เครือข่ายป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งมักได้เข้าร่วมทำกระบวนการกลุ่มนำเด็ก และเยาวชนที่หลงทำผิดจนต้องถูกต้องคดีในสถานพินิจต่างๆ โดยมุ่งเพื่อหวังกะเทาะเปลือกความคิดให้เด็กๆ เหล่านั้นไม่กระทำผิดอีก ซึ่งจากการที่ได้รับเชิญอยู่เป็นนิจ ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปสู่กระบวนการป้องกันและแก้ไขต่อไป และพบว่าปัจจุบันทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีการถูกคุกคามทางเพศที่ถูกหลอกผ่านโลกออนไลน์มากขึ้นๆ
เปิดประสบการณ์ตรง พฤติกรรมเลียนแบบ โจ๋ แชตลวงสาว ไปให้พวกรุมโทรม
ซึ่งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้รับการเปิดเผยจากวัยรุ่น กทม. รายหนึ่ง พลาดทำผิดลวงสาว รุมโทรม จนวันหนึ่งถูกจับดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่า และถูกเจ้าหน้าที่สถานกักกันหนึ่งคุกคามทางเพศ จึงรู้สึกผิด และเข้าใจความรู้สึกของสาวคนนั้น...
นายเอ (นามสมมติ) อายุ 21 ปี เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) แห่งหนึ่ง ยอมเปิดเผยเรื่องราวครั้งนี้ หวังเป็นประโยชน์กับคนอื่นให้ระวัง หรือป้องกันใครได้แม้สักคนหนึ่งไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ถึงเหตุการณ์ที่เคยก่อในขณะนั้น มีอายุเพียง 17 ปี
...
สำหรับมูลเหตุคิดล่อลวงสาวมาคุกคามทางเพศ เกิดในช่วงที่พ่อเพิ่งหย่ากับแม่ และนายเอ มีเวลาว่างเยอะ เพราะดร็อปเรียน ปวช. จึงใช้ชีวิตหายใจทิ้งไปวันๆ กับเพื่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายเอก็เป็นเด็กเล่นกีฬา เล่นเกมในร้านเกมสเแล้วก็กลับบ้าน
แต่เมื่อโตเป็นวัยรุ่นก็เริ่มค้นหาตัวตน หวังให้เพื่อนยอมรับ ทั้งออกเที่ยวกลางคืน เมากลับบ้านทุกวัน อีกทั้งรุ่นพี่ที่รู้จักส่วนมาก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กอาชีวะ เป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกันเสียส่วนมาก เวลาไปทำร้ายคู่อริ ก็มาเล่าต่อด้วยความภาคภูมิใจ นายเอกับเพื่อน 3-4 คน จึงซึมซับความรุนแรง โดยมองว่ามันคือ “ความเท่”
จากพฤติกรรมรุ่นพี่ที่แชตลวงสาวมาให้เพื่อนในกลุ่มกระทำชำเรา และเอามาพูดอวดรุ่นน้องๆ จนสร้างแรงปลุกใจให้ดูเป็นเรื่องสุดยอด นายเอและเพื่อน จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ก่อเหตุกับสาวคนหนึ่งจนสำเร็จ โดยวิธีการหาเหยื่อในแต่ละวัน คือ แชตคุยหลอกล่อด้วยวิธีบอกรักหญิงสาวหลายสิบคนผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยไม่คำนึงว่าจะอายุเท่าไร หน้าตาเป็นอย่างไร ทักไปแล้วผู้หญิงเล่นด้วย ตอบด้วย คุยไปสัก 2-3 วันก็ชักชวนหลอกล่อ หรือกดดันให้หญิงสาวมาหายังที่พัก
เหยื่อร้องขอสุดชีวิต ทำไมถึงทำกับเราแบบนี้!
วันก่อเหตุ เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนลวงหญิงสาวมาหาที่บ้านของนายเอ จากนั้นนายเอ เพื่อนและรุ่นพี่ก็หลอกล่อสารพัดเพื่อกระทำชำเราจนสำเร็จ แม้หญิงสาวดิ้นรนทุกวิถีทาง ขอร้องสุดชีวิตให้หยุดทำ แต่ก็ไม่มีผลอะไรกับพวกเขาเลย และไม่รู้สึกอะไรด้วยทั้งๆ ที่หญิงสาวผู้นั้น เอ่ยถาม ทำไมถึงทำกับเธอแบบนี้
จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ นายเอ มารู้ข่าวอีกทีว่าสาวเคราะห์ร้ายคนนั้นปิดเฟซบุ๊ก และไม่ไปโรงเรียน แต่นายเอกับพรรคพวก ไม่เป็นคดีความ เพราะผู้เสียหายไม่เอาเรื่อง และด้วยความที่ นายเอ ไม่สนิทกับแม่ เมื่อมีปัญหาชีวิตก็เลือกเดินไปหาเพื่อน จึงพากันใช้ชีวิตในทางผิดๆ ต่อไป
กรรมสนองกรรมจำจนตาย สุดท้าย เป็นฝ่ายถูกกระทำ โดนบีบคั้น ใจจำยอม แถมคุกคามไม่เว้นวัน
แต่แล้ว....วันหนึ่ง กรรม ที่ได้เคยก่อไว้กับคนอื่น ก็ได้ตามมาหลอกหลอนเข้ากับตัวเองเข้าจนได้ ซึ่ง “กรรม” ที่ว่านี้ มันได้ทำให้ชีวิตของ นายเอ ได้รู้ซึ้งถึงรสชาติของผู้ถูกกระทำ และมันได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ของเขา ไปตลอดกาล
...
ในเวลาต่อมา นายเอ กับ เพื่อน ถูกจับดำเนินคดี ข้อหาพยายามฆ่า และร่วมกันพยายามฆ่า ทำให้ต้องระเห็จเข้าไปถูกจองจำในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้นายเอถูกคุกคามทางเพศหลายครั้ง จนทำให้เจ้าตัวได้หวนคิดถึงเรื่องแย่ๆ ที่เคยทำไว้กับผู้หญิง ที่ตกเป็น เหยื่อ และได้เข้าใจหัวอก ของคนที่ถูกกระทำ ว่า มันทุกข์ทรมาน และเจ็บปวดแสนสาหัสเพียงใด
“แม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ แต่ผมรู้เลยว่ามันเจ็บปวดและทรมานใจมากแค่ไหนที่ถูกฝืนใจ ผม ถูกเรียกให้เข้าไป 2 คน พร้อมกับเพื่อน แต่แยกให้เข้าไปหาทีละคน พอไปถึง เขา ก็ทั้งขู่ ทั้งปลอบ ทั้งหว่านล้อม ให้ผม ต้องจำยอม ต้องทำอะไรที่น่าอับอายที่สุดในชีวิต เมื่อผมไม่ยอม เขาก็บีบคั้น ผม มากขึ้นๆ จนในที่สุดก็ต้อง จำใจ ทำตามที่เขา ต้องการ
...
แต่ทุกอย่างก็ยังไม่จบ เพราะ เขา คนนั้น ก็ยังใช้ วาจา ส่อเสียดให้ ผม ได้อับอายมากยิ่งขึ้นเข้าไปเป็นเท่าทวี ซึ่งตอนนั้น มันเป็นความรู้สึกที่แย่ที่สุด ผมไม่มีทางเลือกอื่นเลย ทำให้ย้อนคิดถึง น้องคนที่ผมเคยทำร้ายเขาเอาไว้ ซึ่ง เขา ก็คงรู้สึกทรมานใจไม่ต่างอะไร กับ ผม ณ เวลานั้น และพอหลังจากวันนั้น ไม่ว่าจะเจอกับ เขาคนนั้น ที่ไหน ผมก็ยังคงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง” นายเอ เล่าวินาทีถูกคุกคามทางเพศในสถานกักกันแห่งหนึ่ง
โดนกับตัว รู้สึกผิด สุดท้ายถูกปรับทัศนคติ สำนึกได้ ไม่ควรไปละเมิดใคร
ปัจจุบัน นายเอ ถูกย้ายมาอยู่ในการดูแล ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนแห่งหนึ่งมาเป็นระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ซึ่งบ้านหลังนี้ได้ช่วยสอนและอบรม ทำให้นายเอ ปรับเปลี่ยนความคิดโดยเฉพาะการสอนเรื่องสิทธิ ว่าอย่าไปละเมิดสิทธิคนอื่น ต้องรู้จักเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น และรู้จักให้เกียรติไม่ว่าเพศไหนก็ตาม จนนายเอรู้สึกผิด หากย้อนเวลาได้ จะไม่ก่อเหตุลวงสาวๆ เด็ดขาด
“ที่นี่มีการสอนหลายอย่างมาก เรื่องสิทธิ มีคลิปให้ดู เป็นเด็กผู้ชายฝรั่ง บอกให้ตบหน้าเด็กผู้หญิง แต่เด็กผู้ชายไม่ทำ หลังดูก็มาวิเคราะห์คุยกันว่าทำไมไม่ทำ ดูคลิปแล้วรู้สึกสะกิดใจ นึกถึงเรื่องที่เคยทำ ตอนอายุ 17 ทำให้ผมคิดได้ว่า ทุกคนก็มีสิทธิ มีคุณค่าในตัวเอง ไม่ควรมีใครไปละเมิดใคร
...
เตือนสาวๆ ยุค 4.0 เฟซบุ๊ก ไม่มีอะไรจริง ทุกอย่างคือหน้ากาก ต้องระวังตัว
ผมอยากบอกผู้หญิงว่า ในเฟซบุ๊ก ไม่มีคำว่าจริงหรอก... มันคือหน้ากากทั้งหมด เพราะจุดประสงค์จริงๆ คือ มันใช้ติดต่อง่าย แต่ก็มีคนใช้ประโยชน์ต่างกัน เหมือนพวกผม จริงๆ แล้ว ผู้หญิง ควรระวังตัวในระดับหนึ่งอยู่แล้วในโลกออนไลน์ แต่ผมเชื่อว่า มีผู้หญิงอีกมากมาย ที่โดนกระทำ เหมือนที่พวกผม เคยทำผิดไป” นายเอ กล่าวเตือนสาวๆ ยุค 4.0 ในท้ายที่สุด
นี่คือ...กรณีศึกษาที่น่าสนใจ ถึงภัยการคุกคามทางเพศ ที่แอบแฝงตัวอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งนับวันตัวเลขจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่อะไรกันล่ะ...คือ ต้นตอของปัญหา? และปัจจุบัน สถานการณ์การคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะการล่อลวงผ่านโซเชียลมีเดีย ในประเทศไทย มันอยู่ในรูปแบบใดกันบ้าง และปัจจุบันมันมีสถิติมากน้อยเพียงใด
หลอกลวง ไปรุมโทรม ผ่านออนไลน์ นับวันยิ่งเพิ่มเป็นเท่าทวี
ทีมข่าวฯ จึงได้สอบถามประเด็นนี้ ไปยัง นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งชี้แจงในประเด็นดังกล่าว กับทีมข่าวฯ ว่า ปัจจุบันการถูกล่อลวงผ่านโลกออนไลน์ เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดจากความรุนแรงทางเพศ 200 กว่าเคส ในปี 58 มี 33 กรณีที่ถูกคุกคามทางเพศจากคนใกล้ตัว เช่น ข่มขืน รุมโทรม มีจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกหลอกผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ถูกกระทำ
ประกาศรับสมัครงาน สุดท้าย ลวงเหยื่อไปเชือดบนคอนโดฯ
วิธีการลวงล่อ นอกจากหลอกรัก เพื่อกระทำชำเราแล้ว ยังมีอุบาย หลอกให้ไปสัมภาษณ์สมัครงาน โดยใช้รายได้วันละ 2 พันบาท ล่อใจ แล้วนัดพบในห้างสรรพสินค้าแถวๆ ลาดพร้าว จากนั้นก็บอกว่าต้องไปคุยงานกันต่อที่สำนักงาน ซึ่งเมื่อไปถึงพบเป็นคอนโดฯ และถูกกระทำชำเรา
ติง พนักงานสอบสวน คดีลวงข่มขืน เหตุไฉนยอมให้มีการไกล่เกลี่ย
ในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ พบอุปสรรคสำคัญ คือ พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ พยายามให้ไกล่เกลี่ยกันเอง ทั้งๆ ที่การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นคดีอาญา เป็นการละเมิดสิทธิที่รุนแรง ไม่ควรมีการยอมความ พร้อมยื่นหนังสือไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้ช่วยเหลือ
“ผู้ถูกกระทำที่ติดต่อมาที่มูลนิธิ ต้องการช่วยให้ดำเนินการถึงที่สุดกับคนที่กระทำ ที่ผ่านมามูลนิธิ มักเจอพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ พยายามให้เป็นเรื่องที่ไกล่เกลี่ยกันได้ มูลนิธิยื่นหนังสือให้ บช.น. ช่วยแก้ปัญหา 33 กรณีที่มูลนิธิช่วยเหลือ ให้คำแนะนำปรึกษา มีแค่ 1 กรณีเท่านั้นที่ขึ้นสู่ศาลได้
มูลนิธิกำลังต่อสู้ให้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายจริงๆ เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้แก้ปัญหา มูลนิธิพยายามเสนอ บช.น. ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ เอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หวังปรับพฤติกรรมเพื่อไม่ให้ไปทำกับผู้หญิงคนอื่นๆ ต่อ อย่างกรณี 32 เคส ที่ถูกไกล่เกลี่ยไป จะไม่ไปทำคนอื่นต่อหรือ ต้องมีกฎหมายปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ปัญหาเหล่านี้จึงจะหมดไป” นางอังคณา กล่าวในที่สุด
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