"ว่าง" ไฟแดงๆ มองเห็นมาแต่ไกล แต่สุดท้าย "ไม่ได้นั่ง" สิ่งคุ้นตาที่หลายคนคุ้นเคย แต่ก็ยังทำใจไม่ชินสักที สำหรับ "แท็กซี่เมืองไทย" ... หลายคันแย้งบอกมีเหตุผล ทุกวันนี้ "อัตราค่าโดยสารถูกมาก" ขับไม่คุ้ม

แท็กซี่ไทยขับแล้ว "ขาดทุน" จึงต้อง "ปฏิเสธ"?


"ไม่รับ ไปเติมแก๊ส", "ไกลไป ส่งรถไม่ทัน" และ "ไม่ไป รถติด" ล้วนแต่เป็นประโยคเด็ดของ "แท็กซี่ไทย" ที่ผู้โดยสารกว่า 78% ที่เรียกใช้บริการต้องพบเจอมาแล้วทั้งนั้น ได้ยินทีไรก็พาลให้หัวเสียกันทุกที หงุดหงิดกันทุกครั้ง

แล้วทำไมแท็กซี่ไทยต้องปฏิเสธด้วยประโยคเหล่านี้?

เหตุผลคืออะไร?

...

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) พบว่า การปฏิเสธผู้โดยสารเป็นปัญหาหลักของการให้บริการแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของสถิติการร้องเรียนแท็กซี่ผ่านกรมการขนส่งทางบก ซึ่งทางฝั่ง "แท็กซี่" ให้เหตุผลว่า มันจำเป็นจริงๆ ต้องไปเติมแก๊ส ส่งกะเช่ารถ รวมถึงการจราจรติดขัด ขับไปก็ไม่คุ้ม เพราะการคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะเวลาที่ใช้อยู่จริง "ไม่สอดคล้อง" กับสภาพการจราจรและต้นทุนเวลา ได้นาทีละ 2 บาท (ความเร็วไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และส่วนใหญ่หลังจากส่งผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางแล้ว โอกาสได้ผู้โดยสารทันทีมีน้อย ต้อง "วิ่งรถเปล่า"

อีกมุมหนึ่ง คือ "อัตราค่าโดยสาร" ก็ "ถูกมาก" ไม่ได้ปรับมานานแล้วนับแต่ปี 2557 บางรายเลยเลือกรับแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติในราคาเหมา เพราะมองว่า "คุ้มกว่า"

และหากพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของการประกอบการแท็กซี่ ก็พบว่า "แท็กซี่เป็นธุรกิจที่ขาดทุน"

... ขาดทุนอย่างไร?

แท็กซี่ไทยมีรายได้จากค่าโดยสารเฉลี่ยประมาณ 1,300-1,500 บาทต่อวัน แต่มีเหลือเก็บเพียงแค่ 300-400 บาทต่อวันเท่านั้น แล้วมันหายไปไหน?

... ที่หายไป คือ "ต้นทุน" ที่คนขับแท็กซี่ต้องแบกรับ ทั้งค่าเช่ารถ ค่าผ่อนรถ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วเฉลี่ย 1,000-1,500 บาทต่อวัน บางรายจึงเลือกที่จะตอบ "ปฏิเสธ" เพื่อวิ่งระยะใกล้ เลี่ยงรถติด หวังทำรอบรับผู้โดยสาร

ซึ่งแม้แท็กซี่ไทยจะบอกว่านั่นคือ "เหตุผล" ที่ทำให้จำต้อง "ปฏิเสธ" แต่สำหรับผู้โดยสารแล้ว การถูก "ปฏิเสธ" บ่อยๆ ยิ่งทำให้มีผลต่อความอยากใช้บริการ จึงมองหาทางเลือกใหม่ ด้วยการเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน "แกร็บ" (GRAB) ที่สะดวกสบายกว่า

พอผู้โดยสารหันไปใช้บริการ "แกร็บ" มากขึ้น ก็กลายเป็นชนวนร้อน "แท็กซี่ไทย" ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา คัดค้านแนวนโยบายแกร็บที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย เกรงกระทบต่ออาชีพ และต้องการให้ปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ให้มีความเป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

...

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ไทย "ถูก" จริงหรือ?


อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุด คือ ปี 2557 โดยมีการปรับราคาเริ่มต้นสำหรับกิโลเมตรแรก เป็น 35 บาท และปรับราคาตามกิโลเมตร แบ่งเป็น ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 5.50 บาท, ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 6.50 บาท, ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 7.50 บาท, ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8 บาท, ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9 บาท และระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท

เห็นอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ไทยแล้ว คุณผู้อ่านคิดว่าถูกหรือแพง?

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จะคำนวณระยะทางกับอัตราค่าโดยสารเทียบกับเมืองอื่นๆ ให้คุณผู้อ่านได้ดูกันว่า อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ไทยนั้น "ถูก" หรือ "แพง"

แต่ก่อนอื่น เราจะมาดูกันก่อนว่า อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นที่ถูกที่สุดและแพงที่สุดอยู่แห่งหนไหนบนโลกใบนี้

Let’s GO!!

เริ่มกันที่ "อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูกที่สุดในโลก" พิกัดอยู่ที่ "มุมไบ" ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอาหรับ มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นอยู่ที่ 10 บาทเท่านั้น และอัตราตามกิโลเมตรก็อยู่ที่กิโลเมตรละ 10 บาท หากกรณีการจราจรติดขัดคิดเป็นชั่วโมงละ 44 บาท ตกนาทีละ 1 บาท รองลงมา คือ "เตหะราน" ประเทศอิหร่าน เมืองที่ใหญ่ที่สุดในแถบประเทศตะวันออกกลาง และเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 11 บาท และอัตราตามกิโลเมตรอยู่ที่กิโลเมตรละ 6 บาท หากกรณีการจราจรติดขัดคิดเป็นชั่วโมงละ 37 บาท

ซึ่ง 5 อันดับแรกที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูกที่สุดในโลก มีเมืองในประเทศอินเดียถึง 2 เมือง คือ มุมไบและโกลกาตา อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 10 บาท และ 14 บาท ตามลำดับ ขณะที่อาเซียนเองมีเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ติดอันดับอยู่ด้วย โดยมีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 13 บาท และอัตราตามกิโลเมตรอยู่ที่กิโลเมตรละ 14 บาท หากกรณีการจราจรติดขัดคิดเป็นชั่วโมงละ 39.50 บาท

แท็กซี่ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย (©Simon)
แท็กซี่ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย (©Simon)

...

มาถึง "อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นแพงที่สุดในโลก" หลายคนคิดว่าต้องเป็นเมืองใหญ่เป็นแน่ แต่ผิดคาด! กลับเป็น "วัลเลตตา" เมืองหลวงของประเทศมอลตา เกาะที่มีประชากรประมาณ 6,000 คน โดยอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นอยู่ที่ 432 บาท และมีอัตราตามกิโลเมตรอยู่ที่กิโลเมตรละ 35 บาท หากกรณีการจราจรติดขัดคิดเป็นชั่วโมงละ 519 บาท รองลงมาคือ "ออสโล" เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ และเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงอีกด้วย อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นอยู่ที่ 295 บาท และอัตราตามกิโลเมตรอยู่ที่กิโลเมตรละ 50 บาท หากกรณีการจราจรติดขัดคิดเป็นชั่วโมงละ 1,572 บาท โหดไหมล่ะ!!

ทีนี้เรามาดูกันว่า "เมืองหลวง" ในอาเซียน ประเทศไหนกันนะที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูกที่สุดและแพงที่สุด!! และประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไร?

แน่นอนว่า เมื่อ "ฮานอย" ประเทศเวียดนาม ติดอันดับ 1 ใน 5 อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูกที่สุด ก็ย่อมเป็นเมืองที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูกที่สุดในอาเซียนด้วยเช่นกัน แล้วรองลงมาคือเมืองไหน? ไล่เรียงกันตามนี้เลย

อันดับ 2 จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 14 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 13 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 91 บาท (นาทีละ 1.50 บาท)

อันดับ 3 กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 22 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 15 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 185 บาท (นาทีละ 3 บาท)

อันดับ 4 มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 24 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 8 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 72 บาท (นาทีละ 1 บาท)

อันดับ 5 พนมเปญ ประเทศกัมพูชา อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 31 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 23 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 153 บาท (นาทีละ 3 บาท)

อันดับ 6 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 35 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 5.5-10.50 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 120 บาท (นาทีละ 2 บาท)

(©sharonang)
(©sharonang)

อันดับ 7 ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา (ในที่นี้ขอใช้แทนเนปิดอว์ เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ) อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 37 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 37 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 92 บาท (นาทีละ 1.50 บาท)

อันดับ 8 เวียงจันทน์ ประเทศลาว อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 66 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 77 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 146 บาท (นาทีละ 2 บาท)

อันดับ 9 สิงคโปร์ อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 79 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 13 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 407 บาท (นาทีละ 7 บาท)

อันดับ 10 บันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 90 บาท อัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร 90 บาท กรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 399 บาท (นาทีละ 7 บาท)

หากมาดูอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ตามระยะเวลากรณีการจราจรติดขัด พบว่า ในอาเซียนที่ได้นาทีละ 2 บาท เท่ากับแท็กซี่ไทย คือ แท็กซี่เวียงจันทน์ ส่วนเมืองในอาเซียนที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูกกว่าประเทศไทยมีเพียง ฮานอย จาการ์ตา และมะนิลาเท่านั้น ที่ได้ต่ำกว่า 2 บาท

เมื่อพอจะรู้อัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นของแต่ละประเทศกันแล้ว คราวนี้เราจะมาดูกันว่า หากแท็กซี่ในแต่ละเมืองที่ยกมาข้างต้นนั้นวิ่งในระยะทางที่เท่ากัน ผู้โดยสารจะต้องจ่ายค่าบริการ (โดยประมาณ) กันเท่าไร? แท็กซี่ไทยจะถูกหรือแพงกว่าแท็กซี่เมืองอื่นๆ ขนาดไหน?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์กำหนดการเรียกใช้บริการจาก "ไทยรัฐ" ไป "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" โดยวิ่งเส้นถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

Let’s GO!!

ผลสรุปแล้ว...

จากค่าบริการโดยประมาณข้างต้นจะเห็นว่า ประเทศที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นถูก เมื่อมาวิ่งให้บริการตามระยะทางที่มากกว่า 1 กิโลเมตรแล้ว กลับต้องจ่ายค่าบริการ (โดยประมาณ) มากกว่าประเทศที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นแพงกว่า นั่นก็เพราะมีอัตราค่าโดยสารตามระยะทางต่อกิโลเมตรที่แพงกว่า

ตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร ที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นแพงกว่าเตหะราน ฮานอย กัวลาลัมเปอร์ หรือแม้แต่พนมเปญ แต่ผู้โดยสารกลับจ่ายค่าบริการถูกกว่าเมืองที่กล่าวมาข้างต้น

...ถูกกว่าขนาดไหน?

(©pandapotter)
(©pandapotter)

กรุงเทพมหานครมีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 35 บาท แต่อัตราค่าโดยสารตามระยะทางกิโลเมตรละ 5.5 บาทเท่านั้น เมื่อวิ่งให้บริการในระยะทาง 7 กิโลเมตร ผู้โดยสารจึงจ่ายค่าบริการเพียง 71-77 บาท ขณะที่ฮานอยมีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 13 บาท แต่อัตราค่าโดยสารตามระยะทางกิโลเมตรละ 14 บาท เมื่อวิ่งให้บริการในระยะทาง 7 กิโลเมตร ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าบริการมากถึง 105-115 บาท

แล้วหากรวมกับทุกเมืองที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น มีเพียง 2 เมืองเท่านั้น ที่เมื่อนำมาคิดค่าบริการตามระยะทาง 7 กิโลเมตร แล้วถูกกว่าแท็กซี่ไทย คือ ไคโร ประเทศอียิปต์ ค่าบริการ 50-51 บาท และโกลกาตา ประเทศอินเดีย ค่าบริการ 60 บาท

แท็กซี่ ณ เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย (©famhud)
แท็กซี่ ณ เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย (©famhud)

สำหรับเมืองที่มีค่าบริการแท็กซี่แพงที่สุด คือ บร็องซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าบริการ 1,108-1,162 บาท มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 230 บาท อัตราค่าโดยสารตามระยะทางกิโลเมตรละ 133 บาท ขณะที่ วัลเลตตา ประเทศมอลตา เมืองที่มีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้นแพงที่สุด 432 บาท เมื่อคิดค่าบริการในระยะทาง 7 กิโลเมตร ผู้โดยสารต้องจ่าย 663-674 บาท ถูกกว่าบร็องซ์เกือบ 500 บาท เพราะอัตราค่าโดยสารตามระยะทางเพียงกิโลเมตรละ 35 บาท

มิเตอร์แท็กซี่ดูไบ (©LollemyArtPhotography)
มิเตอร์แท็กซี่ดูไบ (©LollemyArtPhotography)

แล้วถ้าเทียบกับเมืองที่มีดัชนีค่าครองชีพ ปี 2562 ที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครอย่าง "ดูไบ" ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล่ะ?

ปรากฏว่า หากใช้บริการแท็กซี่ในระยะทาง 7 กิโลเมตรเท่ากัน ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าบริการแท็กซี่ดูไบมากถึง 212-217 บาท แพงกว่าแท็กซี่ไทย 140 บาท โดยดูไบมีอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 100 บาท อัตราค่าโดยสารตามระยะทางกิโลเมตรละ 17 บาท หากกรณีจราจรติดขัดชั่วโมงละ 208 บาท ตกนาทีละ 3.50 บาท

เมื่อค่าบริการออกมาแบบนี้แล้ว คุณผู้อ่านคิดว่า แท็กซี่ไทยถูกหรือแพง?

————-

ข้อมูลอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ของประเทศไทยจาก กรมการขนส่ง
ข้อมูลอัตราค่าโดยสารแท็กซี่แต่ละประเทศจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพ NUMBEO