เมื่อถามถึง “นกแอร์” คุณนึกถึงอะไร?...สีเหลือง, low-cost, นักบินสไตรก์, ดีเลย์ หรือแม้กระทั่ง CEO คนเก่า ‘พาที สารสิน’...

วันนี้โอกาสดี แดดร่มลมตก อากาศหนาว ทีมข่าวแบกเสื้อโค้ตตัวเก่งเดินทางไปใจกลางสาทร โดยมีจุดหมายปลายทางคือ บริษัท นกแอร์ สำนักงานใหญ่

ปิยะ ยอดมณี
ปิยะ ยอดมณี

นกแอร์เปิดห้องรับแขก พูดคุยสารพัดสารพันเรื่องราวกับ ซีอีโอคนใหม่แห่งสายการบินโลว์คอสต์ของไทย “ปิยะ ยอดมณี” ผู้บริหารไฟแรง ที่วินาทีนี้ ถือว่าน่าจับตามากที่สุดคนหนึ่ง

...

คนนอกวงการการบิน นอกวงการเศรษฐกิจ ใครเล่าจะรู้ว่า “ปิยะ ยอดมณี” มีชื่อเล่นว่า “นก” สอดคล้องกับคำว่า “นกแอร์” อย่างพอดิบพอดี ซึ่งในช่วงก่อตั้งสายการบินราคาประหยัดของไทย อันมาจากอีกหนึ่งปีกแยกย่อยของการบินไทยนั้น “พาที” นั่งหารือโต๊ะเดียวกับ “ปิยะ” คิดหาไอเดียของชื่อที่จะใช้เรียกขานสายการบินใหม่นี้ว่าอย่างไรดี

จนมาสรุปสุดท้ายที่คำว่า “นก” อันเป็นชื่อของ “ปิยะ” และเป็นคำที่สะท้อนถึงการทำงานของสายการบินได้อย่างถ่องแท้

“นก ปิยะ” เดินขยับเนกไทเข้ามาในห้องรับแขก ที่พวกเราทีมข่าวนั่งรออยู่ก่อนแล้ว เราเอ่ยทักทายกันเล็กน้อยก่อนจะเข้าเรื่อง เข้าคำถามที่หลายคนอยากรู้มากที่สุด ณ ขณะน้ี

การเปลี่ยนไม้จาก “พาที” มาสู่ “ปิยะ” ประชาชนคนไทยจะได้เห็นอะไรจาก “นกแอร์” ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ปิยะ”? เราเริ่มต้นถามคำถามง่ายๆ แต่อาจตอบยากทันที

นก ปิยะ เอียงคอยิ้มอย่างกันเอง ก่อนจะตอบว่า “เมื่อนึกถึงนกแอร์ ผมอยากให้ทุกคนนึกถึงรอยยิ้ม และการบริการ ผมไม่อยากให้ใครมานั่งนึกถึงตัวบุคคล ตอนนี้เราพยายามเน้นในเรื่องของการดูแลลูกค้า เน้นความเป็นไทย และเน้นเรื่องการตรงต่อเวลา และเราต้องยอมรับว่า นกแอร์ดีเลย์ครั้งหนึ่งก็มักจะถูกพูดกันไปไกลต่างๆ นานา เพราะสมัยนี้โลกโซเชียลเร็วมาก ซึ่งจุดนี้ เราต้องปรับแก้ และเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลมากที่สุด

...

“ผมวางเป้าหมายไว้ว่า ในปีหน้า 2561 การบริการของนกแอร์จะเปลี่ยนไป ผู้ใช้บริการจะได้รับความประทับใจมากขึ้น และคนไทยจะต้องจดจำภาพนกแอร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ นกแอร์ ในแบบฉบับแอร์ไลน์ที่เป็นไลฟ์สไตล์ สายตา นก ปิยะ ฉายแววมุ่งมั่น

ความยากของการขึ้นมาเป็น ซีอีโอนกแอร์ ในวันที่นกแอร์บอบช้ำจากการขาดทุนมาต่อเนื่อง 3 ปี คืออะไร? ทีมข่าวถาม นก ปิยะ อย่างตรงไปตรงมา

...

นก ปิยะ นิ่งคิดอยู่ชั่วอึดใจ ก่อนจะตอบว่า ความยาก คือ การเรียงลำดับความสำคัญของงาน เพราะงานมันจะเยอะไปหมด แต่ว่าเราต้องค่อยๆ ทำทีละอย่าง ในขณะที่ บุคลากรของเรามีจำนวนจำกัด ดังนั้นในทุกๆ หน่วย ทุกๆ ฝ่ายต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ดีก่อนว่า ควรจะทำอะไรก่อน ควรจะทำอะไรหลัง แต่ถ้าทำทุกอย่างพร้อมกันคงไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องไล่แก้ ไล่พัฒนากันไปเรื่อยๆ แต่ในความยากนี้ เราก็ยังมีข้อดีที่ว่า พนักงานของที่นี่ไม่ใช่คนอื่นคนไกล พวกเราคือคนที่ทำงานที่นี่กันมานาน เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ซึ่งส่วนนี้จะช่วยทำให้งานมันดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น”

ความยากอีกประการหนึ่งก็คือ ความคาดหวัง เพราะด้วยความที่เราเป็นองค์กรขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ การจะหันเหไปในทิศทางไหน การจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ทุกอย่างล้วนต้องใข้เวลา และทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ทุกคน (หมายถึง พนักงานในองค์กร) ต้องเข้าใจว่า เขาทำอะไร เขาเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้องค์กรเดินต่อไปได้ เพราะเราอย่าลืมว่า ในโลกการทำงานของแอร์ไลน์นั้น ทุกภาคฝ่ายต้องพึ่งพากัน จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้” นก ปิยะ ตอบตามประสบการณ์การทำงานบนธุรกิจการบินที่เขามีไม่ต่ำกว่า 20 ปี

...

“แต่ทุกๆ ความยากนั้น มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ เพราะเราเชื่อมั่นเสมอว่า คนของเรามีทักษะความสามารถกันเป็นอย่างดี เพียงแต่ว่า ช่วงก่อนหน้านี้ พวกเขาอาจจะอยู่ในความไม่ชัดเจนบางอย่าง” นก ปิยะ เผยถึงความนึกคิดของคนในองค์กรในช่วงก่อนหน้านี้

ทีมข่าวถามซีอีโอแห่งนกแอร์ ต่ออีกว่า หากโจทย์สำคัญคือ ฟื้นจากสภาวะขาดทุน การแก้โจทย์นี้ภายใต้การดูแลของ นก ปิยะ จะมีสูตรแก้โจทย์นี้อย่างไร?

“ยุคนี้เป็นยุคของการเลือก มันง่ายเหลือเกินที่คุณจะเข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อเปรียบเทียบราคา เปรียบเทียบความสะดวกสบายต่างๆ ที่คุณจะได้รับ เพราะฉะนั้น แผนของเราต่อจากนี้ก็คือ เราต้องเลือกสิ่งที่ตรงใจลูกค้า และตอบโจทย์กับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด”

นก ปิยะ ยกตัวอย่างโปรเจกต์ใหม่ของนกแอร์ว่า “เรามีรูปแบบการเดินทางแบบใหม่ นั่นก็คือ นกเลือกได้ ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกซื้อบัตรโดยสาร และบริการต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของตัวผู้โดยสารเอง โดยบัตรโดยสารที่ว่านี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1. บินเบาๆ จะมีราคาถูกที่สุด 2. บินสบาย โหลดกระเป๋าสัมภาระได้ 20 กิโลกรัม(เส้นทางต่างประเทศ) 15 กิโลกรัม(เส้นทางในประเทศ) และ 3. บินเพลิดเพลิน ที่จะเพิ่มการบริการอาหารร้อนบนเที่ยวบินด้วย”

ข้าวปูผัดผงกะหรี่ และข้าวผัดชาวเกาะที่มีให้บริการบนเครื่อง
ข้าวปูผัดผงกะหรี่ และข้าวผัดชาวเกาะที่มีให้บริการบนเครื่อง
ผัดหมี่ฮ่องกงเจ และข้าวกระเพราะไก่ไข่ดาว ที่มีให้บริการบนเครื่อง
ผัดหมี่ฮ่องกงเจ และข้าวกระเพราะไก่ไข่ดาว ที่มีให้บริการบนเครื่อง

นอกเหนือจากแผนนี้ นกแอร์ยังลุยในเรื่องของการเพิ่มเที่ยวบิน โดย นก ปิยะ เล่าว่า “เรากำลังปรับเพิ่มเที่ยวบินให้มีมากขึ้น เพราะเมื่อเราใช้เงินเช่าเครื่องบินมาแล้ว แต่ถ้าเราใช้งานน้อย มีเที่ยวบินน้อย ย่อมถือว่าใช้ทรัพยากรที่มีได้อย่างไม่คุ้มค่า แต่ถ้าเราเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ความคุ้มค่า และกำไรก็จะมีมากขึ้นตามมาด้วย

NOK SHOP
NOK SHOP

เมื่อเที่ยวบินของทางสายการบิน ถูกเพิ่มเที่ยวมากขึ้น ย่อมหมายความว่า นักบินต้องทำงานหนักมากขึ้น แผลเก่าระหว่างนักบินและฝ่ายบริหาร เป็นอย่างไรบ้าง? ทีมข่าวถามถึงข่าวใหญ่ที่เคยปรากฏเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปเมื่อกุมภาพันธ์ปี 59

นก ปิยะ ตอบคำถามของเราอย่างรวดเร็วว่า คลี่คลาย ไม่มีปัญหา ตอนนี้นับว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดีมาก ทางฝ่ายบริหาร และนักบินมีการพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งทางนักบินเองก็รับฟัง มีการนัดหมายที่จะคุยกัน ในเรื่องของความเดือดร้อน สะท้อนความคิดของพนักงานว่า พวกเขาคิดอะไรอยู่ หรือเจอปัญหาอะไรอยู่ และทางฝ่ายบริการก็หาคำตอบให้ว่า ทุกภาคฝ่ายจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไรให้เป็นธรรมกับทุกคนมากที่สุด”

“ณ ปัจจุบัน เรามีจำนวนนักบินทั้งหมด 268 คน ซึ่งถือว่าเพียงพอ หรืออาจจะมากกว่าที่จำเป็นนิดหน่อย นับว่าอยู่ในระดับที่ดีทีเดียว” นก ปิยะ กล่าวด้วยความเชื่อมั่น

ด้วยความที่คำถามของเราอาจจะทำให้บรรยากาศของการพูดคุยกันในครั้งนี้ดูเคร่งเครียดไปเสียหน่อย ระหว่างทีมข่าว และซีอีโอแห่งนกแอร์ จึงเปลี่ยนรูปแบบการพูดคุยไปถึงเรื่องราวหนหลังของ นก ปิยะ อย่างเป็นกันเอง

นก ปิยะ เล่าอย่างยิ้มๆ ว่า “เดิมทีแล้วนั้น ผมชื่นชอบการถ่ายภาพ และการปั่นจักรยานอย่างมาก แต่ด้วยความที่ช่วงหลังมานี้ งานเต็มไม้เต็มมือ มันจึงทำให้ผมไม่ค่อยได้มีเวลาออกไปทำกิจกรรมพวกนี้สักเท่าไร”

ทีมงานของซีอีโอนกแอร์ ยื่นมือถือที่เปิดหน้าจอมาพร้อมกับอินสตาแกรมที่ใช้ชื่อว่า nokpiya ส่งมาให้พวกเราทีมข่าวได้รับชม ซึ่งภาพต่างๆ ในอินสตาแกรมนั้น ก็ไม่ใช่ของใครที่ไหน

นก ปิยะ คือ ผู้บันทึกภาพถ่ายธรรมชาติแสนแปลกตาแต่สวยสดงดงาม และเขาเองก็เป็นผู้อัพภาพขึ้นไปยู่บนอินสตาแกรมนั้นนั่นเอง

เราชื่มชมความสวยงามของภาพนี้ พร้อมๆ เรื่องราวในวัยเด็กของเขา...

“ช่วงชีวิตวัยเด็กของผมไม่ได้เป็นเด็กเกเรอะไร แต่อาจจะดูเป็นเด็กที่เงียบๆ ไม่ค่อยพูดเสียมากกว่า ช่วงมัธยมผมเรียนโรงเรียนประจำอยู่ที่อังกฤษ จากนั้นก็ไปเรียนวิทยาศาสตรบัณฑิต การบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา” นก ปิยะ มองขึ้นฟ้า พร้อมลำดับเรื่องราว

“ในช่วงนั้น ผมมีโอกาสได้ไปทำงานเสริมที่ร้านอาหารไทยในบอสตัน ซึ่งตำแหน่งที่ผมทำก็คือ เด็กเสิร์ฟ ด้วยความที่อยากเรียนรู้งานในร้านอาหาร และเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย จึงทำให้ผมตัดสินใจไปทำงานที่นั่น” นก ปิยะ เริ่มเปลี่ยนอิริยาบถที่เคร่งเครียดเป็นยิ้มแย้มโดยที่เขาไม่รู้ตัว

ผมจำได้เลย ตอนนั้นผมเหนื่อยมาก ชีวิตไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน ไปถึง 4 โมงเย็น ต้องเสียบหมูสะเต๊ะ ห่อปอเปี๊ยะ ทำนู่นนี่นั่นจนถึงตีหนึ่ง ผมไม่คิดเลยว่า ชีวิตนี้จะต้องมาทำอะไรแบบนี้มาก่อน บางทีเสิร์ฟจนงงว่า เอ๊ะ ชามแกง 2 ชามในมือเรา อันไหนพะแนง อันไหนแกงเผ็ด เพราะร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ปรุงออกมาก็ไม่ได้มีหน้าตาคล้ายกับของไทยแท้ๆ ผมก็เสิร์ฟไป ไม่รู้ผิดถูกหรือเปล่า ผมไม่รู้ ฝรั่งก็คงไม่รู้มั้ง” นก ปิยะ พูดพลางหัวเราะลั่น

นกชวนชิม
นกชวนชิม


โดยประสบการณ์การทำงานของ นก ปิยะ ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ ถือว่าจัดเจนในวงการแอร์ไลน์อยู่ไม่น้อย...

บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด กันยายน 2560 – ปัจจุบัน
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด กรกฎาคม 2557 – ปัจจุบัน
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด
- รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)
- Director, Long Term Planning Department
- General Manager, Indonesia
- Department Manager, Revenue Planning Department
- General Manager, Northern Region – Malaysia

สายการบินราคาประหยัดสัญชาติไทย อย่าง 'นกแอร์'
ภายใต้การกุมบังเหียนของ 'ปิยะ ยอดมณี' จะเป็นอย่างไรต่อไป
'ฟื้น' หรือ 'ฟุบ'
อีกไม่นานเกินรอ เราคงจะได้เห็นกัน...