ภักดีต่อเครือข่ายมือถือเก่ามาเนิ่นนาน
แต่เครือข่ายที่เรารักกลับไม่แยแสในความดีใดๆ ของเราทั้งสิ้น!...



วันหนึ่งฉันเดินเข้าศูนย์บริการ ฉันเจอเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เธอถามฉันว่า จะย้ายไปไหน
ฉันจึงตอบ อยากไปอีกค่าย เน็ตแรงกว่าที่ฉันเคยได้

ถ้าเธอจ่ายแพง จงเลือกย้ายค่าย อย่างน้อยก็ไม่ต้องพบเจอ
เน็ตช้าๆ อย่างเดิม ค่ายที่ไม่มีน้ำใจ ไม่มีเยื่อใยให้คนที่ใช้นาน
จ่ายแพงตั้งนาน ต้องทิ้งค่ายเดิมอย่างเดียว เผื่อจัดโปรลับขึ้นมา จะได้กลับไปใช้ใหม่....

แหม่ ก็เล่นไม่สนอกสนใจตลอดระยะเวลาที่เราจงรักและภักดี แต่กับคนที่พร้อมจะหักหลัง กลับไปนำเสนอโปรโมชั่นร้อนแรงคุ้มค่าให้เขาเต็มที่ แต่เอ๊ะ! การที่ค่ายมือถือทำแบบนี้ “ย้ายค่าย ถึงจะได้โปร (ลับ) ผิดหรือไม่?” ติดตามได้จากรายงานพิเศษทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์...

โดยก่อนนี้ ทีมข่าวได้ไล่เรียง กลเม็ดเทคนิคมัดใจ (คนย้ายค่าย) ของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ 3 ค่ายดัง ความเว้าวอนของพวกเธอ ความแพรวพราวร้อยเล่ห์ในการเอา “โปรโมชั่นพิเศษ” มาล่อหลอกของพวกเธอทั้ง 3 ค่ายนั้น ถือว่าไม่ธรรมดา และได้ทิ้งข้อสงสัยมากมายเอาไว้ในรายงานพิเศษชิ้นก่อน เพราะฉะนั้น รายงานพิเศษชิ้นนี้ จะทำหน้าที่คลี่คลายทุกข้อสงสัย!

...

โปรโมชั่นพิเศษจาก 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ หลังทีมข่าวทำทีเป็นย้ายค่าย
โปรโมชั่นพิเศษจาก 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ หลังทีมข่าวทำทีเป็นย้ายค่าย
นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

- ค่ายมือถือ แจ้งโปรโมชั่นพิเศษให้แก่ลูกค้าที่กำลังตัดสินใจย้ายค่าย 

แต่ไม่ยอมแจ้งให้แก่ลูกค้าเก่าที่ใช้มานาน และมีความภักดีต่อเครือข่ายนั้นๆ

อีกทั้ง โปรโมชั่นพิเศษลักษณะนี้ ไม่มีการประชาสัมพันธ์โดยทั่วไป

กรณีเช่นนี้ เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการแล้วหรือ?

นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคนนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า...

“ในกรณีเช่นนี้ มองได้ 2 รูปแบบ โดยมีทั้งผิดและไม่ผิด!” นายแพทย์ ประวิทย์ ชี้แจง



รูปแบบที่ 1 คือ ผิด เพราะบริการลักษณะและประเภทเดียวกันต้องคิดอัตราค่าบริการเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ค่ายมือถือจัดโปรโมชั่นหนึ่งออกมา โดยตั้งราคาขายไว้ค่อนข้างแพง ในขณะเดียวกัน ค่ายมือถือค่ายนี้ก็จัดโปรโมชั่นที่สองออกมาอีก โดยตั้งราคาขายไว้ถูกมาก แต่ให้อินเทอร์เน็ต และโทรฟรีเหมือนโปรโมชั่นแรกทุกประการ อย่างนี้ถือว่า ผิดกฎหมาย เพราะสินค้าแบบเดียวกัน จะขายต่างราคากันไม่ได้

