เมื่อใดที่ "น้ำมันขึ้นราคา" สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้น “ข้าวยากหมากแพง”...

ค่าโดยสารรถราเรือเมล์พาเหรดขึ้นราคา ค่าสินค้า-บริการอัพสูงขึ้น แก๊สหุงต้มทะยานตามไปติดๆ ชีวิตอีรุงตุงนัง จะจับจ่ายซื้อหาสักทีถึงกับต้องคิดแล้วคิดอีก กลัวจะชักหน้าไม่ถึงหลัง...

คำถามคือ เมื่อน้ำมันดันขึ้นราคามาแล้ว จะลดได้ไหม ลดเมื่อไหร่ ใครรู้บ้าง?

...

ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจง่ายๆ เสียก่อนว่า เมื่อราคาน้ำมันในประเทศไทย เป็นไปตามกลไกของราคาตลาดโลก = น้ำมันดิบในตลาดโลกแพงขึ้นมากเท่าใด ราคาน้ำมันไทยก็แพงขึ้นเท่านั้น...

เมื่อเราทำความเข้าใจตรรกะง่ายๆ นี้ได้แล้ว จากนั้น เรามาหาคำตอบให้หายปวดใจกันว่า น้ำมันขึ้นเพราะอะไร จะลงเมื่อไหร่? มาดูกัน!

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้น 2 ประการ โดยทีมข่าวได้ย่อยเอาไว้ให้เข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้

ปัจจัยที่ 1 : สหรัฐอเมริกา ออกคำขู่ว่า “จะคว่ำบาตรอิหร่านอย่างรุนแรงที่สุด” หากอิหร่านยังไม่ยุติโครงการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการที่อิหร่านเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ด้วยการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ

ล่าสุด นายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ไม่รอช้า ออกมาแสดงท่าทีอย่างไม่ยี่หระว่า “สหรัฐฯไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนอิหร่านหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีเอกราชเป็นของตัวเอง และอิหร่านก็ไม่สนใจต่อคำขู่จากสหรัฐฯ อีกด้วย”

ฉะนั้น อย่าลืมว่า อิหร่าน เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 3 ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) แต่เมื่ออิหร่านถูกคว่ำบาตร ปริมาณน้ำมันดิบที่อิหร่านส่งออกสู่ตลาดโลกก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และนั่นย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกแพงขึ้น

...

ปัจจัยที่ 2 :  ประเทศเวเนซุเอลา เคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกา เคยเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก และเคยเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 20 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก แต่มาวันนี้ เวนเนซุเอลากลายเป็นประเทศล้มเหลว ประชาชนหิวโหย ข้าวยากหมากแพง คนตกงานมากมาย โจรผู้ร้ายชุกชุม โรงพยาบาลคลาคล่ำไปด้วยคนป่วย การประท้วงเดินขบวนต่อต้านเกิดขึ้นรายวัน วินาทีนี้ เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศอันแสนโกลาหล

...

หลายคนสงสัยถึงที่มาแห่งความตกต่ำและทุกข์ยากของชาวเวเนซุเอลานั้น มาจากอะไร...

คำตอบ คือ การบริหารงานผิดพลาดของภาครัฐ ผู้นำประเทศบริหารงานผิดพลาดด้วยการใช้นโยบาย "ประชานิยม" แจกเงินประชาชนอย่างไร้เหตุผล รัฐบาลทุ่มงบประมาณของประเทศไปกับโครงการด้านสังคมสงเคราะห์มากเกินไป มิหนำซ้ำ ยังจ่ายเงินอุดหนุน เพื่อกำหนดราคาสินค้าแทบทุกชนิด

โดยรัฐบาลเปลี่ยนเวเนซุเอลาจากประเทศที่พึ่งพารายได้จากการเกษตร ไปเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันให้ต่างชาติ และไม่กี่ปีต่อมา น้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งเดียวของพวกเขา มีมูลค่าตกต่ำลง จาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และตกต่ำที่สุด จนเหลือเพียง 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเท่านั้น

...

เมื่อประเทศเวเนซุเอลา ตกอยู่ในสภาวะข้างต้น จึงทำให้ไม่สามารถผลิตนำ้มันส่งขายตลาดโลกได้เหมือนที่เคยทำมา ส่งผลสืบเนื่องให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกหายไปอีกก้อนใหญ่ และดันราคาน้ำมันในตลาดโลกให้เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ต้องจับตาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดสินใจคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนเซุเอลาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ สถานการณ์การเลือกตั้งในเวเนซุเอลา ที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่า นายนิโกลัส มาดูโร่ ได้รับคะแนนชนะนายเฮนรี่ ฟัลคอน หัวหน้าพรรคก้าวหน้า อยู่ที่ร้อยละกว่า 68 ต่อ 21 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 2 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนในประเทศขาดแคลนอาหารขั้นวิกฤติ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาระบุว่า ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว

นิโกลัส มาดูโร่
นิโกลัส มาดูโร่

ฉะนั้น หากมีการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะส่งผลให้น้ำมันในตลาดโลกลดน้อยลง และเป็นปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก

ปัจจัย 2 ประการอันหนักหนาสาหัสข้างต้น ดูแล้วช่างยุ่งยาก จะแก้ก็ยากยิ่ง โดย มนูญ ผู้คร่ำหวอดด้านพลังงานเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย กล่าวกับทีมข่าวว่า “ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น จนกว่าจะมีความชัดเจนจากทั้งสองเรื่องนี้”

“แต่ว่า ล่าสุด จะมีการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยที่ประชุมจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน หลังจากที่มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน แต่เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งแตะสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง กลุ่มโอเปกก็จะมานั่งพิจารณากันอีกครั้งว่า ในครึ่งปีหลัง พวกเขาจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันหรือไม่”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทิศทางของราคาน้ำมัน หลังการประชุมโอเปก จะเป็นอย่างไร? มนูญ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน ให้คำตอบของคำถามนี้ออกเป็น 2 แนวทาง คือ

1. หากผลการประชุมของกลุ่มโอเปกออกมาว่า จะไม่กระทำการใดๆ และทิ้งสถานการณ์น้ำมันเอาไว้เช่นนี้ ย่อมเท่ากับว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก

2. หากผลการประชุมของกลุ่มโอเปกออกมาว่า พวกเขาจะบรรเทาผลกระทบด้วยการผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น และไม่เข้มงวดในข้อกำหนดที่ว่า จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ย่อมเท่ากับว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง

ผู้สื่อข่าวถามในทันทีว่า ใน 2 แนวทางที่ว่ามานี้ แนวทางใด มีความเป็นไปได้มากที่สุด?

มนูญ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน ให้คำตอบว่า “ทั้ง 2 แนวทางนี้ แนวทางใดจะเป็นไปได้มากกว่ากัน ย่อมขึ้นอยู่กับว่า ช่วงนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นไปมากน้อยเพียงใด หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับปัจจุบัน ผมคิดว่า เขาคงไม่ตัดสินใจทำอะไร“

*** ราคาน้ำมันดิบล่าสุด 22 พ.ค.***
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ปิดที่ 72.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 79.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันล่าสุด
ราคาน้ำมันล่าสุด

“แต่ถ้าราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปมากๆ ในระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทางกลุ่มโอเปกก็คงจะต้องมีมาตรการใดๆ ออกมาแน่นอน” มนูญ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน ให้ความเห็น

คำถามต่อมา คือ ในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมีการประชุมโอเปก ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลได้หรือไม่?

มนูญ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงาน มองว่า โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งไปแตะที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลนั้น “ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้” เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบเริ่มชะลอตัว และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ

“ส่วนคนที่กังวลว่า ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งไปแตะที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่ในขณะที่ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มีความเป็นไปได้ เพราะในอนาคต ราคาน้ำมันอาจได้รับแรงกดดันจาก 1. การคว่ำบาตรอิหร่านได้ผล ปริมาณน้ำมันดิบที่อิหร่านส่งออกหายไปหลักล้านบาห์เรนต่อวัน 2. สถานการณ์ของประเทศเวเนซุเอลาเลวร้ายลงมาก”

“3. ผลการประชุมโอเปก นิ่งเฉยต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และ 4. ความต้องการน้ำมันในฤดูร้อน เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล นั้นมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้”

“สำหรับใครที่ตั้งหน้าตั้งตาคอยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง คงจะต้องรอคอยการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย. ว่าจะออกมาในทิศทางใด เพราะท้ายที่สุด ผลการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นตัวบอกเเราองว่า ราคาน้ำมันจะลดลง หรือขึ้นต่อเนื่อง” มนูญ ผู้คร่ำหวอดด้านพลังงาน ทิ้งท้าย

ราคาน้ำมัน ข้าวปลาอาหาร ค่าเดินทาง
ขึ้นแล้ว ขึ้นเลย ไม่เคยลด
แม้ราคาน้ำมันจะลด แต่ของซื้อของขายพวกนี้ไม่ได้ลดตามนะจ๊ะ จะบอกให้!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน