กำลังจะเป็นตำนานไปอีก 1 แห่ง สำหรับสนามแข่งม้าที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย นั่นคือ “สนามม้านางเลิ้ง” หรือ ราชตฤณมัยสมาคมฯ โดยมีประวัติมายาวนานนับร้อยปี 

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้เช่าอาคารและที่ดินกับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เตรียมคืนที่ดินและอาคารให้กับ สำนักงานทรัพย์สินฯ หลังครบอายุสัญญาเช่ามานานแล้ว

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สนง.ทรัพย์สินฯ ได้แจ้งไป ทางราชตฤณมัยแล้วว่า สัญญาเช่าพื้นที่ ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้ประสานขอความร่วมมือส่งมอบคืนพื้นที่ และขนทรัพย์สินออกจากพื้นที่ พร้อมชำระค่าเช่า หรือภาษีค้างชำระถึงวันส่งมอบคืนสถานที่เช่าแก่ สนง.ทรัพย์สินฯ ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน

ขณะที่ แหล่งข่าว ใน ราชตฤณมัยสมาคมฯ เปิดเผยว่า เป็นจริงตามที่เป็นข่าว แต่ตอนนี้ยังให้สัมภาษณ์อะไรไม่ได้ ไว้รอคณะกรรมการของราชตฤณมัยสมาคมฯ ประชุมก่อนแล้วจะมีการแถลงข่าว

“แผนรองรับในเรื่องนี้นั้น คงต้องว่ากันอีกที ยังไม่ได้มีการประชุมกันเลย เพิ่งจะรับหนังสือมาเมื่อวานนี้เอง (4 เม.ย.) ถามว่าจะหยุดให้บริการเมื่อไหร่นั้น ยังไม่ทราบเหมือนกัน ยังไม่มีคำตอบ เพราะตอนนี้ยังไม่มีการประชุม ซึ่งคงจะเรียกประชุมเร็วๆ นี้แหละครับ”

...

แข่งม้าครั้งแรกของสยามประเทศ สู่ที่มาการสร้าง สนามม้านางเลิ้ง..

จุดเริ่มต้นของสนามม้าแห่งนี้นั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2440 เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการประพาสยุโรป ทางฝ่ายราชการจัดพระราชพิธีรับเสด็จ แล กลุ่มผู้เคยผ่านยุโรปมาจำนวนหนึ่ง จึงมีแนวคิดที่จะจัดแข่งม้าถวาย

ประธานการจัดการแข่งขั้นครั้งนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยาลาภพฤติธาดา และมีกรรมการร่วมหลายคน ทั้งเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการชั้นสูง

สำหรับสถานที่จัดการแข่งขั้นครั้งนั้น คือ “ทุ่งพระเมรุ” หรือ “ท้องสนามหลวง” โดยใช้พื้นที่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

การแข่งขันครั้งนี้ มีลักษณะใช้ม้าเทียมรถจากคอกต่างๆ เข้าร่วม ผู้ขี่ก็คือคนขับรถม้า มีการถ่วงน้ำหนักโดยนำก้อนอิฐมอญห่อผ้ามัดติดเอวไว้กับคนขี่

พร้อมกับให้มีการ “แทงโต๊ด” ด้วย

การแข่งขันวันนั้นวุ่นวายพอควร เนื่องจากตามกติกา ผู้ที่ชนะเข้าเส้นชัยที่ 1 และ ที่ 2 ต้องไม่ทำอิฐมอญร่วงหล่น แต่ครานั้นผู้ที่เข้าที่ 1 และ 2 ล้วนทำอิฐหล่นทำให้ถูกปรับแพ้ ทำให้ผู้ชมเกิดความไม่พอใจ มีการกล่าวหากันว่ามีการโกงกัน..

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทอดพระเนตรแล้วรู้สึกพอพระราชหฤทัยในการแข่งขัน และนี่ถือเป็นการแข่งขันม้าอย่างฝรั่งเป็นครั้งแรก

ส่วนกำเนิดของสนามม้านางเลิ้ง เริ่มขึ้นเมื่อ พระยาประดิพัทธภูบาล และ พระยาอรรถการประสิทธิ์ คิดสร้างสนามม้าขึ้น และจะใช้ที่ดินของพระยาประดิพัทธฯ ที่บางซื่อ แต่มีเสียงติงว่าอยู่ไกลเกินไป

ทั้งนี้ จากหนังสือ “กำเหนิดสนามม้าแข่งในประเทศไทย” ของ พระยาประดิพัทธภูบาล (คอ ยู่ เหล ณ ระนอง) ซึ่งได้จัดพิมพ์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครั้งเมื่อประพาสเมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยระบุตอนหนึ่งว่า...

หลังจากก่อตั้งสนามม้า “ราชกรีฑาสโมสรกรุงเทพฯ” มาแล้วหลายปี ก็เกิดขัดแย้งขึ้นในสโมสรนี้ เนื่องจากเวลานั้นมีฝรั่งเข้ามาเมืองไทยมาก และได้นำกีฬาต่างๆ หลายชนิดเข้ามาเผยแพร่ อาทิ คริกเก็ต ฟุตบอล ฮอกกี้ และเทนนิส จำเป็นต้องนำรายได้จากการแข่งม้ามาบำรุงกีฬาต่างๆ เหล่านั้นด้วย เป็นเหตุให้เจ้าของม้า (ส่วนใหญ่เป็นคนไทย) ไม่พอใจ และร้องเรียนว่าเงินรางวัลไม่เพียงพอในการบำรุงม้า โดยกรรมการฝ่ายไทยซึ่งเป็นกรรมการมาแต่ดั้งเดิม คือ พระยาประดิพัทธภูบาล และ พระยาอรรถการประสิทธิ์ มีการเสนอเพิ่มเงินรางวัลขึ้นอีกร้อยละ 50 แต่ข้อเสนอของฝ่ายไทยไม่ได้รับการสนับสนุน

“พวกเรามีพระยาอรรถการฯ และข้าพเจ้าจึงมาใคร่ครวญหาวิธีสร้างสนามม้าขึ้นใหม่ โดยจะใช้ที่นาขอข้าพระเจ้าที่บางซื่อ แต่หลายคนติว่าไกลไป ตกลงเอาที่ (นางเลิ้งของหลวงอีก)​ ข้าพระเจ้า และ พระยาอรรถการฯ จึงทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ 6 ขอตั้งสนามม้าแข่งเพื่อบำรุงม้า พระองค์โปรดให้พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เป็นบิดาของพระยาปราบพลแสน (เวลานั้นเป็นอธิบดีกรมอัศวราช ภายหลังเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง) มีหนังสือมายังข้าพเจ้าว่าอนุญาต หากกรมขุนพิษณุโลกทรงทราบ และทรงเกรงเป็นเรื่องการเมือง จึงมีลายพระหัตถ์มาถึงข้าพเจ้าว่า ถ้าสโมสรจะมีการประชุมเมื่อใด ขอให้บอกเลขาส่วนพระองค์ (พระยาสุรเสนา) มาประชุมด้วย เพื่อได้ทรงทราบรายการต่างๆ ทั้งทรงแนะนำขออย่าได้เป็นการเมือง เพราะกลัวจะเป็นฝรั่งกับไทยทะเลาะกัน..”

...

โดยได้พระราชทานที่ดินประมาณ 200 ไร่ ที่อยู่บริเวณนอกเขตผดุงกรุงเกษม ใกล้กับทุ่งส้มป่อย (นางเลิ้ง) และในวันที่ 18 ธันวาคม 2459 รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสนาม พร้อมพระราชทานนาม “ราชตฤณมัยสมาคมฯ” และ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระองค์ได้ส่งม้าในคอกส่วนพระองค์เข้าแข่งขันด้วย โดยใช้เสื้อสีน้ำเงิน ยันต์สีขาว