่ 5-6 คอมเมนต์ หรือแต่งนิยายไม่จบจนต้องตัดสินใจลบทิ้งมาแล้วเช่นกัน

ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ ‘ศศิพิชญ์’ หรือ iamthemoon; ย่อท้อ หยิบมาเป็นบทเรียนและเรียนรู้ที่จะวางแผนก่อนลงมือแต่งนิยายแบบจริงจัง

“อย่างแรกที่ควรทำไม่ใช่การคิดชื่อตัวละคร การเปิดเรื่อง หรือหาปกนิยาย แต่คือ พล็อต จะเขียนอย่างไรให้รัดกุมที่สุด ถ้าพล็อตไม่แน่น เราไม่สามารถพาตัวเองไปถึงตอนจบได้”

...

"ต้องเชื่อใจตัวเอง
ว่าจะแต่งนิยายจบได้"

‘ศศิพิชญ์’ มองว่า อุปสรรคที่ทำให้ไม่เป็นที่รู้จัก คือ "การแต่งนิยายไม่จบ" ยิ่งในปัจจุบันมีนักเขียนเยอะ การอัปโหลดนิยายถี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีวินัยในตัวเองและไม่เขียนออกทะเล งานเขียนที่ผ่านการวางพล็อตมาอย่างดีบวกความมีวินัยของนักเขียนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานเขียนประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าเป็นงานเขียนรูปแบบ "นิยายแชต" นั้น ‘ศศิพิชญ์’ เน้นย้ำว่า ต้องคำนึงถึงรูปแบบของแอปพลิเคชันที่นำเสนอด้วยวิธีแชตด้วย ลักษณะการแชตโดยปกติมักจะไม่ได้ใช้คำสละสลวย ดังนั้น ต้องใช้แพลตฟอร์มนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้เชื่อมโยงกับฟังก์ชันของแพลตฟอร์มนั้นจริงๆ

“เวอร์ชั่นบรรยาย เราจะใส่ภาษาสวยอลังการขนาดไหนก็ได้ แต่เวอร์ชั่นแชต ถ้าเราใช้ภาษาสวยแชตกับเพื่อน พอมาดูในชีวิตจริงมันไม่มีแบบนี้ ภาษาในแพลตฟอร์มที่ต่างกันก็ควรใช้ต่างกัน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

...

อีกหนึ่งอุปสรรคที่ "นักเขียน" มักจะต้องพบเจออยู่เสมอ คือ “การโดนคัดลอกผลงาน"

“มีการคัดลอกผลงานกันบ่อยมาก ประมาณ 5-6 รอบเท่าที่จับได้ บางครั้งเขาก็ไม่ยอมรับ ก็รู้สึกโกรธ หรือบางครั้งนักอ่านที่ติดตามเราทราบว่านิยายเรื่องนี้คัดลอกผลงานของเราก็ไปแจ้งแอปนิยาย แล้วเขาก็จัดการให้เรา”

แม้ "นิยายแฟนฟิก" จะได้ผลตอบรับและความนิยมล้นหลาม แต่ก็มีคำครหาตามมาถึงการแต่งนิยายตามกระแส หวังรายได้ และถูกมองว่าอาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ศิลปิน ซึ่ง ‘ศศิพิชญ์’ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ไม่ได้ลงทะเบียนหารายได้กับ ‘จอยลดา’ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า แรกเริ่มของ "นักเขียนแฟนฟิก" มาจากความชอบในตัวศิลปินและอยากเขียนเรื่องราวตามจินตนาการ ถามว่าผิดไหม ถ้าเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ก็อาจไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ขออนุญาต ส่วนถ้าคนมองว่าเขียนเพื่อหารายได้ เขียนชายรักชายตามกระแสนิยม แสดงว่า "คุณตีค่างานเขียนเราผิด" ทุกข้อความที่สื่อมีเจตนาให้ทุกคนเข้าใจความสัมพันธ์ของ LGBTQ ให้รู้ว่าความรักของทุกเพศมีคุณค่า และงานเขียนทุกงานเป็นการสร้างสรรค์จากความรัก มีคุณค่าในตัวเอง

อีกมุมหนึ่งของแอปพลิเคชัน "นิยายแชต" ที่ไม่ใช่แฟนฟิก การประสบความสำเร็จนั้นค่อนข้างยาก การจะดึงดูดให้ผู้อ่านเข้ามากดติดตามจนสร้างรายได้ ต้องทำอย่างไร?

‘มีมี่-ชัญญานุช ไพศาลภูมิ’ เจ้าของนามปากกา ‘มันหวาน’ วัย 16 ปี ที่เริ่มแต่งนิยายครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยเพราะอยากมีนิยายเป็นของตัวเอง จากช่วงแรกๆ ที่มีคนอ่านประมาณพันกว่าคน ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ยอดอ่านพุ่งถึง 6 ล้าน จนกระทั่งมียอดผู้ติดตามบน ‘จอยลดา’ 38,100 คน ยอดอ่านรวม 4,900 ล้าน และ 17 ล้านเหรียญ

เคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้นิยายเป็นที่นิยม สำหรับ ‘ชัญญานุช’ ให้ความสำคัญไม่ต่างกับ ‘ศศิพิชญ์’ นั่นคือ "พล็อตนิยาย"

“การคิดพล็อตให้แปลกใหม่ ซึ่งนิยายบางเรื่องหยิบประสบการณ์ตัวเองหรือใกล้ตัวมาแต่ง และอีกสิ่งที่ทำให้โดดเด่นอาจเพราะมีจำนวนตอนที่เยอะ ปกติเรื่องอื่นๆ จะมีจำนวนตอนประมาณ 30 ตอนจบ แต่เรามี 100 กว่าตอน”

จากประสบการณ์แต่ง "นิยายแชต" มา 2 ปี ‘ชัญญานุช’ เปิดมุมมองข้อดีและข้อเสียที่ได้ ว่า แอปพลิเคชันนิยายแชตมีเนื้อหาเปิดรับทุกเพศ ตอบสนองคนทุกวัย มีความแปลกใหม่ที่ดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาลองใช้งาน โดยส่วนตัวก็ช่วยให้สามารถหาประสบการณ์การแต่งนิยายแบบแชต ทำให้มีแฟนคลับมาติดตามอ่านนิยายและสร้างรายได้ ส่วนข้อเสียจะอยู่ที่ปัญหาระบบของแอปพลิเคชัน

รายได้จาก "นิยายแชต" หรือ ‘จอยลดา’ มาจากไหน?

‘ชัญญานุช’ อธิบายให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ฟังว่า รายได้นักเขียนมาจากยอดอ่าน อย่าง ‘จอยลดา’ จะนับจากจำนวนคลิกที่ทำให้แต่ละข้อความแชตเด้งขึ้นมา

โดยช่วงแรก รายได้ของ ‘ชัญญานุช’ มาจากยอดอ่านเท่านั้น ประมาณ 2,000-4,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบัน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการติดเหรียญ รวมทั้งหมดตั้งแต่เริ่มแต่งนิยายได้รับเงินอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ซึ่งแอปพลิเคชันจะโอนเข้ามาในบัญชี (หักภาษี 5%)

“ยอดอ่านและรายได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่ช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับนักเขียนแต่ละคน ถ้าอัปนิยายถี่แล้วมีคนเข้ามาอ่านเยอะก็จะได้สูง”

และเพราะแอปพลิเคชันอ่านนิยายออนไลน์ หรือ "นิยายแชต" ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นส่งฟีดแบ็กถึงนักเขียนได้เลยทันที ซึ่ง ‘ชัญญานุช’ มองว่า ความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นการติเพื่อก่อ นำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงการเขียน ถือเป็นการพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างสรรค์งานเขียนที่ดีต่อไป

การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของ "วงการวรรณกรรม"

"นิยายแชต" ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ที่เกิดขึ้นตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและกระแสต่างๆ ในสังคม เหมือนเช่นสมัยก่อนที่เริ่มจากการอ่านนิยายแบบรูปเล่มและต่อมาย้ายมาอ่านในเว็บไซต์ออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างและผลกระทบอย่างไรบ้าง?

‘กนกวลี พจนปกรณ์’ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดมุมมอง ‘โลกวรรณกรรม’ กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ความนิยมของนิยายแชตเกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บวกกับหนึ่งในหน้าที่ของนิยาย คือ ให้ความสนุกสนาน ซึ่งนิยายแชตคงตอบโจทย์คนอ่านตรงจุดนี้ได้ ทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะคงอยู่นานแค่ไหน

“วรรณกรรมต้องใช้ความช้าในการเสพ คนรุ่นใหม่เกิดมาในยุคของความเร็วก็ต้องการอะไรที่เร็ว สะดวก ใช้งานง่าย ในขณะที่คนรุ่นเดิมยังเคยชินกับความช้า ต้องรอดูต่อไปในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจะอยู่รอดได้ด้วยการปรับตัว”

กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

นายกสมาคมนักเขียนฯ เทียบความแตกต่างระหว่างนิยายรูปเล่มและ "นิยายแชต" ให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น ว่า งานเขียนเป็นเล่มๆ ในสมัยก่อน จะต้องมีโครงเรื่อง มีฉาก มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ต้องสร้างขึ้นมา ไม่ไปกระทบใคร ไม่เอาตัวจริงมา แต่นิยายแชตส่วนใหญ่มีตัวละครที่ต้นแบบจากคนจริงๆ มีรูป มีการตั้งจากอิมเมจ ตัวละครถูกรู้จักร่วมกัน เห็นภาพเดียวกัน เพราะทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วว่าเขาหน้าตา ทรงผม รอยยิ้มเป็นอย่างไร เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ทุกคนก็จะเห็นภาพนี้หมดเลย แต่นิยายแบบเดิมที่เขียนกัน คนอ่านจะจินตนาการไปตามที่แต่ละคนคิดตามคาแรกเตอร์ตัวละคร คงไม่เหมือนกัน

ส่วนของประเภทเนื้อหาที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับความรักของ LGBTQ นั้น นายกสมาคมนักเขียนฯ ยอมรับและให้เกียรติ โดยมองเป็นเรื่องของการบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกของทุกเพศที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน

“คุณค่าของงานเขียน กาลเวลากับผู้อ่านจะเป็นผู้ให้คำตอบว่ามีคุณค่าหรือไม่ เพราะคุณค่าหรือประโยชน์จะกลับมาที่ตัวเขาเอง”

แต่สิ่งหนึ่งที่ นายกสมาคมนักเขียนฯ เป็นห่วงและกังวล คือ "ลิขสิทธิ์" ที่อาจส่งผลกระทบต่อนักเขียนและผลงาน

“ห่วงอยู่อย่างหนึ่ง คือ นิยายแชต ถ้าเป็นแฟนฟิกจะไปกระทบสิทธิ์คนอื่นไหม ถ้าขออนุญาตผู้ที่เป็นเจ้าของตัวตนจริงๆ ก็ไม่มีปัญหา ถ้าไม่ได้ขอแล้วเขาไม่ได้ว่าอะไรก็แล้วไป ถ้าเขาว่าขึ้นมาก็จะเกิดปัญหา เพราะปัจจุบัน พอมีดิจิตอลเข้ามา เราต้องอย่าละเลยเรื่องลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ว่า กระทบใครไหม ถ้าในกรณีที่เอามาทำเพื่อการค้าหรือเชิงธุรกิจเชิงพาณิชย์

ก่อนที่จะปิดบทสนทนา ‘กนกวลี’ นายกสมาคมนักเขียนฯ ได้ฝากถึงนักเขียนและนักอ่านรุ่นใหม่ที่กำลังนิยมเสพงานเขียนรูปแบบ "นิยายแชต" ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ทุกคนเริ่มต้นการอ่านด้วยความอยากรู้ คนที่อ่านงานชั้นสูงในปัจจุบันก็เริ่มต้นจากการอ่านงานที่สนุกมาก่อน อาจจะอ่านงานที่ทำให้ประทับใจและเกิดความรักในการอ่าน

“อยากฝากให้กำลังใจนักเขียนนิยายแชต อย่างน้อยก็ได้ฝึกปรือในการเขียนบทสนทนาและการดำเนินเรื่อง ทั้งยังมีรายได้ ขออย่างเดียวไม่ให้เขาทิ้งงานตรงนี้ ให้พัฒนาต่อไป เพื่อที่กลุ่มคนอ่านนิยายแชตจะได้มีการพัฒนาการอ่านที่ดีขึ้นในอนาคต อย่างน้อยคือรักการอ่านต่อไป ถือว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งคนอ่านและนักเขียนพัฒนาไปด้วยกัน”.

ข่าวอื่นๆ :