“สาเหตุที่ทำให้ ครูไทยเป็นหนี้กันเยอะ มันมาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.ด้วยความรัก 2.ด้วยความเมตตา 3.ด้วยความกล้าหาญ”
ฟังประโยคนี้ แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์...?
แต่ช้าก่อน...อย่าเพิ่ง งง และอย่าเพิ่งสงสัยว่า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมาไม้ไหน หรือ คิดจะมาเป็นแนวร่วม ปฏิญญามหาสารคาม ด้วยหรืออย่างไร?
ใจเย็นๆ กันนิด วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เพียงแต่อยากนำเสนอชุดข้อมูล จากงานวิจัย โครงการครูพอเพียง ซึ่งมีการลงไปวิเคราะห์เจาะลึก ถึงสาเหตุหลักๆ ที่เหตุไฉน ข้าราชการครูไทยส่วนใหญ่ จึงมีปัญหาเรื่องหนี้สิน
โดยผลการสำรวจ ของ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่า ครูไทยมีหนี้สินรวม 1.2 ล้านล้านบาท หรือ เฉลี่ย 1 คน มีหนี้สิน ประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ในจำนวนนี้ 130,000 คน มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ หนี้สินในภาวะวิกฤติ
ตัดภาพมาในปัจจุบัน ปี พ.ศ.2561 ผู้ที่ทำงานวิจัยในเรื่องนี้ คาดการณ์ กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์เอาไว้ว่า หนี้สินของครูไทยต่อคน ตอนนี้น่าจะทะลุไปถึงประมาณ 2-3 ล้านบาทไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีโครงการ ช.พ.ค.
...
อะไรคือ สาเหตุของ มหกรรมกู้บันลือโลก จนนำไปสู่คำที่ว่า ครูทำไปด้วยรัก ด้วยเมตตา ด้วยกล้าหาญ แล้วมีบ้างหรือไม่ ที่ครูไทยจะรวยตอนเกษียณ แบบไม่มีหนี้ แล้วที่สำคัญ อะไรกันแน่ ที่คือยาพิษแฝงอยู่ในขนมหวาน จนทำให้ครูไทย เป็นหนี้ไปจนตลอดชีวิต
ทุกคำตอบนี้ มีอยู่ในสกู๊ปชิ้นนี้ เชิญแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์เหวี่ยงสายตา ลงไปอ่านทีละตัว จากปากคำของ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักวิจัย โครงการครูพอเพียง ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ที่เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างยาวนานกัน
“ไม่ใช่ครูทุกคนที่เป็นหนี้ ครูที่ไม่เป็นหนี้ก็มี เพียงแต่...อาจจะมีอยู่น้อยไปสักหน่อย”
ส่วนตัวไม่อยากให้ใครๆ ตำหนิครู หลังจากเกิดปรากฏการณ์ ที่เรียกกันว่า ปฏิญญามหาสารคาม เพราะเท่าที่ได้ทำงานวิจัยมา พบว่า มีครูดีจ่ายหนี้ตรงเวลา และหมดหนี้ก่อนเกษียณ มีมากถึงราวๆ 30-40%
นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ ธนาคารออมสิน ก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า จากจำนวน 483,578 บัญชี คิดเป็นเงินกู้ 410,923 ล้านบาท ในโครงการ ช.พ.ค. นั้น มีเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น ที่เป็น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL
และรู้หรือไม่ ครูที่มีการวางแผนทางการเงินดีๆ พอเกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนใหญ่รวยทุกคน อย่างตอนที่ไปทำวิจัย พบว่าครูบางท่าน กู้เงินสหกรณ์ไปลงทุน ซื้อที่ ทำบ้านเช่า ทำหอพัก ปลดหนี้ได้ก่อนเกษียณ ทุกวันนี้ เหลือสินทรัพย์ 16 ล้าน ก็มี! หรือ ครูบางท่าน มาถามว่า ไม่มีหนี้แต่มีเงินสด 2 ล้าน จะเอาไปลงทุนทำอะไรดี ก็มีเช่นกัน
ฉะนั้น กลุ่มครูที่ไม่มีปัญหา ไม่มีหนี้ คือ ครูที่ใช้ชีวิตพอเพียงจริงๆ
กู้ง่าย เป็นหนี้กันทั้งโรงเรียน รุ่นพี่ชวนรุ่นน้อง ตัวเร่งเร้า ครูสร้างหนี้
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ข้าราชการครูไทยเรา ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ที่อาจขาดความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการบริหารจัดการเงินมากพอ
แต่หากใครยังไม่รู้...สำหรับกรณี ครู มันมีปัจจัยพิเศษบางประการ ที่ทำให้ ครูไทย มักจะเลือกเป็นหนี้ได้ง่ายยิ่งกว่าคนทั่วๆ ไป นั่นเป็นเพราะ ครูไทย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายเหลือเกิน หรือ พูดง่ายๆ ครูไทย สามารถกู้เงินได้ง่ายมาก
ฉะนั้น เมื่อกู้ง่ายมาผนวกกับค่านิยมที่ว่า ครูเป็นหนี้ไม่แปลก เพราะ ครู ก็เป็นหนี้กันทั้งโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ครูไทยจึงไม่กลัวการเป็นหนี้
...
แล้วครูไทย เริ่มเป็นหนี้กันตั้งแต่เมื่อไหร่...?
ก็เป็น...ตั้งแต่เริ่มบรรจุกันแล้ว นักวิจัยสาวกล่าว
เท่าที่ได้ทำงานวิจัยมา พบว่า ครูรุ่นพี่มักจะชักชวน ครูรุ่นน้อง ให้เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อการออมทรัพย์ครู หากถามว่า ทำไปเพราะอะไร คำตอบก็คือ ครูรุ่นน้องจะได้เซ็นค้ำเงินกู้ให้กับครูรุ่นพี่ยังไงล่ะ!
ด้วยเหตุนี้ จึงมักจะมีคำกล่าวที่ว่า เป็นครูไทยมักจะใช้เงินเดือนเต็มเดือนได้ไม่ถึง 1 ปี เพราะหลังจากนั้น เงินเดือนจะถูกหัก เพื่อชำระเงินกู้ที่กู้อยู่เสมอ!
และหากใครยังไม่ทราบ จำนวนหนี้ของครู จะเพิ่มขึ้นตามอายุราชการ ไม่ใช่อายุตัวเอง เช่น หากเป็นครูตอนอายุ 40 ปี พออายุ 45 ปี จะเป็นหนี้น้อยกว่าครู ที่บรรจุมาตั้งแต่ อายุ 23 ปี
“พูดง่ายๆ คือ ยิ่งอยู่นาน ยิ่งกู้เยอะขึ้น” อาจารย์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ออกเสียงดังแบบชัดถ้อยชัดคำ
...
ด้วยรัก ด้วยเมตตา ด้วยกล้าหาญ 3 คำประกาศิต บีบครู ต้องจ่ายภาษีสังคม รักษาหน้าตา
โดยสาเหตุที่ทำให้ครูส่วนใหญ่ มักจะก่อหนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ ด้วยรัก ด้วยเมตตา ด้วยกล้าหาญ
1.ด้วยรัก เพราะ ครูรักลูก รักครอบครัว รักพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีโอกาสจึงมักกู้เงินไปทดแทนบุญคุณ ซื้อบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียน ซึ่งประเด็นนี้ ทำให้ครูเป็นหนี้มากที่สุด
2.ด้วยเมตตา ครู โดยเฉพาะตามโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัด มักจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ด้วยเหตุนี้ จึงมักจะเป็นผู้นำชุมชนไปกลายๆ ด้วยเหตุนี้ ภาษีสังคมที่ครูจะต้องมีภาระจ่าย จึงสูงมากไปตามด้วย ในบางรายอาจสูงมากถึงขั้นเป็น ปัญหา
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เคยถามครูคนหนึ่งไปว่า ทำไมต้องเอาเงินใส่ซองมากถึงขนาดนั้น ครูคนนั้น ตอบว่า ทำไม่ได้หรอก เพราะเป็นลูกศิษย์ครูทั้งนั้น แล้วก็ทุกคนเดือดร้อนลำบาก
รู้ไหมว่า บางรายถึงขั้นทุบกระปุกมาใส่ซอง หรือ กู้เงินมาใส่ซองก็มี ทั้งๆ ที่ตัวเอง มีหนี้ร่วม 4 ล้านบาท แถมมักจะถูกเชิญไปประธานงานบุญต่างๆ มากมายอีกด้วย นั่นเป็นเพราะ ครูทุกคนได้รับความคาดหวังจากสังคมไปแล้วว่า เป็นครูก็น่าจะมีเงิน และมีหน้ามีตา
เอาง่ายๆ เลยนะนี่คือเรื่องจริง ครูส่วนใหญ่คิดว่า บ้านจะต้องหลังใหญ่ ชุดผ้าไหมต้องมีทุกสี หรือ รถยนต์ของระดับ ผอ.มักจะถูกคาดหวังว่า จะต้องคันใหญ่กว่าครูทั่วๆ ไปเสมอ” ดร.อัจฉรา กล่าว
3.ด้วยกล้าหาญ ประเด็นนี้ ง่ายๆ เลย ครูไม่กลัวที่จะกู้ ครูกู้ทุกอย่าง กู้สหกรณ์ กู้ธนาคารออมสิน กู้ ช.พ.ค. อะไรมา...กู้หมด เพราะมีสารพัดหน่วยงานที่พร้อมจะให้กู้
...
เอาแค่เฉพาะ...สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพียงอย่างเดียว ก็มีไม่รู้กี่แพ็กเกจ สำหรับให้ครู เลือกช็อปกู้แล้ว แถมยังเปิดให้ครูสามารถกู้ได้ทุก 6 เดือนอีกด้วย
หากถามว่า เหตุใด สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จึงปล่อยกู้ครู ได้ง่ายขนาดนั้น มันก็มาจากเหตุผลที่ว่า
1.สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนใหญ่ไม่ใช่สมาชิกเครดิตบูโร จึงอาจจะไม่ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของครูเข้มงวดเหมือนสถาบันการเงินทั่วๆ ไป
2.สหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีบุริมสิทธิ ในการหักเงินเดือนครูเป็นที่แรกในการชำระหนี้ ฉะนั้น แม้ครู อาจจะมีหนี้สินอื่นรุงรังที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่อย่างไร สหกรณ์ฯ ก็ยังจะได้เงินคืนตามจำนวนเสมอนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ มันจึงกลายเป็นคำพูดในหมู่ครูไทยที่ว่า “กู้ไปทำอะไรก็ไม่รู้ แต่กู้ไปก่อน เพราะฉันมีสิทธิ” นี่คือวิธีคิดของครูไทยส่วนหนึ่ง
ทั้งๆ ที่ ตอนไปกู้อาจไม่มีความรู้มากพอเสียด้วยซ้ำไปว่า ดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ตัวเองกู้มา มันมากมายขนาดไหน...?
“คือมันไม่มีทางใช่...ดอกเบี้ย 5% จากเงินกู้ 1 ล้าน เท่ากับ 50,000 เหมือนที่มีความเข้าใจผิดก่อนหน้านี้ แน่นอน ซึ่งครูส่วนใหญ่อาจไม่รู้”
พอเห็นภาพแล้วใช่ไหม...ว่าเหตุใด ครู จึงสามารถกู้เงินได้ง่ายดายขนาดไหน
จี้ กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ตรวจสอบ ปล่อยสินเชื่อแบบไม่รับผิดชอบ ให้กับครู
ซึ่งประเด็น กู้ง่ายแสนสะดวก จนนำไปสู่มหกรรมกู้บันลือโลก จนกลายเป็นภาระครู และภาระของประเทศไปแล้วในยามนี้ เพราะเงินเดือนครู ก็มาจากภาษีของประชาชนนั้น ส่วนตัวอยากขอตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่า...