“รูปแบบที่ 2 คือ ไม่ผิด จากกรณีข้างต้น โปรโมชั่นที่มีราคาต่างกัน แต่กลับได้รับอินเทอร์เน็ต และโทรเท่ากัน ปัญหาลักษณะนี้ ในส่วนของบริษัทก็จะบอกว่านี่ไม่ใช่โปรโมชั่นที่สอง แต่นี่เป็นการลดราคาจากโปรโมชั่นแรก โดยเรียกว่า เป็นการลดราคาให้เป็นพิเศษ นายแพทย์ ประวิทย์

“แบบนี้ถือว่าไม่ผิดครับ แต่ผู้ใช้บริการต้องตัดสินใจให้ดี เพราะเขาไม่ได้ลดราคาให้เราตลอดไปนะครับ อาจจะลดให้เราแค่ 12 เดือน” นายแพทย์ ประวิทย์ แนะนำ

...

- เครือข่ายมือถือ ยื่นข้อเสนอโปรโมชั่นพิเศษ
โดยมีเงื่อนไข คือ ห้ามย้ายค่ายนาน 12 เดือน
ทำแบบนี้ ผิดกฎหมายหรือไม่?

“ผิดครับ ย้ายค่ายเป็นสิทธิ์ซึ่งสามารถย้ายได้ทุกวัน ฉะนั้น ต่อให้เรารับโปรโมชั่นพิเศษ และเจ้าหน้าที่แจ้งว่า คุณห้ามย้ายค่ายนาน 12 เดือน กรณีแบบนี้ ค่ายมือถือไม่สามารถทำได้ครับ และเขาจะมาห้ามเราย้ายค่ายไม่ได้ครับ” นายแพทย์ ประวิทย์ แจงชัดเจน

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองประเด็นนี้ว่า การจะมาบอกว่า ห้ามผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการย้ายค่ายนาน 12 เดือนนั้น ย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ว่าค่ายมือถือมีสิทธิ์ที่จะพูด

“ค่ายมือถือเขาพูดได้ก็ให้เขาพูดไป แต่ถ้าเราไม่พอใจเราก็มีสิทธิ์ย้ายค่ายอยู่ดี ถ้าเราย้ายไม่ได้ เราก็ร้องเรียน จริงๆ แล้วเนี่ย กสทช.ก็ควรทำตัวเป็นผู้บริโภคบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ส่งเจ้าหน้าที่ของกสทช.ไปทดลองย้ายค่ายด้วยตัวเองบ้างนะ และจะได้รู้ความจริง ได้รู้สิ่งที่ผู้บริโภคพบเจอ” สารี อ๋องสมหวัง แนะแนวทาง

...

- ค่ายมือถือ แจ้งโปรโมชั่นพิเศษให้แก่ลูกค้าที่กำลังตัดสินใจย้ายค่าย 

แต่ไม่ยอมแจ้งให้แก่ลูกค้าเก่าที่ใช้มานาน

ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือไม่?

นายแพทย์ ประวิทย์ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “เอาจริงๆ แล้ว ในกรณีนี้ ใครที่เป็นผู้บริโภคที่จงรักภักดีก็จะเสียเปรียบ ซึ่งผู้บริโภคบางคนจะมองว่าไม่เป็นธรรม แต่สำหรับผู้ประกอบการ เขาไม่สนใจเรื่องความเป็นธรรม เขาสนใจเรื่องการรักษาลูกค้า”

“พอรู้ว่าลูกค้าคนนี้จะย้ายออก ลูกค้าคนนั้นจะย้ายเข้า เขาก็จะเสนอเป็นโปรโมชั่นในราคาพิเศษให้ เพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้น กรณีเช่นนี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่มีความจงรักภักดี และในจุดนี้เอง ยังสะท้อนให้เห็นได้ว่า ต่อไป เราอย่าจงรักภักดีกับค่ายใดค่ายหนึ่งเลยครับ นายแพทย์ ประวิทย์ พูดตรงๆ

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ว่า เรื่องนี้ถือว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ แต่ก็ถือว่า เป็นกลยุทธ์ของทางค่ายมือถือที่จะเก็บลูกค้าไว้ เพราะฉะนั้น ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ก็ควรที่จะทราบว่า เรามีอาวุธลักษณะนี้อยู่ในมือ ซึ่งอาวุธนี้ก็คือการย้ายค่าย

...

“ในขณะเดียวกัน กสทช. ก็ควรที่จะแจ้งกับผู้บริโภคว่า หากผู้บริโภคอยากจะได้สิทธิพิเศษ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งความจำนงเรื่องการย้ายค่าย จากนั้น คุณก็จะได้โปรโมชั่นพิเศษทันที เพราะว่าถ้าให้ค่ายมือถือแจ้งกับผู้บริโภค ค่ายมือถือก็คงจะไม่บอกแน่นอน” สารี อ๋องสมหวัง แสดงทรรศนะ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

- โปรโมชั่นพิเศษที่ค่ายมือถือนำมาเสนอให้แก่ลูกค้าที่ย้ายค่าย 

ได้จัดส่งให้ กสทช.พิจารณาก่อนหรือไม่?

นายแพทย์ ประวิทย์ ตอบข้อซักถามว่า บริษัทมือถือจะออกโปรโมชั่นอย่างไรก็ได้ แต่ต้องส่งให้เรา (กสทช.) เพื่อเปิดเผย ไม่ว่าโปรโมชั่นนั้น จะเป็นโปรฯ ลับ หรือโปรฯ พิเศษ แต่ถ้ามีโปรโมชั่นไหนไม่ส่ง ถือว่าค่ายมือถือปกปิดข้อมูล และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น ค่ายมือถือทุกค่ายมีหน้าที่ต้องส่งโปรโมชั่นทุกแบบให้กับ กสทช. เพื่อทำการตรวจสอบ และเผยแพร่เป็นสาธารณะ

“ค่ายมือถือแต่ละแห่งก็จะอ้างว่า นี่คือโปรโมชั่นปกติที่เคยส่งให้ กสทช.แล้ว แต่ค่ายมือถือแค่เอามาลดราคาเฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งการที่ค่ายมือถือ ใช้วิธีการนี้ ถือว่า สามารถทำได้ครับ” นายแพทย์ ประวิทย์ ขยายความ

- ผู้สื่อข่าวจึงซักต่อว่า ในฐานะประชาชน เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองไหมว่า

โปรโมชั่นลับ หรือโปรโมชั่นพิเศษใดๆ ก็ตาม
‘ผ่าน’ หรือยัง ‘ไม่ผ่าน’ การกลั่นกรองจาก กสทช.?

นายแพทย์ ประวิทย์ ตอบข้อซักถามนี้ว่า “ง่ายๆ เลยคือ โปรโมชั่นที่มีการโฆษณาอย่างเปิดเผยนั้น แสดงว่าเขาส่ง กสทช.หมดแล้ว เพราะถ้าเราตรวจสอบพบว่า โปรโมชั่นที่นำมาโฆษณายังไม่เคยถูกส่งมาที่ กสทช. เครือข่ายมือถือก็จะมีความผิด”

“แต่ส่วนใหญ่ที่กังวลว่าเป็นโปรฯ ลับเนี่ย เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีจริงหรือไม่จริงอย่างไร เพราะเขาไม่ส่งมา ซึ่งช่วงหลังๆ มานี้ ค่ายมือถือก็จะบอกว่า ไม่มีโปรฯ ลับ แต่มีโปรฯ ลดราคา ฉะนั้น จุดนี้จึงเป็นทางเลี่ยงทางกฎหมายอีกรูปแบบหนึ่ง นายแพทย์ ประวิทย์ ชี้แจงให้เห็นภาพ


- ขั้นตอนการย้ายค่ายนั้น ไม่สามารถทำได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน
หรือผ่านคอลเซ็นเตอร์ หากคุณมีความประสงค์ที่จะย้ายค่าย
คุณจะต้องเสียเวลาเดินทางไปที่ศูนย์บริการ
ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 สิ่งนี้เป็นเพราะเหตุใด?

นายแพทย์ ประวิทย์ ชี้แจงว่า “เข้าใจนะครับว่า ประเทศของเราเข้าสู่ยุค 4.0 แต่ตอนนี้ เราติดปัญหาอยู่ที่เรื่องของการพิสูจน์แสดงตัวตนว่าเป็นเจ้าของเบอร์จริงหรือไม่ หากถามว่า ทำไมเราถึงสามารถติดต่อบัตรเครดิตได้ผ่านทางโทรศัพท์ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาธนาคาร คำตอบก็คือ เพราะมันมีระบบ Pin ซึ่ง Pin ก็เหมือนรหัสเอทีเอ็ม สามารถใช้ยืนยันพิสูจน์ตัวตนได้ว่า เราเป็นคนรักษาสิทธิ์ เรารู้อยู่แค่คนเดียว แต่ในเมืองไทยนั้น ระบบบริการมือถือยังไม่เคยให้บริการในลักษณะนี้มาก่อน จึงทำให้เรายังต้องไปแสดงตัวตนที่ศูนย์บริการอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งเอกชนจะทำ ก็ย่อมสามารถทำได้ครับ แต่ยังบอกไม่ได้นะครับว่า จะได้ใช้เมื่อไหร่”

ผู้บริโภคต้องคิดคำนวณให้ดี และรู้เท่าทันอยู่เสมอ
ผู้บริโภคต้องคิดคำนวณให้ดี และรู้เท่าทันอยู่เสมอ


- กรณีที่ใช้งานโปรโมชั่นหนึ่งอยู่ แต่จู่ๆ ปรับเป็นอีกโปรโมชั่นหนึ่งให้โดยอัตโนมัติ
กรณีเช่นนี้ ค่ายมือถือผิดหรือไม่

นายแพทย์ ประวิทย์ ชี้แจงถึงข้อซักถามนี้ว่า “ค่ายมือถือ จะบอกว่า เขาแจ้งผู้ใช้บริการไปแล้วว่า เขาให้ผู้ใช้บริการเลือก แต่เรากลับไม่ยอมเลือก ค่ายมือถือจึงต้องบังคับเปลี่ยน ซึ่งจุดนี้ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อนว่า แจ้งจริงหรือไม่ แต่ถ้าพิสูจน์แล้วว่า ค่ายมือถือไม่เคยแจ้งเตือนใดๆ เลย ย่อมเท่ากับว่า ค่ายมือถือผิด 100%

“แต่ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่า ค่ายมือถือ แจ้งกับเราแล้ว แต่เราเพิกเฉยและไม่เลือก จนเขาต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นให้เราอัติโนมัติ โดยค่ายมือถือจะอ้างว่า เขาได้เลือกให้ตรงตามพฤติกรรมการใช้งานของเราแล้ว”

นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

“กสทช. เคยเรียกค่ายมือถือมาชี้แจงว่า ค่ายมือถือจะปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นให้แก่ผู้ใช้บริการตามอำเภอใจ ด้วยการอ้างว่า เลือกตามการใช้งานของลูกค้านั้น การกระทำลักษณะนี้นั้นทำไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ค่ายมือถือต้องทำก็คือ ทางค่ายต้องเสนอโปรโมชั่นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยเสนอโปรโมชั่นสัก 3 โปรโมชั่น เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือก ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการมากกว่า”

“ในอีกกรณีหนึ่ง คือ โปรโมชั่นพิเศษที่หลายคนรู้ว่า โปรลดราคา 50% ที่สามารถใช้ได้แค่ 12 เดือน หากเข้าเดือน 13 เป็นต้นไป ค่ายมือถือจะคิดราคาเต็ม จาก 500 บาท กลายเป็น 1,000 บาททันที กรณีเช่นนี้ เราทำอะไรค่ายมือถือไม่ได้นะครับ เพราะสัญญาได้เขียนเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว และค่ายมือถือไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการด้วย ดังนั้น ผู้บริโภคต้องระมัดระวังรักษาสิทธิ์ตัวเองให้ดีนะครับ” นายแพทย์ ประวิทย์ แสดงความห่วงใย


สิทธิที่คุณจะได้จ่ายน้อย ใช้เน็ตแรง
โทรฟรีมากมายนั้น เป็นของคุณ!

อย่าให้ใครมาพรากจากคุณไปได้!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน