หลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชานุญาตให้รัฐบาลจัดนิทรรศการ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ระหว่าง วันที่ 2 พ.ย. ถึง 31 ธ.ค. 60 เสร็จสิ้นไปแล้วนั้น มีประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 4 ล้านคน ก่อนจะเริ่มการรื้อพระเมรุมาศช่วงกลางเดือน ม.ค. 61

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 61 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พบเห็นประชาชนทุกหมู่เหล่าเดินทางมาชมความสง่างามของพระเมรุมาศภายนอกสนามหลวง เนื่องจากปิดให้เข้าชมเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา หลายคนไม่ทราบว่ามีการปิดให้เข้าชมแล้ว ขณะที่ บางคนยืนเกาะรั้วยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปพระเมรุมาศ บางคนก้มลงกราบบนพื้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

...

1 ปีผ่าน พ่อยังอยู่ในใจเสมอ...

คุณธนพร นนทสิทธิชัย อายุ 57 ปี และ คุณจำนงค์ เปลี่ยนผัง อายุ 59 ปี กล่าวว่า ตนยังไม่มีโอกาสเข้ามาชมพระเมรุมาศและนิทรรศการภายในเลย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ตนติดธุระ ประกอบกับฝนตก หรือบางทีก็ไม่สบาย แต่วันนี้เพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาดูในวันปีใหม่ แต่ไม่ทัน เจ้าหน้าที่ปิดให้เข้าชมพระเมรุมาศเสียก่อน รู้สึกเสียดายมากเลย ทำให้วันนี้ต้องเกาะรั้วดูอยู่ข้างนอกสนามหลวง

“วันนี้ตั้งใจนั่งรถเมล์มาตั้งแต่เช้าเลยค่ะ ก็ไปทำบุญเสร็จแล้วก็มาหาพ่อ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปปีกว่าก็ยังคิดถึงพ่ออยู่ตลอดค่ะ” คุณธนพร กล่าว

คุณนุสิริ พัฒนราช อายุ 56 ปี กล่าวว่า ตนยังไม่เคยมีโอกาสเข้ามาชมพระเมรุมาศด้านในเลยสักครั้ง แต่เข้าไปกราบพระบรมศพอยู่ครั้งหนึ่งเท่านั้น โดยวันนี้นั่งรถเมล์มาจากพัฒนาการเพื่อมาเกาะรั้วชม และจากนั้น จะไปไหว้พระ 9 วัดต่อ ซึ่งพอได้มาใกล้ชิดได้มาเห็นพระเมรุมาศก็รู้สึกคิดถึงเหมือนว่าพระองค์ท่านยังทรงอยู่กับปวงชนชาวไทย ยิ่งเห็นรูปก็ยิ่งคิดถึงพระองค์ท่าน เพราะท่านทำเพื่อคนไทยมาเยอะมาก

“บอกตรงๆ ก็รู้สึกเสียดายเหมือนกันนะคะที่ต้องรื้อออกไป จริงๆ ก็ไม่อยากให้รื้อ แต่เก็บไว้แบบนี้ก็คงไม่ได้ เราก็เข้าใจประเพณีโบราณ เราเห็นมีเจ้าหน้าที่เขาเก็บของ เราเองก็ใจหายเหมือนกันแม้จะผ่านไปปีกว่าเราก็ยังเศร้าเสียใจอยู่ ยังคิดถึงอยู่ แต่ถ้ายังไม่รื้อเราก็จะมาอีกแน่นอน” คุณนุสิริ กล่าวจากใจ

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้ามาเก็บในส่วนของนิทรรศการกลับไปยังหน่วยงานต่างๆ ผู้สื่อข่าว ได้พูดคุยกับ พ.จ.อ.ศักดิ์มีชัย ประไพวงศ์ หัวหน้าช่าง โรงงานช่างเย็บ กรมอู่ทหารเรือ หัวหน้าทีมในการรื้อนิทรรศการ กล่าวว่า ทีมงานของตนมีหน้าที่ถักแทงชุดฉุดชักราชรถ และตั้งนั่งร้านประกอบบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ และจัดนิทรรศการภายใน และในวันนี้ได้เข้ามารื้อถอนกลับมาไว้ที่หน่วยงาน

...