เหตุไฉน...สถาบันการเงิน จึงปล่อยสินเชื่อให้กับครูไปได้ เพราะมันมีกรณีหนึ่งที่พบ คือ ครูคนหนึ่งอายุ 59 ปี แต่สามารถกู้เงินในโครงการ ช.พ.ค. ได้ 1 ล้านบาท ภายใต้ภาระการจ่ายหนี้ 300 เดือน
และเท่าที่ได้ทำวิจัยมา พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เงินเดือนครูหนึ่งคนจะถูกตัดเงินสำหรับจ่ายหนี้ที่กู้มาแล้ว คิดเป็นเลขกลมๆ ประมาณ 70%
ฉะนั้น คำถามสำคัญคือ เมื่อผู้ขอกู้ มีสถานะทางการเงินแบบนี้ ....มันเป็นไปได้อย่างไรที่ยังคงมีการปล่อยเงินกู้ออกไป...? และหากเป็นสถาบันการเงินปกติ จะยอมปล่อยกู้ในลักษณะนี้หรือไม่...?
หรือนั่นเป็นเพราะ...คนที่ขอกู้ คือ ข้าราชการครู
แบบนี้ จึงเรียกได้หรือไม่ว่า...เป็นการปล่อยสินเชื่อแบบไม่รับผิดชอบ และถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลงมาดูแลสถาบันการเงินในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเสียที เพื่อไม่ให้ปล่อยกู้ครูด้วยเพดานหนี้ที่สูงเกินไป และอายุการกู้ต้องไม่ยาวนานมาก เหมือนที่เป็นอยู่
ก่อนกู้ทำไมไม่คิด มีหนี้ก็ต้องจ่ายสิ
อยากให้มองต่างมุมในประเด็นนี้สักนิดนึง ครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จะไปสู้การตลาดที่มีโปรโมชั่นการตลาด ในลักษณะเชิญชวนหาลูกค้า ให้มากู้เงิน ได้อย่างไร
ลองคิดดูว่า หากเป็น เราๆ ท่านๆ บางทีก็อาจมีบ้าง ที่หลงไปคำหวานจากโปรโมชั่นเหล่านั้นได้จริงไหม?
ครูถูกสปอยล์มากไป กู้ไปเหอะ ถึงเวลาเดี๋ยวก็มีคนมาช่วย
หากถามว่า เหตุใด ข้าราชการครู จึงมักเป็นเป้าหมายในการปล่อยเงินกู้ง่ายๆ
ง่ายมากสำหรับคำถามนี้...
1.ครู เป็น ข้าราชการ หนีหนี้ไม่ได้
2.ครูเงินเดือนสูงกว่าครัวเรือนไทยทั่วไป หากไม่เชื่อว่า ข้าราชการครู เงินเดือนสูง ลองไปย้อนหาข้อมูลดูก็ได้ว่า ได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นบ่อยขนาดไหน นี่ยังไม่รวมเงินอื่นๆ ที่ได้รับ เช่น ค่าวิทยฐานะ ค่าตำแหน่ง เบี้ยกันดาร และอื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังมีสวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาล และเลี้ยงดูบุตร เป็นตัวช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย
หากใครยังไม่เชื่อว่า ครูไทยเงินเดือนสูง มีครูท่านหนึ่งที่ร่วมใน ปฏิญญามหาสารคาม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ได้รับเงินบำนาญ 52,000 บาท ถูกหักชำระหนี้ ช.พ.ค. 50,000 บาท คนที่ได้รับเงินบำนาญ 52,000 บาท แสดงว่า ตอนรับราชการ จึงน่าจะได้เงินเดือนเกือบ 1 แสนบาท
และหากใครยังไม่ทราบ บ่อยครั้งเหลือเกินที่เวลามีปัญหาเรื่องหนี้ครู กระทรวงศึกษาธิการ มักจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นประจำ เช่น เสนอให้ลดดอกเบี้ย ขยายวงเงิน เปลี่ยนเจ้าหนี้ และอื่นๆ อีกมากมาย
มันจึงมีไม่แปลกที่มีชุดความคิดในหมู่ ครู อีกเช่นกันว่า “มีหนี้ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีคนมาช่วย”
อยากให้มองแบบนี้ ว่า เป็นข้าราชการครูถือว่าโชคดี แต่ความโชคดีที่ว่า กลับย้อนมาทำร้ายตัวเขาเอง พูดง่ายๆ คือ ข้าราชการครู กำลังถูกระบบสปอยล์
กู้หนี้ จ่ายหนี้ ตัวการทำครู มีหนี้ไม่รู้จบ
เท่าที่ได้ทำวิจัย พบว่า เวลามีปัญหาเรื่องหนี้เข้าขั้นวิกฤติ ข้าราชการครูส่วนใหญ่ มักเลือกแก้ไขปัญหาโดยการ เอาเงินกู้มาจ่ายเงินกู้อีกที ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการ หมุนเงินไปมา ซึ่งวิธีนี้ พอถึงเวลาเกษียณ มีปัญหากันทุกคนแน่นอน เพราะเงินเดือนที่เคยได้ มันจะไม่เท่าเดิม เช่นจาก ที่ได้เงินเดือน 80,000 บาท ก็เหลือเพียง 40,000 บาท เรียกได้ว่า เกษียณปุ๊บจนปั๊บเลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปชำระหนี้ที่กู้มากันล่ะ!
และหากใครยังไม่ทราบ ตัวเลขการกู้เงินในสหกรณ์เพื่อการออมทรัพย์ครู สูงถึงเกือบ 30% มีเหตุผลสำคัญคือ ต้องการนำเงิน มาใช้หนี้เก่า
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู นั้น ส่วนตัวมองว่า ปัจจุบัน มีครูอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1.ครูไม่มีหนี้ 2.มีหนี้ไม่มีปัญหา 3.มีหนี้เริ่มมีปัญหา 4.มีหนี้ขั้นวิกฤติ
ฉะนั้น การแก้ไขปัญหา ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้ครูไทยเรียนรู้วิธีการจัดการหนี้ และเข้าใจเรื่องดอกเบี้ย เงินกู้ และสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองก่อน จากนั้น จึงคิดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบุคคล
สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ ปัจจุบัน มี ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมกันทั่วประเทศกว่า 9 แสนกว่าคน โดยส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สิน
และในปี 2562 จะมีครูเกษียณอายุราชการมากถึง 28,000 กว่าคน ในจำนวนนี้ จะมีเหลือสักกี่คน ที่พอเกษียณไปแล้ว สามารถปลดภาระหนี้ของตัวเองได้จนหมด ไม่ต้องมีหนี้ให้เป็นภาระของลูกหลานต่อไป
สุดท้ายอยากให้ทุกคนไม่ว่าอาชีพอะไร โดยเฉพาะครู พยายามใช้ชีวิตแบบพอเพียงจริงๆ กู้ตามความจำเป็น ไม่ใช่ตามความต้องการ ไม่ใช่ตามกระแสสังคม แล้วปัญหาหนี้สินต่างๆ มันจะค่อยทุเลา เบาบางลงเอง และครู จะได้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตพอเพียงที่ดีให้กับสังคมไทยต่อไป
เพราะการเป็นหนี้ ทำให้มีความสุขชั่วคราว แต่มันจะสร้างความทุกข์ให้ในระยะยาว ดร.อัจฉรา ทิ้งคำถามตัวโตๆ ไว้อย่างน่าสนใจและควรวิเคราะห์ตาม
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน