การประมูล รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา เริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ ถือเป็นการประมูลรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกในไทย (ไม่นับ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 179,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลไทยสนองรัฐบาลจีนโดยไม่มีการประมูล) แต่มีผู้เข้ายื่นประมูลเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และ กลุ่มบีทีเอส ของ เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ ผมดูหุ้นส่วนสองฝ่ายแล้ว กลุ่มซีพี ดูบิ๊กเบิ้มใหญ่กว่า กลุ่มบีทีเอส เยอะทีเดียว

ใครพลาดก็ต้องไปรอประมูลสาย กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในอนาคต

ตอนที่รัฐบาลเริ่มคิด โครงการรถไฟความเร็วสูง เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทาบทามให้ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ กลุ่มซีพี ทำรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา และทาบทาม เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มไทยเบฟ ทำรถไฟความเร็วสูงสายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน

แต่ผู้ยื่นซองประมูล รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน มีเพียง กลุ่มซีพี และ กลุ่มบีทีเอส สองกลุ่มเท่านั้น ไม่มี กลุ่มไทยเบฟ เข้าร่วมด้วย หรือจะรอประมูลสายใต้

...

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี เปิดเผยว่า โครงการนี้ กลุ่มซีพี ถือหุ้นใหญ่ 70% กลุ่มไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (จีน) ถือหุ้น 10% กลุ่มทางด่วนและรถไฟฟ้าบีอีเอ็ม ช.การช่าง ถือหุ้น 15% และ อิตาเลียนไทย ถือหุ้น 5% นอกจากนี้ กลุ่มซีพี ยังมีพันธมิตรใหญ่ที่แข็งแกร่งอีก เช่น CITIC กรุ๊ป บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่จีน ไชน่า รีซอสเซส (จีน) ซีเมนส์ (เยอรมัน) ฮุนได (เกาหลีใต้) บริษัทรถไฟอิตาลี JABIC ธนาคารเพื่อความร่วมมือญี่ปุ่น เป็นต้น อิตาลีจะรับผิดชอบเรื่องการเดินรถ การบำรุงรักษา CRRC จีน รับผิดชอบการก่อสร้างรางและระบบ ตัวรถไฟอาจเป็นซีเมนส์และฮุนได

กลุ่มบีทีเอส คุณสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า บีทีเอส ถือหุ้น 60% ซิโน–ไทย ถือหุ้น 20% บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี ถือหุ้น 20%

เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ ไม่มีบริษัทจาก จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ที่เป็น เจ้าของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง เข้าร่วมประมูลแม้แต่รายเดียว

ผมคิดว่าทุกบริษัทคงหวังที่จะขายรถไฟความเร็วสูงให้ไทยมากกว่าจะร่วมเสี่ยงด้วย ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไทยจะเลือกรถไฟความเร็วสูง ที่เป็น “ระบบเปิด” ซื้อหัวรถจักรและขบวนรถจากบริษัทไหนก็ได้ในอนาคต ไม่ต้องผูกขาดอยู่กับบริษัทที่ขายให้ครั้งแรกเพียงรายเดียว เหมือน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ขาดทุนยับเยิน การใช้ “ระบบเปิด” จะช่วยให้การดูแลรักษาและการซื้อขบวนรถใหม่ในอนาคตมีราคาถูกลงอย่างมาก

คุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ เปิดเผยขั้นตอนต่อจากนี้ว่า วันที่ 13-19 พฤศจิกายน จะเปิดซองที่ 1 เรื่องคุณสมบัติผู้ประมูล วันที่ 20 พฤศจิกายน-11 ธันวาคม จะเปิดซองที่ 2 เรื่องเทคนิค วันที่ 12-17 ธันวาคม จะเปิดซองที่ 3 เรื่องราคา และ สรุปผลการคัดเลือกเบื้องต้นวันที่ 18 ธันวาคม-1 มกราคม คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในวันที่ 28–31 มกราคม 2562

ถือเป็น การประมูลที่รวดเร็วมาก ทั้งที่ มีวงเงินสูงกว่า 224,000 ล้านบาท มีอายุโครงการนานถึง 50 ปี เร็วกว่าการประมูลซื้อรถเมล์สี่ร้อยกว่าคันหลายปีเลยทีเดียว

มีคนสงสัยว่า ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีระยะทาง 220 กม. ต้องหยุดอีก 9 สถานี ทำไมต้องใช้รถไฟความเร็วสูง 250 กม.ต่อชั่วโมง ก็มีคำตอบจาก สำนักงานอีอีซี ว่า ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ จะวิ่งด้วยความเร็วเท่าแอร์พอร์ตลิงก์ 160 กม.ต่อชั่วโมง แต่ช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง ผมเชื่อว่าวิ่งไม่ถึงแน่นอน เพราะต้องจอดอีก 5 สถานี แต่ค่าโดยสารถูกเหลือเชื่อ มักกะสัน-พัทยา 270 บาท มักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท นั่งรถไฟความเร็วสูงไปนอนเล่นพัทยาได้ทุกวันเลย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”