จากตอนที่แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอเบื้องหลังวงการมวยเด็ก เจาะเรตค่าตัวไฟท์แรกจากหลักร้อยสู่หลักหมื่นในวัยไม่ถึง 15 ปี โดยเด็กที่เข้ามาในวงการล้วนแล้วแต่ต้องมี “ใจรัก” เพราะการฝึกซ้อมค่อนข้างหนัก แต่เมื่อโตขึ้นจึงจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

สำหรับในตอนนี้ ขอนำเสนอในอีกมุมหนึ่ง โดยกางผลวิจัยของไทยและต่างประเทศเทียบให้เห็นถึงความอันตรายหากมีการชกมวยจนเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ รวมทั้งเหตุใดในหลายประเทศถึงได้คัดค้านการชกมวยในเด็ก....

แพทย์ เตือน ชกมวยเด็กจนกระเทือนสมอง อนาคตอาจมีอาการคล้าย “พาร์กินสัน”

ดร.นพ.วิทยา สังขรัตน์ หัวหน้าโครงการศูนย์รังสี วินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในงานวิจัยด้านสมองของนักมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น พบว่าใยประสาทและเซลล์สมองฉีกขาดออกจากกัน โดยเกิดจากแรงกระแทกบริเวณศีรษะ

...

และในแต่ละแมตช์การแข่งขันจะมีการกระทบกระเทือนทางสมอง มากกว่า 20 ครั้งต่อแมตช์ และในประเทศไทยมีนักมวยที่อายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นแสนคน นักมวยเด็กจะขึ้นเวทีทั่วไปตามวัด ตำบล อำเภอ ที่จัดงาน “มวยเด็กได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่ามวยผู้ใหญ่ เพราะมวยเด็กไม่เคยล้มมวย"

สำหรับผลกระทบต่อร่างกายในอนาคตสมองต้องถูกกระทบกระเทือนเป็นเวลากี่ปีจึงจะเกิดผลนั้น ตอบได้ยาก เพราะบางครั้งโดนหนัก แต่บางครั้งโดนไม่หนัก โดยหากกระทบกระเทือนมาก อนาคตอาจจะมีอาการคล้าย “พาร์กินสัน” มีอาการสั่น ควบคุมกล้ามเนื้อได้ไม่ดี ความจำเสื่อม และสมองส่วนหน้ามีความเสียหาย และมีธาตุเหล็กสะสม การวางแผนชีวิต การตัดสินใจ อาจเสียหายไปด้วย

สวม “เฮดการ์ด” ป้องกัน ไม่ช่วยอะไร?

ดร.นพ.วิทยา ให้ความเห็นด้วยว่า ตนเห็นด้วยหากการชกมวยเป็นการฝึกให้ร่างกายแข็งแรง เป็นการแข่งกีฬา เพียงแต่อยากวอนขอเพียงข้อเดียวคือ “อย่าโดนหัว” ถึงแม้ว่าจะมีการใส่ “เฮดการ์ด” ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันได้มาก เนื่องจากสมองลอยอยู่ในน้ำ และรอบๆ สมองมีเส้นใยประสาทยึดอยู่ เมื่อโดนของแข็งกระแทก เนื้อสมองก็จะไปกระแทกกับกะโหลก

อีกส่วนหนึ่ง คือ เนื้อสมองมีองค์ประกอบหลายอย่าง คือ สมองเนื้อสีเทา (Gray matter) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และการให้ความรู้สึก ทั้งประสาทสัมผัส ความนึกคิด ความจำ การเห็น การพูด การได้ยิน และ สมองเนื้อสีขาว (White matter) มีหน้าที่ในการช่วยส่งสัญญาณกระแสประสาทที่ออกจากเซลล์ประสาท

สมองทั้งคู่มีความหนาแน่น น้ำหนักที่ไม่เท่ากัน เมื่อรับแรงกระแทกมา สมองที่ไม่เท่ากันก็ทำให้เกิดการปริ ฉีก แยกออกจากกัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายทางสมอง ทำให้ผลการวิจัย พบเลือดออกในสมองเล็กน้อย และเจอใยประสาทเสียหาย แม้ต่อให้ใส่เฮดการ์ดป้องกันก็ไม่ได้ช่วย ไม่ได้ทำให้สมองกระเทือนน้อยลง

“นักมวยเด็กบางคนบอกว่า ช่วงเทศกาล 2-3 วัน ขึ้นชกครั้งหนึ่ง เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามเด็กขึ้นชก และก็มักจะไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันด้วย เด็กบอกว่า ยิ่งใส่ยิ่งโดนหนัก และเกะกะ มวยไทยอาวุธครบเครื่อง การที่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน จะทำให้บังสายตา จึงไม่นิยมใส่เฮดการ์ด” ดร.นพ.วิทยา เปิดเผยหลังจากได้พูดคุยกับเด็กในการทำงานวิจัย

...

แพทย์ แนะ ออกกติกา ห้ามโดนหัว โดนน็อก พักฟื้น 30-50 วัน

ดร.นพ.วิทยา มองว่า หากมีกฎกติกาสำหรับเด็กอายุยังไม่ถึง 15 ปี เช่น ห้ามตั้งใจให้โดนหัว ใครต่อยโดนหัวติดลบคะแนน หรือชกอย่างไรให้โดนหัวน้อยที่สุด ไม่โดนหัวได้เลยยิ่งดี

เมื่อเปรียบเทียบกับกีฬาชนิดอื่นก็มีการกระทบกระเทือนศีรษะเช่นกัน อย่างอเมริกันฟุตบอล แต่ก็มีกฎชัดเจนว่า ต้องหยุดงาน เล่นไม่ได้อีกนาน

ขณะที่ มวยไทยไม่มีกฎควบคุม สมมติว่า วันนี้โดนไปหนักๆ อีก 2-3 วันต่อมามีแมตช์สำคัญ สมองอาจจะยังไม่ฟื้นตัวก็ต้องไปแข่งต่อ แต่ถ้ากฎหมายออกมา จะมีกฎควบคุมให้ทำตามมาตรฐานความปลอดภัย หรืออาจจะต้องมีกฎตามหลังมาว่า หากโดนน็อกจะต้องหยุดพัก 30-50 วัน อย่างในบางประเทศให้หยุดพัก 30 วัน บางประเทศ 21 วัน

...

กางงานวิจัย เปิดเหตุผลเบื้องลึก หลายประเทศคัดค้านการชกมวยเด็ก

นพ.สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยากายวิภาค ให้ข้อมูลว่า เด็ก หรือเยาวชน กะโหลกยังไม่ได้ขยายเต็มที่ ช่องว่างในกะโหลกมีน้อย จึงทำให้พื้นที่สำหรับรองรับการบวมของสมองแทบไม่มี ฉะนั้นหากสมองเกิดอาการบวมแม้แค่เพียงเล็กน้อยก็มีความเสี่ยงต่อชีวิตได้แล้ว

ยกตัวอย่างการศึกษาของ American Academy of Pediatrics 2011 โดยศึกษาจากเยาวชนชายหญิงที่อายุน้อยกว่า 19 ปีในอเมริกาเหนือ มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของศีรษะและใบหน้า และยังพบว่ามีนักมวยมากกว่า 339 ราย เสียชีวิตจากการชกมวยบนเวที ข้างเวที และในห้องแต่งตัว ในรอบ 57 ปีที่ผ่านมา ยังไม่นับพวกที่พิการ หรือทุพพลภาพ อันเป็นผลกระทบจากการชกมวย องค์กรแพทย์จึงคัดค้านการชกมวยในเด็กและวัยรุ่น

ขณะที่ การศึกษาของ Baird LC และคณะ 2010 พบการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะจากการชกมวย พบว่า ระหว่างปี 1950 ถึง 2007 มีการตายจำนวน 339 คน อายุเฉลี่ย 24+|-3.8 ปี โดย 64% สัมพันธ์กับ knockout และ 15% จาก technical knockout และการชกในน้ำหนักพิกัดที่น้อยมีจำนวนการตายที่มากกว่าการชกในน้ำหนักที่มีพิกัดมากกว่า และตั้งแต่ลดจำนวนยกจาก 15 ยก เหลือเพียง 12 ยกนั้น พบว่ามีจำนวนการตายที่ลดลง และการเพิ่มความปลอดภัยทางการแพทย์ในการชกมวยจะช่วยลดการตายจากการชกมวยได้

...

และผลการวิจัยรายงานหนึ่งพบว่า กีฬาชกมวยในกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 16 ปี ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดอาการสลบ มากกว่า 1.14% ขึ้นไป ในขณะกีฬาประเภทอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดอาการสลบไม่ต่างกัน เช่น กีฬารักบี้ หรือกีฬาฮอกกี้ กลับพบความเสี่ยง ไม่ถึง 0.31% และ​ 0.28%​ ตามลำดับ

นั่นจึงเป็นเหตุให้สมาคมการแพทย์เด็กในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มีข้อแนะนำว่า กีฬาชกมวยเป็นกีฬาที่ไม่ควรให้เด็ก หรือเยาวชนเล่น เนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่ปลอดภัย

ช่องโหว่กฎหมายมวย ไม่ขีดเส้นเด็กอายุกี่ปี ห้ามขึ้นชก

ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 เพื่อบังคับใช้ควบคุมกีฬามวยเพื่อความปลอดภัย แต่กลับพบว่ากฎหมายเปิดช่องให้ “เด็ก” สามารถขึ้นชกมวยเป็นอาชีพได้ อย่างเช่น...

มาตรา 29 “นักมวยที่จะจดทะเบียนได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว อาจทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬามวยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก”

มาตรา 32 “การจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นนักมวย ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน”

มาตรา 16 “ให้คณะกรรมการจัดให้มีระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวยเพื่อใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬามวย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึง อายุ เพศ ความปลอดภัยของนักมวย และจารีตประเพณีในการแข่งขันกีฬามวย”

น.ส.ณัฐฐา กีนะพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า จากกฎหมายกีฬามวยนั้น ไม่ได้กำหนดว่าเด็กอายุกี่ปีห้ามขึ้นชกมวย อีกทั้งการคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุชัดเจนด้วย

เด็กไม่ใช่นักมวย เคส “เพชรมงคล” ละเมิดสิทธิเด็ก

เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ยังอธิบายเสริมด้วยว่า เด็กมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และได้รับการปกป้องคุ้มครองและการพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงสูงสุด คือ ผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กบอกไว้อย่างชัดเจน ว่า เด็กมีสิทธิที่จะเล่นกีฬา ทำกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมกับวัย แต่จะต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ

และเด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการทำงานอะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ในเคสดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างชัดเจน เพราะว่าส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้เด็กเสียชีวิต

ส่งลูกขึ้นชกมวย ผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก แม้เด็กยินยอม

การที่พ่อแม่ส่งลูกไปชกมวยตั้งแต่อายุ 8 ขวบนั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งตามมาตรา 26 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามบุคคลใดๆ บังคับขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือกระทำอันใดก็ตามเพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์ทางการค้า หรือว่าขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมเด็ก

ข้อนี้ จึงชัดเจนว่าห้ามเด็กกระทำอันใดก็ตามที่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการหรือการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นกีฬาชกมวยอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการกระทำอื่นๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า หรือขัดขวางการเจริญเติบโตของเด็ก แม้เด็กจะยินยอม แต่ด้วยความเป็นเด็กอาจจะไม่ได้มีวิจารณญาณเพียงพอที่จะเข้าใจ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก

“ทางยูนิเซฟเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และอยากเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจทางนโยบาย ออกกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เราจะต้องมองว่าเขาเป็นเด็ก มากกว่าเป็นนักมวย และไม่ว่าเราจะมองว่ามวยเป็นกีฬา หรือกิจกรรมสันทนาการ การเข้าร่วมของเด็กต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือพัฒนาการ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

ฝ่ายคัดค้านห้ามเด็กต่อยมวย เพื่อปกป้องคุ้มครองอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก และฝ่ายที่สนับสนุน เพราะคงไว้ซึ่งศิลปะของชาติและการฝึกฝนให้เก่งกาจตั้งแต่อายุยังน้อย การถอยคนละครึ่งทางคืออะไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปหาคำตอบมา.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง