หลังจากที่เข้าใจ “พลัง” ในการสื่อสารของอินฟลูเอนเซอร์ไปแล้วนั้น วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชวนพูดคุยกับเจ้าของแชแนลชื่อดัง “BearHug” อรรถกร รัตนารมย์ หรือ กานต์ BearHug ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามแชแนล 2.6 ล้านคน
แบรนด์เลือก Influencer
กานต์ BearHug เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ต่างๆ หันมาลงโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ว่า ที่ผ่านมาคิดว่ามีปัจจัยหลักๆ คือ...
- ยอดวิวมาก ทำให้คนเห็นมากตามไปด้วย
- ภาพลักษณ์ของอินฟลูเอนเซอร์มีผลต่อแบรนด์ ทำให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือ บางคนยอดผู้ติดตามเยอะ แต่มีภาพลักษณ์ที่ดีทำให้แบรนด์เข้าหาได้ เรียกราคาสูงได้
- ความเข้ากันได้ระหว่างอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ เช่น เป็นเจ้าของร้านอาหารต้องเน้นกลุ่มรายการอาหาร หรือขายของตกแต่งบ้านต้องเน้นกลุ่ม DIY
“เรื่องภาพลักษณ์นั้น เท่าที่มีประสบการณ์ YouTuber เกิดมาจากความเป็นตัวเอง ดังนั้นเรื่องภาพลักษณ์ไม่ต้องฝืนหรือรักษามากเหมือนดารา เพราะตัวเขาเติบโตจากตัวเอง แสดงภาพลักษณ์ออกมาแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร”
...
Influencer เลือกแบรนด์
โดยทั่วไปแล้ว แชแนล BearHug จะเลือกสื่อสารให้แบรนด์ไหนบ้างจาก 2 เหตุผล คือ
1.การมีส่วนร่วมกับแบรนด์
กานต์ บอกว่า ส่วนใหญ่ปัจจัยที่เลือกมักจะเกี่ยวกับตัวเองเป็นหลัก เช่น แบรนด์เสื้อผ้า แบรนด์นี้ซื้ออยู่เป็นประจำ หรือแบรนด์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะจะทำให้สามารถอธิบายสรรพคุณของสินค้าต่างๆ ได้ เนื่องจากใช้เอง
2.คอนเทนต์น่าสนใจ
“บางแบรนด์ไม่เคยใช้ แต่ให้คอนเทนต์ที่เจ๋งต่อโลก แต่ไม่มีใครเอากล้องไปถ่ายให้ เช่น โรงงานถุงเท้า เราใช้ถุงเท้า แต่เราได้เข้าไปดูในโรงงาน ได้เปิดโลกให้กับคนดู เห็นมุมมองที่เจ้าของกิจการมีต่อลูกจ้าง หรือแบรนด์รถยนต์ ให้ไปดูโครงการที่ทำกับชุมชน ปลูกต้นไม้ ถ้าเป็นคนทั่วไปโอกาสเข้าไปดูจะยากมาก ขณะที่แชแนลเรามีโอกาสเข้าไปดู ซึ่งคอนเทนต์เขาน่าสนใจก็จะรับไว้”
นอกเหนือจากนี้ กานต์ บอกว่า บางกรณีตัวของอินฟลูเอนเซอร์อาจจะไม่ชอบแบรนด์ แต่มีปัจจัยเรื่องของ "งบประมาณ" ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ได้ผิด เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนดูอาจจะชอบสิ่งนี้ก็ได้ เพียงแต่อินฟลูเอนเซอร์มีหน้าที่ส่งสารไปยังคนดูเท่านั้น และได้เงินทุนมาสานฝันของต่อไป
“ถามว่า ลักษณะแบบไหนที่ไม่รับลงโฆษณาเลย ผมคิดว่าน่าจะเป็นของที่ไม่ได้ใช้ ของที่ไม่กล้าจะพูดขาย อย่างเช่น สกินแคร์ เราได้รับการติดต่อเข้ามาหลายเจ้า แต่ไม่กล้ารับ เนื่องจากเคลมเยอะ ประกอบกับไม่รู้ว่ามีผลวิจัยอะไรมารองรับหรือไม่ เสี่ยงต่อตัวเราและผู้ชมในแชแนลของเรา หรืออย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยากให้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผมเองก็ไม่กล้าที่จะรับครับ”
เทคนิคผู้ส่งสารสู่ผู้บริโภค
กานต์ เล่าต่อว่า เมื่อก่อนแชแนล BearHug จะมีการจัดเป็นแพ็กเกจให้ทุกๆ แพลตฟอร์ม แต่ช่วงหลังไม่ค่อยมีเวลา ส่วนใหญ่จะลงแต่ YouTube อย่างเดียว เพราะมองว่า Facebook เป็นช่องทางสื่อสารกับผู้ชม การจะมาขายของบนแพลตฟอร์มนี้คงไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ส่วน Instragram จะลงรูปภาพส่วนตัวมากกว่า จึงมองว่า การจะลงแพลตฟอร์มไหน ขึ้นอยู่กับความถนัดของอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคน
สำหรับแชแนลของ BearHug นั้น การลงโฆษณาจะมีทั้ง 2 รูปแบบคือ "ขายของช่วงแรก" และ "ขายของทั้งตอน" แต่กรณี Burning Ad ที่ทำโฆษณา 2 นาทีในคลิป มองว่า อนาคต YouTube จะออกกฎแบน ซึ่งปัจจุบันถูกแบนแล้วในสหรัฐฯ จึงทำให้ในแชแนล BearHug ไม่ได้ทำ Burning Ad
...
“การลงโฆษณาส่วนใหญ่จะมีการโชว์ให้เห็นชัดเจน และ Tie In ซึ่งคลิปส่วนมากที่แชแนล BearHug ทำ จะบอกผู้ชมเลยว่า ได้รับสปอนเซอร์จากแบรนด์นี้มา รวมทั้งตัวเราเองคิดแบบ Tie In ไม่เก่ง ไม่ถนัด แต่จะบอกตรงๆ เลย เป็นความถนัดส่วนบุคคลมากกว่า ไม่ได้ทำได้กับทุกแชแนล”
อินฟลูเอนเซอร์ สร้างการรับรู้ ไม่ได้การันตียอดขาย?
เจ้าของแชแนล BearHug กล่าวว่า หลังจากที่สร้างคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งไปแล้วนั้น จะมีการสื่อสารกับลูกค้าอยู่เรื่อยๆ ถึงฟีดแบ็กว่าเป็นอย่างไร โดยบางแบรนด์ก็ได้ผล ขณะที่บางแบรนด์ไม่ได้ผล เพราะเวลาที่สร้างคอนเทนต์ให้ไม่ได้แปลว่าแบรนด์จะขายของได้
ดังนั้น สิ่งที่คนเป็น YouTuber สามารถการันตีได้ คือ การสร้างการรับรู้ในกลุ่มแฟนๆ ของแชแนลนั้น ส่วนการที่คนไปซื้อสินค้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสินค้าของแบรนด์ด้วย มองว่าทั้งอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย
“ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่อินฟลูเอนเซอร์จะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภค เพราะว่าจริงๆ เรามีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าจากคนใกล้ตัวอยู่แล้ว ส่วนอินฟลูเอนเซอร์เหมือนเพื่อนของผู้ชม เกรดจะไม่เหมือนกับดารา จะมีความเป็นเพื่อนมากกว่า ภาพลักษณ์ไม่ได้สวยงามเทียบเท่ากับดารา ดังนั้นผู้บริโภคจึงให้ความสนิท ใกล้ชิดเหมือนเพื่อนแนะนำเพื่อนมากกว่า”
...
ภาษี กับ YouTuber
ที่ผ่านมา การทำรายได้บนโลกออนไลน์สร้างเม็ดเงินมหาศาล ทำให้กรมสรรพากรต้องออกกฎหมายมาควบคุมในเรื่องการเสียภาษีของกลุ่มเน็ตไอดอลทั้งหลาย ซึ่ง BearHug เองก็เคยโดยเรียกไปสอบถามเช่นกัน และได้เผยแพร่คลิปวิดีโอในวันที่ต้องเข้าไปชี้แจงเรื่องภาษีกับกรมสรรพากรด้วย
กานต์ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เนื่องจากทางบริษัทยื่นเอกสารการเสียภาษีไม่ครบ เพราะยังเป็นมือใหม่ในเรื่องนี้ จึงต้องไปค้นหาเอกสารมาชี้แจงที่มาที่ไปของรายได้ให้สรรพากรทราบ และเรื่องการเก็บภาษีของ YouTuber เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งไม่ทราบว่าหากจะเก็บภาษีกับกลุ่ม YouTuber ต้องเข้าหมวดวงเล็บไหน และลักษณะการเกิดรายได้เป็นอย่างไร เพราะว่าการรับจ้างทำโปรดักชั่นคล้ายกับเน็ตไอดอลที่ถือรีวิวสินค้า รวมถึงแหล่งรายได้จ่ายมาจาก YouTube ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ต่างประเทศ เรื่องนี้จะซับซ้อนมาก
...
“หลังจากที่เคลียร์กับสรรพากรนั้น เราบอกหมดเลยว่ามีรายได้จากช่องทางไหนบ้างเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้อยากมีปัญหากับสรรพากร ซึ่งเขาก็เข้าใจเรา สรรพากรไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ขอให้เขาช่วยดูหน่อยว่ารายได้ของเราอยู่ในข้อไหน เขาก็จะช่วยคำนวณมาให้ และให้คำแนะนำด้วยว่าเราต้องรับงานอย่างไร ออกเอกสารอย่างไร สรุปก็ถือเป็นเรื่องปกติที่จะทำได้ต่อสรรพากร สามารถคุยขอคำแนะนำได้ครับ”
ท้ายที่สุดนี้ กานต์ ฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วยว่า แค่อยากมีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเริ่มจากการทำด้วยหัวใจก่อน มีใจรัก ส่วนเรื่องรายได้ถือเป็นกำไรชีวิต อย่าเอาเงินเป็นที่ตั้ง เพราะที่สุดแล้วก็จะเหมือนคนทั่วๆ ไป เมื่อถึงจังหวะหนึ่งก็ร่วงลงมา และไม่มีใครจะจำคุณได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ครองใจโซเชียล โฆษณาวิ่งหา "อินฟลูเอนเซอร์" ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคออนไลน์