จากกรณี “เพชรมงคล ส.วิไลทอง” หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก นักมวยเด็กวัย 13 ปี ขึ้นชกถูกคู่ต่อสู้กระหน่ำหมัดใส่ หัวกระแทกพื้นสลบคาเวทีก่อนสิ้นลม โดยลุงเผยหลานชกมวยมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เป็นเด็กกำพร้าตั้งใจฝึกซ้อมหาเลี้ยงตัวเองนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปเจาะลึกวงการมวยเด็ก เปิดเรตค่าตัวไฟต์แรกจากหลักร้อยสู่หลักหมื่นในวัยไม่ถึง 15 ปี

...

เจาะค่าตัวนักมวยรุ่นจิ๋วยุคใหม่ 8 ขวบรับ 300-500 บาทต่อไฟต์

สุนทร อู่ทอง ผู้ดูแลค่าย ส.สมหมาย อ.ขวัญเมือง ให้ข้อมูลว่า เด็กจะเริ่มต้นชกมวยตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ โดยฝึกซ้อมจากพ่อหรือฝึกในค่ายมวย ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุยังน้อยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีถิ่นฐานอยู่ในแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยมีต้นเหตุของการเริ่มชกมวยมาจากครอบครัวไม่ค่อยมีเงิน การชกมวยก็เหมือนเป็นการเลี้ยงดูครอบครัว เป็นทุนการศึกษาของเด็ก

สำหรับเรตค่าตัวนักมวยเด็กนั้น

เริ่มต้นน้ำหนัก 26 กก. อายุราว 7-8 ขวบ จะได้ค่าตัว 300-500 บาทต่อการขึ้นชก 1 ครั้ง โดยหากเป็นมวยไม่มีชื่อค่าตัวจะอยู่ที่ 300 บาท 

น้ำหนัก 36-40 กก. อายุราว 12-13 ขวบ จะได้ค่าตัว 3,000-10,000 บาทต่อการขึ้นชก 1 ครั้ง ค่าตัวจะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ มีแฟนมวยติดตาม มีชื่อเสียง ทำให้นักมวยเด็กบางคนได้ค่าตัวเป็นหมื่นบาทก็มี เพราะชกมานานเป็นมวยรอง มวยเอก

นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษหากมีการเดิมพันอีก 10% เช่น เดิมพันข้างละ 50,000 บาท หากชนะก็จะได้ 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วนักมวยจะขึ้นชกเดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย หากมีคู่ชกที่เหมาะสมกันทั้งเรื่องน้ำหนัก ฝีมือการชกที่สูสีกันก็จะได้ขึ้นชกบ่อยครั้งขึ้น

นักมวยรุ่นจิ๋ว ขึ้นบัญชี กกท.กว่า 1.1 หมื่นราย

นายประเสริฐ ตันมี ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2544 จนถึงเดือนตุลาคม 2561 พบว่า มีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขึ้นบัญชีเป็นนักมวย จำนวน 11,013 คน แบ่งเป็นส่วนกลาง 1,855 คน และ ส่วนภูมิภาค 9,158 คน

“การแข่งขันกีฬาบางชนิด และบางรายการนั้น จะกำหนดว่า ห้ามนักมวยที่ชกอาชีพไปทำการแข่งขัน จึงเป็นช่องที่ทำให้นักมวยหลายคนเลือกที่จะไม่ขึ้นบัญชีเป็นนักมวยตามกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถทำการแข่งขันได้หลากหลาย จึงประเมินยากว่านักมวยนอกบัญชีมีประมาณกี่คน” ผอ.สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ให้ความเห็น

สวัสดิการ การคุ้มครองสิทธิ์ของนักมวยที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับนักมวยที่อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่จดทะเบียนนั้น จะได้รับสวัสดิการและสิทธิ์คุ้มครอง เช่น

1.การปลอบขวัญนักมวยที่มีผลงานดีเด่น

2.ค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เบิกไม่ได้จากสิทธิ์ 30 บาทหรือสิทธิ์ข้าราชการ นักมวยสามารถมาขอเบิกได้

...

3.เงินช่วยเหลือเพื่อดำรงชีพ จำนวน 3,000-10,000 บาท ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป เพื่ออุปการะเลี้ยงดูรายเดือนสำหรับนักมวยที่ป่วยเป็นโรคที่กำหนด 48 โรค หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง และนักมวยยากไร้ ไม่มีงานทำ ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู รวมทั้งหมดจำนวน 190 กว่าคนที่ช่วยเหลืออยู่

4.ประกันอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการชก ซึ่งการจัดการแข่งขันจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้วย ตาม พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คือ 1.จัดให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจสุขภาพของนักมวยแต่ละคนก่อนการแข่งขันกีฬามวย เพื่อรับรองว่านักมวยมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมทำการแข่งขัน 2.จัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบันหรือพยาบาลวิชาชีพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ประจำสนามมวยในขณะที่มีการแข่งขัน และ 3.จัดให้มีการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวย อย่างกรณีนักมวยเสียชีวิตประกันต้องรับจ่าย และคนที่รับผิดชอบอย่างโปรโมเตอร์ หัวหน้าค่ายก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ส่วนกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ขึ้นบัญชีอย่างถูกกฎหมายนั้น จะต้องมีสังกัดค่ายมวย มีสัญญา ผู้ปกครองต้องยินยอม จึงจะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และประกันกรณีเสียชีวิตฉุกเฉิน

...

“กรณีของเพชรมงคล ขึ้นบัญชีเป็นนักมวยอย่างถูกกฎหมาย มีสังกัดมีสัญญาโดยไปจดไว้ที่ จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็ต้องดูกระบวนการที่จัดแข่งขันด้วยว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นการจัดแข่งขันชั่วคราว เสร็จงานแล้วก็เก็บของจนหมด” ผอ.สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กล่าว

กว่าจะมาเป็นยอดมวย “เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง” ค่าตัวไฟต์ละร้อย!

เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง หรือ ครูเป็ด อดีตยอดมวยไทยชื่อดัง เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ส่วนตัวนั้น ฝึกมวยตั้งแต่อายุ 10-11 ขวบ ตอนนั้นฝึกที่บ้านเกิด ใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งสมัยก่อนทุกค่ายก็ฝึกมวยกันตั้งแต่เด็กๆ มีชกกันบ่อยครั้ง ครอบครัวลำบาก ต่อยมวยเลี้ยงตัวเอง แต่สมัยนี้แทบจะไม่มีมวยต่อยแล้ว มีแต่คนรุ่นใหม่ เล่นโทรศัพท์มือถือกัน ไม่ได้ยากลำบากเหมือนเมื่อก่อน

“ตอนนั้นครอบครัวผมก็ไม่ได้ลำบาก แต่ที่อยากต่อยมวยเพราะใจรัก ดูมวยตู้แล้วชอบ มาเล่นกับน้องชายพี่ชาย จนได้มีโอกาสฝึกฝนมวยไทยอย่างจริงจังจำได้ว่า ครั้งแรกที่ขึ้นชกได้ไฟต์ละ 100 บาท ช่วงนั้น 20 กว่าวันถึงจะได้ต่อยสักครั้ง แต่ครอบครัวก็ไม่ได้ว่าเรื่องต่อยมวย แถมยังสนับสนุนอีก เพราะได้ออกกำลังกาย” อดีตนักมวย เล่าย้อนอดีต

...

ก้าวแรกสู่สังเวียน เพราะ “ใจรัก” ก่อนอัพเลเวลสู่นักชกยอดฝีมือ

เจริญทอง ยังกล่าวด้วยว่า สมัยนี้ครอบครัวไม่ถึงขั้นยากจนมากถึงขนาดต้องส่งลูกชกมวยหาเงินเลี้ยงครอบครัว เพราะว่า เงินไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่เมื่อโตขึ้นมาเรื่อยๆ สามารถสั่งสมประสบการณ์ ค่าตัวแพงขึ้น ตอนนั้นถึงจะเลี้ยงดูครอบครัวได้

“พ่อแม่อยากให้ลูกเล่นกีฬาดีกว่าไปทำอย่างอื่น ส่วนลูกก็มีใจรัก ถ้าบังคับกันคงไม่มีใครอยากทำ เพราะว่าการซ้อมมวยแต่ละครั้งนั้น เหนื่อยมาก วิ่งหนักมาก ขนาดผมเองยังเคยร้องไห้กับความเหนื่อยมาแล้ว” ยอดนักมวยมากประสบการณ์ กล่าว

ไม่หัดมวยแต่เด็ก ไม่เก่งจริงหรือ? ทีมข่าวตั้งคำถาม โดยเจริญทอง ตอบว่า ไม่ว่าจะเล่นกีฬาชนิดใดก็แล้วแต่ จะต้องเริ่มฝึกหัดตั้งแต่เด็กๆ มวยไทยก็เช่นกัน หากต่างชาติฝึกมวยพร้อมๆ กันในอายุเท่ากันกับคนไทย ก็คงสู้ต่างชาติไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะคนไทยเสียเปรียบที่สรีระร่างกายตัวเล็กกว่ามาก ถ้านักมวยได้รับการฝึกซ้อมตั้งแต่เด็กประสบการณ์การเป็นมวยก็จะสูง ถึงแม้จะตัวเล็กกว่าก็สู้ต่างชาติได้สบาย นักมวยเมืองไทยที่ดังๆ หลายคนก็เริ่มฝึกตั้งแต่เด็กๆ ทั้งนั้น

ระยะเวลาพัก จำนวนยก วิธีป้องกันไม่ให้นักมวยบาดเจ็บ

เจริญทอง เผยว่า สำหรับการขึ้นชกมวยมีวิธีป้องกันการบาดเจ็บได้หลายอย่าง เช่น ระยะเวลาในการพัก ระยะเวลาการต่อยต่อยก จำนวนยก และกรรมการก็ช่วยเซฟนักมวยทุกวินาที ส่วนการใส่เฮดการ์ดนั้น โดยทั่วไปแล้วศาสตร์ของมวยไทย ไม่มีเครื่องป้องกัน ส่วนการเจ็บตัวแต่ละครั้ง มักจะเป็นที่หน้าแข็งเวลาเตะไปโดนกระดูกของคู่ต่อสู้ แต่หากซ้อมอยู่บ่อยๆ ก็จะไม่เจ็บ นอกจากนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องต่อยกันจนน็อก แต่สามารถชนะด้วยคะแนนก็ได้

“ตัวผมเองไม่เคยเจ็บตัวหนักๆ เลย ผมว่าอกหักเจ็บมากกว่าอีก แต่เคยโดนน็อกนะ เป็นเรื่องปกติของนักมวย อาการมันก็รู้สึกตัวปกติแหละ ร่างกายเราได้รับการฝึกซ้อมมาอย่างดี แข็งแรง ฟื้นตัวเร็ว มวยต่อยเสร็จก็หายแล้ว” อดีตยอดมวยไทยชื่อดัง เล่าประสบการณ์

"เจริญทอง" ค้านแหลก ไม่ให้เด็กต่ำกว่า 12 ขึ้นชก

นอกจากนี้ เจริญทอง ยังฝากด้วยว่า เด็กบ้านนอกหลายคนไม่ได้ไปขึ้นบัญชีเป็นนักมวยกับการกีฬาแห่งประเทศไทยทุกคน เพราะว่าบางครั้งกว่าจะเข้าไปในตัวเมืองได้ การเดินทางก็ยากลำบาก อีกทั้ง การจัดมวยนั้น จะต้องไปขออนุญาตจัดการแข่งขัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ถามว่า ทางกกท.ได้เข้าไปดูแลเรื่องนี้หรือไม่ หรือโยนความผิดให้แต่นักมวย

“ผมมองว่า การกำหนดไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก มันทำให้เด็กเสียโอกาส เพราะต้นทุนของคนเรามันไม่เท่ากัน ประเด็นนี้ผมขอค้าน ทุกวันนี้ผมมีวันนี้ได้ ผมปลดหนี้ให้ครอบครัว เลี้ยงดูที่บ้านได้ ก็เพราะชกมวยมาตั้งแต่เด็กๆ ถ้าไม่มีวันนั้น ทุกวันนี้ผมอาจจะเป็นเด็กติดยาไปแล้วก็ได้ ผมมองว่า การชกมวยเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ได้ออกกำลังกาย ดีกว่าไปทำเรื่องที่ไม่ดีอีก ลองคิดดูนะครับ” อดีตนักมวยรุ่นเก๋า ฝากทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ในตอนหน้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความเข้าใจในอีกมุมมองหนึ่ง เหตุใดในหลายประเทศถึงได้คัดค้านการชกมวยเด็ก โปรดติดตามต่อได้ในวันพรุ่งนี้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน