เมื่อรัฐบาลใจดีคืนภาษีให้คนจน แต่หลายคนยังงงๆ วิธีการคิดสตางค์ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไล่เรียงเอาไว้ง่ายๆ ให้เข้าใจไม่ต้องเกาหัว...

- ขอเกริ่นสักนิดว่า ความใจดีของรัฐบาลมาจาก เมื่อคนจน (รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) ไปซื้อสินค้า พวกเขาควรได้รับการดูแลเรื่องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอันที่จริงแล้ว คนจนไม่ควรเสียภาษีเท่าคนที่รวยกว่า

- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า นี่ไม่ได้หมายความว่า คนจนไม่ต้องจ่ายภาษี แต่นโยบายนี้จะทำให้คนจนจ่ายภาษีน้อยลง

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

- น้อยลงในที่นี้คือ จากเดิมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% แต่คนจนจะจ่ายเพียง 1% เท่านั้น (แต่คนจนต้องจ่ายเต็มก่อน และรัฐบาลจะคืนให้ทีหลัง)

- โดยสูตรคำนวณภาษี คือ 1: 5 : 1

- ส่วนที่ 1 จำนวน 1% หมายถึง เวลาคนจนไปซื้อสินค้า คุณต้องจ่ายภาษี 1% (ปกติจ่าย 7%)

...

- ส่วนที่ 2 จำนวน 5% หมายถึง คนจนจะได้รับคืนเงิน จากการโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money) ทุกวันที่ 15 ของเดือน และทีมข่าวขอเน้นตรงนี้ไว้เลยว่า “เงินส่วนนี้สามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้ได้”

- ส่วนที่ 3 จำนวน 1% หมายถึง เงินจำนวนนี้จะเก็บเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติของคนจน เพื่อเป็นเงินออมให้คุณไว้ใช้ในภายภาคหน้า

- ทั้งนี้ทั้งนั้น คนจนต้องซื้อข้าวซื้อของในร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น เพราะรัฐบาลเขาติดตั้งเครื่องอ่านบัตร (เครื่องรูดบัตร EDC) ไว้ในร้านพวกนี้ ซึ่งเครื่องนี้จะคำนวณประเภทสินค้า และแยกจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ทุกๆ ครั้งที่คนจนใช้จ่าย

- สิ่งที่คุณควรรู้ คือ สินค้าบางรายการไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น เนื้อหมู, เนื้อเป็ด, เนื้อไก่, ผัก หรือของสดต่างๆ ตามตลาดสด 

- คนที่รูดบัตรกับร้านธงฟ้า ถ้ารูดซื้อสินค้าที่มีภาษี ก็มีโอกาสได้เงินคืนมากกว่าคนที่รูดซื้อของสด

- แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนจนจะซื้อข้าวซื้อของเยอะแค่ไหน คุณจะได้เงินคืนไม่เกิน 500 บาท (คืนให้ในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป)

- ยกตัวอย่างวิธีคิด หากคุณซื้อผงซักฟอก จากร้านธงฟ้าประชารัฐ ราคา 215 บาท (ผงซักฟอกมีภาษีมูลค่าเพิ่ม อยู่ในราคาจริง 7%) เงินของคุณจะถูกแบ่งเป็นสูตรที่ทีมข่าวบอกไว้ข้างต้น คือ 1: 5 : 1 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15.05 บาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 คุณจ่ายเงินเป็นจำนวน 1% เท่ากับ 2.15 บาท
ส่วนที่ 2 คุณได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 5% เท่ากับ 10.75 บาท
ส่วนที่ 3 เงินของคุณจะเข้าไปเป็นเงินออม 1% เท่ากับ 2.15 บาท

...

- นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากได้รับเงินคืน 500 บาท (จำนวนเงินสูงสุดที่รัฐจะให้) ชาวบ้านต้องเติมเงินใส่เข้าไปในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ ประมาณ 7,000-8,000 บาทต่อเดือน

- นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า หากชาวบ้านต้องการได้รับเงินคืนเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านต้องเติมเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น

...

- อย่างไรก็ดี โครงการจะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2561- เมษายน 2562 ทดลองนำร่องเป็นเวลา 6 เดือน โดยจะใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากมาช่วยเหลือ 5,000 ล้านบาท.