"ความอยากรวย" ไม่เข้าใครออกใคร ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ดึงดูดให้หลงเข้าสู่วังวน หอบเงินไปฝากออม หวังกินกำไรจาก "ดอกเบี้ย" ที่สุดท้ายแล้ว ... เป็นเพียง "ภาพลวงตา"

————-

"ทุกคนมาเพราะความโลภ อยากได้เงินเปอร์เซ็นต์"

————-

ตอนหนึ่งจากถ้อยความ แม่มณี หรือ น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช เท้าแชร์ร้อยล้านที่มีผู้เสียหายร่วม 400 คน

ทำไมคนถึงหลง คนถึงโลภ คนถึงอยากได้กันนักกับ "เงินเปอร์เซ็นต์" หรือ "ดอกเบี้ย" จาก ‘แม่มณี’ แล้วทำไมคนถึงกล้าหอบเงินมาลงทุน ทำไมถึงไม่เลือกฝากเงินกับ "ธนาคาร" ที่ดูมีหลักประกันและปลอดภัยมากกว่า

"เงินเปอร์เซ็นต์" ที่ ‘แม่มณี’ เอ่ยถึงมันมากขนาดไหน?

เมื่อเช็กดูจากหลักฐานและถ้อยความที่ "เหยื่อ" แต่ละรายหยิบมาแสดงแล้ว ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การันตีฝากเงิน 1,000 บาท รับเงินคืนไปเลย 1,930 บาท ภายใน 30 วัน เท่ากับว่า "ดอกเบี้ย" ที่ได้สูงถึง 930 บาท

เป็นใครจะไม่ตาลุกวาว ลงทุนแค่ 1 เดือน แต่ได้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 93!!

ตัดภาพมาที่ "ธนาคาร" ที่ล่าสุด "ดอกเบี้ย" เงินฝากประจำลดลงมาอีก จากเดิมที่มันน้อยนิดมากอยู่แล้ว แต่ละแห่งแค่ 0.8-1% เท่านั้น!!

...

เทียบกันชัดๆ อีกที

‘แม่มณี’ 93% VS "ธนาคาร" 0.8-1%

แต่หากยังมองอัตราตัวเลขดอกเบี้ยไม่ออก ทีมข่าวฯ จะคิดเป็นจำนวนเงินให้ได้เห็นภาพชัดๆ กันอีกครั้ง

กำเงินไว้ในมือให้พร้อม แล้วมาออมเงินไปพร้อมๆ กันกับ 3 เกลอ นามว่า "แมงเม่า A, B และ C"

• "ดอกเบี้ย" ลวงตา ทุ่มเงินฝาก ‘แม่มณี’

เริ่มกันที่ แมงเม่า A หอบเงิน 1,000,000 บาท วางปึ้งกับ ‘แม่มณี’ แล้วกลับไปนอนนับวันรอให้ครบ 1 เดือน เตรียมรับทรัพย์ดอกเบี้ย 930,000 บาท รวมเงินที่ได้ 1,930,000 บาท

ขณะที่ แมงเม่า B หอบเงิน 1,000,000 บาท วางปึ้งหน้าเคาน์เตอร์ "ธนาคาร" ฝากประจำ 3 เดือน แล้วกลับไปนอนนับวันรอ พอครบกำหนดเปิดบัญชีดู ดอกเบี้ยที่ได้ 1,999-2,497 บาท (*อัตราดอกเบี้ย 0.8-1%) รวมเงินที่ได้ 1,001,999-1,002,497 บาท

เห็นๆ เลยว่า ดอกเบี้ยเงินฝากประจำมันช่างน้อยนิด ไม่ตอบโจทย์ "ความอยากรวย" ได้แบบทันถึงใจ

‘แมงเม่า A’ รวยเร็ว รวยไว กว่า ‘แมงเม่า B’ หลายเท่า

แต่ช้าก่อน!!

"ดอกเบี้ย" 93% ของ ‘แม่มณี’ มันให้ได้จริงๆ หรือไม่?

ลองมาหาคำตอบกันต่อ

‘แม่มณี’ VS ‘Apple’ ผลตอบแทนเหนือคาด

‘แมงเม่า A’ จะได้ผลตอบแทน 93% จาก ‘แม่มณี’ จริงๆ หรือไม่?

ลองมาดู ‘แอปเปิล’ (Apple) บริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงที่สุดในโลก

ที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ได้รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2562 ทำรายได้กว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีรายได้สุทธิประจำไตรมาสราว 92.14 บาทต่อหุ้นปรับลด เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่สำคัญ ‘แอปเปิล’ ประกาศจ่ายเงินสดปันผลหุ้นสามัญของบริษัทที่ 0.77 เหรียญสหรัฐฯต่อหุ้น หรือ 22.42 บาทต่อหุ้น

คิดว่า ผลตอบแทนและปันผลรวมที่ แมงเม่า C ได้จาก ‘แอปเปิล’ จะเท่ากับ ‘แม่มณี’ หรือมากกว่า หรือน้อยกว่า?

...

ตาม ‘แมงเม่า C’ มาคำนวณกัน

แมงเม่า C หอบเงิน 1,000,000 บาท ไปลงทุนใน ‘หุ้นแอปเปิล’ ซึ่งก็ได้มาอยู่ในกำมือประมาณ 127 หุ้นด้วยกัน นอนรอนับวันจ่ายปันผลของ ‘แอปเปิล’ (*จ่ายทุก 3 เดือน)

เมื่อมาถึงวันจ่ายปันผล ‘แมงเม่า C’ จะได้ปันผลจาก ‘หุ้นแอปเปิล’ 22.42 บาทต่อหุ้น ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.20% ย้ำ! 1.20% (ทวนความจำ ‘แม่มณี’ 93%)

ด้วยราคา ‘หุ้นแอปเปิล’ 259.43 ดอลลาร์ฯ (ราว 7,887 บาท) (ณ 7 พ.ย. 62) เท่ากับว่า ‘แมงเม่า C’ จะได้ปันผลหุ้นละ 94.64 บาท

นั่นหมายความว่า ‘แมงเม่า C’ จะได้ปันผลรวมจาก ‘หุ้นแอปเปิล’ 12,019 บาท

แม้แต่ ‘แอปเปิล’ ยังให้ผลตอบแทนน้อยกว่า ‘แม่มณี’ อีกหรือ?

...

เรียงลำดับอีกครั้ง ฝากเงิน ลงทุน 1,000,000 บาทเท่ากัน

  • ‘แมงเม่า A’ ฝากกับ ‘แม่มณี’ ได้ 930,000 บาท
  • ‘แมงเม่า B’ ฝากกับ "ธนาคาร" ได้ 1,999-2,497 บาท
  • ‘แมงเม่า C’ ลงทุนกับ ‘หุ้นแอปเปิล’ ได้ 12,019 บาท

เห็นแบบนี้ ‘แมงเม่า A’ ได้เงินเยอะสุดและรวยเร็วสุดใช่หรือไม่?

คำตอบ "ใช่!!"

แต่หากมาดูสถานการณ์ความเป็นจริง ณ ขณะนี้ กลับกลายเป็นว่า ‘แมงเม่า’ ที่ได้เงินแน่ๆ คือ ‘แมงเม่า B และ C’ ที่แม้จะน้อย แต่ได้ชัวร์ ส่วน ‘แมงเม่า A’ ที่หอบเงินลงทุน ‘แม่มณี’ เพราะหวังผลตอบแทน 93% สุดท้ายกลับเป็น "ศูนย์"

เหตุผลเพราะอะไร?

มองออกกันหรือไม่?

‘แม่มณี’ ผลตอบแทน 93% เทียบกับธนาคาร 0.8-1% เทียบกับหุ้นแอปเปิล 1.20%

มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ ‘แม่มณี’ จะให้มากกว่าธนาคารและแอปเปิล

...

ฉะนั้น อยากฝากทิ้งไว้สำหรับ ‘นักลงทุน’ มือใหม่ทั้งหลาย ก่อนลงทุนควรฉุกคิดสักนิด ท่องให้ขึ้นใจ "การลงทุนมีความเสี่ยง" ผลตอบแทนที่ว่า 50-90% นั้นเป็นไปได้ยาก แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ยังให้ผลตอบแทนไม่ถึง 10% อย่าให้ดอกเบี้ยลวงตา ล่อใจ แล้วตกเป็น ‘แมงเม่า’ บินเข้ากองไฟซ้ำแล้วซ้ำเล่า.

ข้อมูลอ้างอิง :

  • Stock Price (04.00 p.m.ET : 07/11/2019) - Apple Inc.
  • Apple รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 | คูเปอร์ติโน่, แคลิฟอร์เนีย (30/10/2019) - Apple Inc.
  • ตารางอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ร้อยละต่อปี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 - กรุงไทย
  • ตารางอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ร้อยละต่อปี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป - ธนาคารกรุงเทพ
  • ประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 - กรุงศรี
  • ตารางอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ร้อยละต่อปี) เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 - TMB
  • ประกาศ ตารางที่ 1 อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 - ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตารางที่ 1 อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ครั้งที่ 23/2562 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 - SCB