“สำหรับงานที่ได้ทำนี้ ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากครับ แม้เป็นเศษเสี้ยวละอองธุลีพระบาท แต่ถือว่าได้ทำงานเพื่อพ่อบ้าง ถามว่าวันนี้รู้สึกอย่างไร ก็ใจหายครับ แต่เชื่อว่าพระองค์ยังทรงสถิตอยู่ในดวงใจคนไทยทุกคนครับ” พ.จ.อ.ศักดิ์มีชัย กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

...

เกร็ดประวัติศาสตร์ออกพระเมรุ อดีตใช้กับศาสนา โรงพยาบาล

ตามประวัติศาสตร์ประเพณีโบราณนั้น สถานที่ๆ เป็นฌาปนสถานหากมีการสร้างเมรุโดยทั่วไปใช้การวางฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการเผา หรืออย่างมากจะเป็นการก่ออิฐเป็นเชิงตะกอน หรือมีการตั้งเสาสี่เสา และประดับผ้าขาวด้านบนเป็นปะรำพิธีถือเป็นอันสิ้นสุด

สำหรับธรรมเนียมในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมร่วมกันในหลายๆ วัฒนธรรมในภูมิภาค จะถือว่า การจัดงานปลงศพในกลางเมืองใหญ่ก็จะจัดขึ้นเฉพาะชนชั้นสูง สำหรับในประเทศไทย กรุงเทพฯ จะใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้าเป็นต้นไป ขึ้นไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงจะจัดกลางเมืองได้ แต่สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในพระราชพิธี เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือ พระราชทานเพลิงพระศพ นั้น ก็จะเป็นโครงสร้างชั่วคราว เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว ต้องมีการรื้อถอนลง โบราณ ใช้คำเรียกว่า รื้อลงใน 3 วัน 7 วันก็มี แต่ทั้งนี้ ในเชิงปฏิบัติ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วต้องมีการรื้อลง เพราะว่าเป็นอาคารที่ใช้สำหรับงานศพนั่นเอง

...

ส่วนการรื้อถอนอาคารในพระราชพิธีเช่นนี้นับแต่อดีต โดยทั่วไปวัสดุ เครื่องตกแต่งต่างๆ ที่เป็นวัสดุชั่วคราว เมื่อรื้อลงบางส่วนก็จะเสียหายสูญไป ส่วนที่เป็นวัสดุที่มีความคงทนแข็งแรงก็จะสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะทรงอุทิศถวายเพื่อใช้ในกิจการใดๆ ซึ่งในอดีตมักจะใช้ในกิจการพระศาสนา ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม นำโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างในงานออกพระเมรุไปใช้ในกิจการสาธารณะอื่นๆ อย่างเช่น ในงานพระเมรุของจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ ก็มีการนำโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างในงานออกพระเมรุนั้น ไปใช้สร้าง รพ.ศิริราช ในช่วงเริ่มต้น นั่นเอง

นอกจากนี้ งานศิลปกรรมตกแต่งพระเมรุมาศที่เป็นงานที่สร้างด้วยวัสดุถาวร ดังเช่น ฉากวางเพลิง หรือ พระจิตกาธาน จะสร้างด้วยไม้สักแกะสลัก และตกแต่งด้วยกรรมวิธีอย่างถาวร คือ การเปิดทองหลังกระโจมศรี ในชั้นหลังจะถูกถอดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นความรู้และเป็นมรดกของชาติสืบไป เช่นเดียวกันกับในครั้งนี้ งานศิลปกรรมสำคัญที่เป็นของคงทนถาวรก็จะได้รับการเก็บรักษาไว้ และจัดเตรียม เพื่อนำจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

รมว.วัฒนธรรม เผย โครงสร้างพระเมรุมาศ เก็บไว้ที่ไหนบ้าง?

ด้าน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จะถูกอัญเชิญไปเก็บไว้ที่กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง โครงสร้างพระเมรุมาศที่เป็นเหล็กและชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมบางส่วน จะนำไปไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตัวพระที่นั่งทรงธรรมบางส่วนจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์งานพระราชพิธีฯ ตำบลคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี และทำการเพิ่มตัวอาคารอีก 1 ชั้น สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ งานประติมากรรม และจิตรกรรม

นอกจากนี้ บรรดาศาลาลูกขุน ทับเกษตร 2 งานศิลปกรรม สัตว์หิมพานต์ เทวดา และสัตว์ประจำทิศต่างๆ ก็ถูกนำไปจัดแสดง ที่พิพิธภัณฑ์งานพระราชพิธีฯ จังหวัดปทุมธานี แชะสำนักช่างสิบหมู่ จังหวัดนครปฐม

ส่วนนิทรรศการบนพระที่นั่งทรงธรรมซึ่งเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 จะนำไปจัดแสดงใน 3 สถานที่คือ วังพญาไท หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 หอวชิราวุธานุสรณ์ ขณะที่นิทรรศการบนศาลาลูกขุน จะนำไปจัดแสดงมี่สำนักช่างสิบหมู่

สำหรับไม้ดอก ไม้ประดับที่เป็นไม้ใหญ่จะส่งคืนให้กับสวนนงนุช ดอกดาวเรืองจะนำไปจัดแสดงในงานฤดูหนาว ที่พระลานพระราชวังดุสิต ปลายเดือนม.ค.นี้ ส่วนแปลงนาหมายเลข 9 กรมการข้าง กระทรวงเกษตรจะเป็นเก็บเกี่ยวเอง

อย่างไรก็ตาม ศิลปกรรม จิตรกรรม ฉากบังเพลิง หรือแม้แต่ผ้าทองย่น บางส่วน จะเก็บเป็นตัวอย่างสำหรับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

พสกนิกรร่ำไห้ กลางพิธีอัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศ

วันที่ 11 ม.ค. 61 เวลา 8.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีทำบุญ ตักบาตรอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระที่นั่งทรงธรรม มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง โดยมีพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป ร่วมด้วยพระสงฆ์ 79 รูป รวมทั้งสิ้น 89 รูป ออกรับบิณฑบาตรอบพระเมรุมาศ ก่อนร่วมพิธีบวงสรวงการรื้อถอน และอัญเชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศ

...และในที่สุดวินาทีนี้ก็มาถึง เวลา 10.19 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพิธีบวงสรวงการรื้อถอน และอัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ท่ามกลางอากาศเย็นสบายไม่มีแดด

วินาทีที่ได้อัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศ เสียงร้องห่มร้องไห้ของพสกนิกรไทยดังไปทั่วบริเวณพิธี หยาดน้ำตารินไหลสะเทือนใจกับภาพตรงหน้าที่วันนี้พระเมรุมาศจะต้องถูกรื้อถอนออกและปรับภูมิทัศน์สนามหลวงให้กลับไปดังเดิม

คุณรินรดา กาญจนเกตุ อายุ 54 ปี ทำธุรกิจเกี่ยวกับจิวเวลรี่ และยังเป็นจิตอาสาขับรถรับส่ง ขนเสบียง แจกอาหาร เครื่องดื่ม บริการทำความสะอาดพื้นที่คืนให้เทศกิจ โดยทำมาตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เล่าถึงความรู้สึกในวันนี้ว่า “รู้สึกตื้นตันมากเลยค่ะ (สะอื้น) แม้วันนี้จะรื้อพระเมรุมาศไปแล้ว แต่พ่อยังอยู่ในใจเราเสมอค่ะ จากนี้ จะตั้งใจทำความดี ทำในสิ่งที่ดีๆ ตามที่พ่อสอนไว้ คนไทยต้องช่วยเหลือกัน รักกันค่ะ”

ด้าน คุณทิพวัลย์ ภู่เรียนศิลป์ ประชาชนจิตอาสา อายุ 54 ปี กล่าวว่า ตนตั้งใจมาจากสมุทรปราการ เพื่อมาใส่บาตรและร่วมพิธีบวงสรวงการรื้อถอน และอัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศ

“ใจหายค่ะ (สะอื้น) และคิดถึงพ่อมากๆ ค่ะ ผ่านมาปีกว่าพระองค์ท่านอยู่กับประชาชนของท่านมาโดยตลอด ท่านไม่ได้จากเราไปไหนไกลเลย สิ่งที่จะทำให้พ่อได้ คือ เราจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เท่าที่ลูกของพระองค์คนนี้จะทำให้กับประเทศได้” คุณทิพวัลย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว ก่อนก้มลงไปกราบเบื้องหน้าพระเมรุมาศ

และนี่คือความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากหัวจิตหัวใจของพสกนิกรของพ่อหลวง ที่ประสงค์จะยืนหยัดทำความดี จงรักภักดี และสิ่งที่ทุกคนรู้สึกเหมือนๆ กัน คือ พ่อจะอยู่กับเราตลอดไป...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน