2 ก.ค.2540 เวลา 08.30 น. ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” หลังจากที่ “ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ” ที่ไทยมีอยู่ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “เกลี้ยงหน้าตัก” เหลือเศษเงินอยู่เพียง 158 ล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น อันเป็นจาก ที่ ธปท.งัดเอาทุนสำรองออกไปต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินของกองทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) จากทั่วโลก!

ท้ายที่สุดประเทศไทยต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการจาก “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่างที่ไอเอ็มเอฟหยิบยื่นให้

ถือเป็น “วิกฤติเศรษฐกิจ” ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ จนนำไปสู่ความตกต่ำของเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ธุรกิจเอกชนน้อย-ใหญ่ทั้งระบบ ธนาคารและสถาบันการเงินกว่า 60 แห่งต้อง “ปิดตัวลง” ผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว แรงงานตกงานกันเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

11 ส.ค.2540 ธปท.ต้องลงนามในหนังสือแสดงความจำนงขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Letter of Intent : LOI) ฉบับที่ 1 จำนวนเงิน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯในรูป Stand-by arrangement หรือการทยอยให้ตามหนังสือแสดงเจตจำนงระยะเวลา 34 เดือน (ส.ค.2540-31 พ.ค.2543) พร้อมขอรับความช่วยเหลือจากพันธมิตรอีก 9 ประเทศวงเงินกว่า 13,200 ล้านเหรียญ ผ่านธนาคารพัฒนาเอเชียและธนาคารโลก

แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวก็มาพร้อมกับ “บทลงโทษ” อันรุนแรง!!!

การประกาศปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็น “ลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float)” ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยไหลรูดจาก 25.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลให้บริษัทเอกชนที่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในมือเวลานั้นมีหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 100% ถึงขั้นไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ ต้องประสบภาวะ “ล้มละลาย” และปรับโครงสร้างหนี้ตามมาเป็นพรวน!

...

“วิกฤติเศรษฐกิจไทย” ยังสาหัสมากขึ้นไปอีก เพราะเราไม่ได้ประสบวิกฤติที่มาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศและจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่องรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า Twin Crisis ในฝั่งของสถาบันการเงินที่ประสบ “วิกฤติ” อย่างรุนแรงเช่นกัน เมื่อมาประจวบกับความ “อ่อนหัด” ต่อการรับมือเงินร้อนของ ธปท.ในเวลานั้น จึงยิ่งเร่งวิกฤติให้จมปลักลงไปอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน!!!

เมื่อบริษัทดีๆประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้จากค่าเงินที่อ่อนค่ารุนแรงได้ ทำให้สินเชื่อกว่าครึ่งของระบบสถาบันการเงินไทยกลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาฐานะเงินกองทุนไม่เพียงพอ เริ่มจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ก่อนลุกลามไปสู่ธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นๆอีกนับร้อยตามมา

เมื่อมาประจวบเหมาะกับความไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้าในการแก้ไขปัญหาจากการที่ผู้คนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุน ที่แม้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินจะอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้ารักษาสภาพคล่องของสถาบันการเงินไทยแต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานกระแสตื่นตระหนกของผู้คนได้

ท้ายที่สุดกระทรวงการคลังและ ธปท.ต้องสั่งระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวบริษัทเงินทุน 16 แห่ง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2540 และออกประกาศระงับเพิ่มเติมอีก 42 แห่งในอีก 2 เดือนต่อมา ก่อนจะตามมาด้วยการ “รูดม่าน” ปิดกิจการถาวรไปถึง 56 แห่งในท้ายที่สุด

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่ถือเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ได้ปิดกิจการไปถึง 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ธนาคารสหธนาคาร ศรีนคร มหานคร นครหลวงไทยและธนาคารแหลมทอง ส่วนธนาคารไทยแห่งอื่นๆ แม้ไม่ถูกปิดกิจการ แต่ผู้บริหารต้องวิ่งพล่านหาพันธมิตรจากต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเพื่อเอาตัวรอด จนทุกธนาคารไม่สามารถจะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของคนไทยเอาไว้แม้แต่แห่งเดียว

ผลพวงจากการปิดธนาคาร สถาบันการเงินนับร้อยที่เกิดขึ้น ส่งผลให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินต้องเข้าไปอัดฉีดเงินและเข้าไปช่วยเพิ่มทุนกู้วิกฤติให้สถาบันการเงินที่ปิดกิจการ ต้อง “รูดม่าน” ปิดบัญชีความเสียหายด้วยการสร้างหนี้สาธารณะฝากไว้ให้ลูกหลานใช้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท

แม้กาลเวลาจะผ่านมาถึง 20 ปี จนวันนี้หนี้ก้อนมหึมาก้อนนี้ยังเหลืออยู่มากกว่า 900,000 ล้านบาท

นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างหนักในประเทศไทย วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ยังกระจายพิษสงต่อไปหลายประเทศจนกลายเป็น “วิกฤติการเงินในภูมิภาคเอเชีย” ทำให้ต่างชาติขนานวิกฤติในครั้งนั้นว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” กลายเป็นต้นแบบของวิกฤติการเงินในอีกหลายซีกโลกตามมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของวิกฤติต้มยำกุ้ง “ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้ย้อนรอยสอบถามผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเหตุการณ์ในครั้งนั้น เพื่อสะท้อนข้อคิดและมุมมอง รวมทั้งสะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังเป็นอยู่แนวร่วมหาทางการรับมือหากประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติในลักษณะเดียวกันอีกครั้ง ดังนี้ :

“ทนง พิทยะ” ย้อนรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง

เริ่มจาก นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ได้ย้อนรอยที่มาของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในครั้งนั้นว่า 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติปี 40 เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องปีละ 9-10% ทุกปี ทุกคนได้ประโยชน์หมด ราคาที่ดินพุ่ง ดัชนีหุ้นทะยาน ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยกันคล่องมือ รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้เยอะ

แต่ท่ามกลางการเติบโตที่ว่าได้เกิดปัญหาสะสมระหว่างทาง โดยเฉพาะช่วง 5 ปีก่อนวิกฤติ เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตจากการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่าย ภาคเอกชน สถาบันการเงินต่างออกไปกู้หนี้ยืมสินเข้ามาจำนวนมากเพื่อปล่อยกู้จนเกิดการลงทุนเกินความพอดีในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอสังหาริมทรัพย์

...

ขณะเดียวกันประเทศก็มีการนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกจนเกิดขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามสกัดการเก็งกำไร โดยใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็งกำไร แต่ผลพวงจากนโยบายเปิดเสรีทางการเงินหรือ BIBF ขณะที่เรายังคงใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ผูกติดค่าเงินบาทไว้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็น จึงยิ่งทำให้เงินทุนระยะสั้นทะลักเข้ามาจากการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำในต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อ “กินส่วนต่าง” ดอกเบี้ย

จุดนี้เองที่ทำให้เจ้าหนี้ต่างประเทศเริ่มเห็นความ “เปราะบาง” ของเศรษฐกิจไทยที่เติบโตขึ้นจากการเป็นหนี้มากกว่าความสามารถจากการลงทุนตนเอง จึงเริ่มเรียกคืนเงินกู้ สถาบันจัดอันดับเครดิตเริ่มปรับลดเครดิต และในที่สุดก็เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน โจมตีค่าเงินบาท โดยกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” ซึ่งมีการโจมตีค่าเงินอย่างรุนแรงถึง 3 ครั้ง โดยครั้งใหญ่สุดเมื่อเดือน พ.ค.2540 ที่ภายในสัปดาห์เดียวมีการทำเฮดจิ้งกับ ธปท.มากกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“ขณะที่ ธปท.พยายามปกป้องค่าเงิน โดยต้องดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ไปใช้ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังยึดติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเราปกป้องค่าเงินจนหมดหน้าตัก ประเทศจึงเริ่มเข้าสู่ความเสี่ยง สถาบันการเงินเริ่มอ่อนแอ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่กู้เงินต่างประเทศ หรือที่ค้ำประกันเงินกู้เริ่มถูกเรียกหนี้คืนจนไม่มีความสามารถในการชำระเงินกู้ได้ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเหมือนธุรกิจที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน รมว.คลังในสมัยนั้นจึงประกาศลาออกในวันที่ 16 มิ.ย.”

...

ผ่าตัดมะเร็งร้าย...ลอยตัวค่าเงิน

“ผมถูกเรียกให้เข้ามาเป็น รมว.คลัง ในวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งได้เข้ามาประเมินสถานการณ์และเข้าไปดูว่าสถานะ ธปท.เสียหายแค่ไหน ซึ่งพบว่าตอนนั้นเราไม่เหลืออะไรแล้ว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศหมดแล้ว ขณะที่เงินทุนยังคงไหลออกอย่างเดียว และประเทศเราไม่มีเครดิตแล้วเหลือแค่เงินสำรองสำหรับพิมพ์ธนบัตรเท่านั้น ทำให้ต้องตัดสินใจประกาศนโยบายลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค. เพราะเราไม่สามารถฝืนต่อไปได้” อดีต รมว.คลังกล่าว

ทันทีที่รัฐประกาศลอยตัวค่าเงินออกมา ความเสียหายที่สั่งสมอยู่ก็ระเบิดออกมา ประชาชนแตกตื่นพากันไปถอนเงินแบงก์ขนาดเล็กจนขาดสภาพคล่อง ลุกลามไปทั้งระบบเหมือนเชื้อโรคร้ายระบาด กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจทั้งประเทศ จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือจาก “ไอเอ็มเอฟ” ให้จัดหาเงินกู้ให้ เพราะสภาพเราตอนนั้นเหมือนบริษัทล้มละลาย หมดเครดิตอย่างสิ้นเชิง!

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยติดลบสุดๆอยู่เพียง 2 ปีเท่านั้น คือปี 2540-41 หลังจากนั้นในปี 42 ก็สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้เราส่งออกได้ดีขึ้น การท่องเที่ยวเติบโตขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆต้นทุนถูกลงจนเริ่มกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเป็นบวกทำให้ประเทศไทยเริ่มสะสมพลังงาน จนสามารถใช้คืนหนี้ไอเอ็มเอฟได้
ภายใน 6 ปี เทียบกับประเทศอื่นๆที่ใช้เวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป

“ผมโดนด่าเป็น 10 ปีจากคนที่เสียหายโทษฐานที่เป็นคนประกาศลอยตัวค่าเงิน ตอนนั้นใครที่กู้เงินดอลลาร์เข้ามาต้องบาดเจ็บกันหมด แต่เราจำเป็นต้องทำ เหมือนผ่าตัดมะเร็งที่ต้องทำเร่งด่วนด้วย ถ้าไม่ทำจะเสียหายยิ่งกว่านี้ ไม่มีทางแก้อื่น เพราะประเทศล้มละลายไปแล้ว”

...

ส่วนโอกาสจะเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกหรือไม่นั้น อดีต รมว.คลังกล่าวว่า มีน้อยมาก วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะไม่ใช่จากระบบอัตราแลกเปลี่ยน หรือสถาบันการเงิน แต่จะเป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ไม่เติบโต หรือเติบโตต่ำมากๆ จนไม่โตเลยอย่างเอสเอ็มอีขายของไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าคงไปไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพราะรัฐบาลคงใช้นโยบายเข้าไปช่วยทั้งลดดอกเบี้ย ลดภาษี ขณะที่เมื่อคนรากหญ้าไม่มีกำลังซื้อก็ใช้นโยบายประชานิยมเข้ามากระตุ้นได้เรื่อยๆ

อดีต รมว.คลังยังทิ้งท้ายด้วยว่า บทเรียนจากวิกฤติในครั้งนั้น ทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงินซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ทุกวันนี้สถาบันการเงินก็ระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น มีระบบป้องกันและบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบหลังบทเรียนครั้งที่แล้ว

เศรษฐกิจไทยเดินมาไกลจากอดีต

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ต้นตอวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 นั้นเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ช่วงนั้นตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก บวกกับขนาดของประเทศไทยที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบตลาดเงินโลก เมื่อเราถูกโจมตีค่าเงินบาท จึงไม่สามารถสู้ได้ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ

ย้อนรอยเส้นทางต่อสู้จากวันที่ล้มทั้งยืน

“ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น เศรษฐกิจไทยดีมาก เรตติ้งของประเทศดี ดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวขึ้น เมื่อต่างชาติมาเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บริษัทเอกชนก็แข่งกันไปกู้เงินมาขยายธุรกิจโดยไม่ได้ระมัดระวัง แต่เมื่อถูกโจมตีค่าเงินบาท ทุนสำรองของประเทศไทยที่มีอยู่ไม่สามารถจะแบกรับได้ที่สุดจึงต้องประกาศลดค่าเงินบาท ประกอบกับในช่วงนั้นประเทศไทยขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่จะนำไปใช้หนี้ต่างประเทศ จึงได้เข้าโครงการของไอเอ็มเอฟ โดยต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขมากมาย ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง โรงงานผลิตสินค้าออกมาไม่สามารถขายของได้ บริษัทเอกชนเจ๊ง โรงงานปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ก็เจ๊งตามไป”

อย่างไรก็ตาม หลังบทเรียนในครั้งนั้น ในส่วนของภาคเอกชนก็มีการปรับตัว เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกิจ ไม่เร่งขยายธุรกิจเกินจนตัวและไม่ก่อหนี้สินจำนวนมาก เห็นได้จากปัจจุบันบริษัทเอกชนมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1 ต่อ 1 หรือ 1 กว่าๆต่อ 1 ต่างจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่บริษัทเอกชนหนี้สินสูงกว่าเงินทุนถึง 3-4 เท่าตัว บรรดาธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มความแข็งแกร่ง ต่างปรับเปลี่ยนรูปแบบการอนุมัติสินเชื่อ มีการนำระบบบริหารความเสี่ยงมาใช้

“ภาคเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันต่างกับเศรษฐกิจในช่วงปี 40 อย่างมาก ปัจจุบันไทยมีความมั่นคงกว่ามาก เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 184,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสูงกว่าภาระหนี้ต่างประเทศ 3.4-3.5 เท่า ขณะภาคเอกชนไทยมีภาระหนี้ต่างประเทศน้อยมาก เงินกู้ส่วนใหญ่ก็พึ่งพาในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ประเทศยังได้ดุลการค้าทำให้มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯไหลเข้า ดังนั้นเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง”

“สวัสดิ์” เตือนสติรับมือวิกฤติ

ลูกหนี้ในตำนานอีกคนที่ถูกจารึกในวิกฤติต้มยำกุ้ง และเป็นลูกหนี้ที่เขย่าขวัญสั่นประสาทเจ้าหนี้มากที่สุดคนหนึ่งด้วยวลีเด็ด “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เขาคือ “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” เจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้ย้อนรอยถึงการฝ่าวิกฤติในครั้งนั้นกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนวิกฤติเขามีหนี้รวมๆ ราว 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ธุรกิจและหนี้สถาบันการเงินที่เขาใช้เครดิตส่วนตัวค้ำประกันไว้

หลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หนี้ก้อนนี้พุ่งพรวดขึ้นไปถึง 170,000-180,000 ล้านบาท แถมดอกเบี้ยเงินกู้ที่เคยอยู่ที่ 4-5% ขยับขึ้นไปเป็น 20-25% กลายเป็นหนี้ก้อนมหึมาท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในไทย แต่ประเทศในเอเชียต่างโดนหางเลขไปด้วย “ตอนนั้นเจ้าหนี้โทร.มาเต็มไปหมด เครียดมากเลยบอกไปว่าผมไม่หนี แต่ตอนนี้ผมไม่มี ผมไม่จ่าย นักข่าวมาสัมภาษณ์ก็บอกไปอย่างนี้”

เขาบอกว่าสุดท้ายเขาต้องยอมแพ้และยอมรับความจริง เดินเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ ยกธงขาวยอมให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน จนทำให้ตัวเขาเหลือสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 2-3% ส่งผลให้เจ้าหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทมากกว่า 90% “เสียโรงเหล็กไป เสียธุรกิจ แต่ปลอดหนี้ ทั้งหนี้ส่วนตัวและหนี้บริษัท และเครดิตก็หมดไปด้วย แต่ผมทำใจได้ ของไม่ใช่ของเรา เมื่อสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมแพ้ ทำธุรกิจเราต้องรู้ว่าถึงเวลาได้เราได้ ถึงเวลาเสียเราต้องยอมเสีย ผมยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ยึดติดจึงทำให้ผมมีวันนี้ผมถือว่าผมพ้นเวรพ้นกรรมแล้ว”

“สวัสดิ์”เล่าว่า หลังจากนั้นบริษัทเขาก็ไปรวมกิจการกับโรงเหล็กของบริษัทในเครือปูนใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทมิลเลนเนี่ยน สตีล นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ และ “ทาทาสตีล” ธุรกิจเหล็กยักษ์ใหญ่ของโลกก็เข้ามาเทกโอเวอร์ไป สุดท้ายแบงก์เจ้าหนี้ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ได้เงินคืนจากการขายหุ้นให้ทาทาสตีลทำให้แบงก์ไม่เสียหาย แถมได้กำไร

“สวัสดิ์” ยังได้เตือนคนรุ่นใหม่ว่า วันนี้โลกเชื่อมต่อถึงกัน เป็นยุค Globalization ที่เปิดเสรีถึงกันหมด หากเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกจะยากยิ่งขึ้น เพราะเราไม่มีแนวป้องกันอีกแล้ว

เขายังมองว่า หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อไปจะเกิดกับคนชั้นกลางถึงระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ปัญหาจะน่ากลัวกว่าที่คิด ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลกอย่างรวดเร็วจะทำให้คนตกงานอีกมหาศาล เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย เพราะหุ่นยนต์จะทำงานแทนเกือบทั้งหมด “ดังนั้น ทางแก้ผมมองว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา เราต้องการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกมาก ประเทศไทยต้องวางผังเมืองใหม่ สร้างถนนหาทางใหม่ที่ไม่ขวางทางน้ำ เหมือนในปัจจุบันที่เป็นต้นเหตุทำให้น้ำท่วมไปได้ทั่วทุกพื้นที่ รวมทั้งโครงการลงทุนของรัฐประชาชนต้องได้ประโยชน์อย่างถาวร ขณะที่คนไทยคนรุ่นใหม่ต้องปรับตัว ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลก ไม่เลือกงาน ไม่ขี้เกียจ”

“แต่ที่แย่และน่ากลัวที่สุดคือ นักการเมืองห่วยๆที่ยังมีบทบาทและอำนาจอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุ ที่เร่งทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจได้อีกครั้ง!!” “สวัสดิ์” กล่าวทิ้งท้าย

“ศิริวัฒน์” กับคัมภีร์ฟื้นธุรกิจ

อีก 1 ในผู้ที่บาดเจ็บสุดสาหัสจากวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนั้นคือ “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์และเซียนหุ้นที่มีคนลงขันให้บริหารพอร์ตให้ ที่ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายในทันทีหลังโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานในครั้งนั้น ชีวิตต้องพลิกผันจากที่คิดการใหญ่จะทำ “คอนโดหรู” แถวปากช่องขายไฮโซ-เซเลบ มาทำแซนด์วิชในนาม “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” ขายข้างถนน

“ศิริวัฒน์” เล่าว่าในวันนั้นเขามีหนี้เกือบพันล้านบาท เพราะหุ้นที่ใช้บัญชี “มาร์จิ้น” หรือกู้เงินมาเล่นราคาร่วงอย่างหนักทุกตัว จนต้องถูกบังคับขายหรือ “ฟอร์ซเซล” ในราคาขาดทุน คอนโดที่สร้างไว้อย่างหรูโดนทิ้งดาวน์เจ๊งไม่เป็นท่า ตัวเขาและภรรยาแบกหนี้ทันทีเกือบพันล้านบาท ต้องปิดบริษัทและถูกฟ้องล้มละลาย

โชคดีที่เจ้าหนี้ใหม่ที่ซื้อหนี้ของเขาไปบริหารไม่ตามไล่บี้เก็บหนี้ต่อ เพราะหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันถูกขายไปหมดแล้วเลยถูกตีเป็นหนี้สูญ สถานะเขาวันนั้นจึงไม่มีหนี้ ไม่มีเงิน และไม่มีเครดิต!! เขาพร้อมลูกน้องที่เหลืออยู่ 20 คนที่ไม่รู้จะไปไหนต่อ จึงหอบหิ้วกันมาทำแซนด์วิชขายประทังชีวิต ตามคำแนะนำของภรรยาที่เห็นว่าทำง่าย ใช้ทุนต่ำ และน่าจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวและลูกน้องได้

“ผมเป็นเอ็นพีแอลรุ่นแรกของประเทศไทย เพราะล้มดังและล้มจริง มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ เพราะนักข่าวเคยรู้จักผมอยู่แล้วจากการเป็นผู้บริหารโบรกเกอร์ ไปขายที่ไหนยืนอยู่ข้างถนนก็มีคนมาช่วยซื้อและให้กำลังใจ เพราะสงสาร ผมว่าผมโชคดีที่ได้รับความเห็นใจจากคนไทย ไม่มีใครซ้ำเติม ช่วงแรกอาจมีคนปรามาสบ้าง เพราะคิดว่าสร้างภาพคงทำได้ไม่นาน บ้างก็ว่าล้มไม่จริง ผมเองก็ไม่คิดว่าชีวิตจะมายืนขายแซนด์วิชข้างถนนได้ แต่ผมก็ฟื้นได้จากแซนด์วิช เพราะผมทำของดีขายใช้ของดี ราคาสูงกว่าเจ้าอื่นแต่กินแล้วติดใจมาช่วยซื้ออีก หากซื้อด้วยความสงสารก็คงขายได้แค่ครั้งเดียว”

“ศิริวัฒน์” เล่าว่าสิ่งที่ทำให้เขายืนหยัดอยู่ได้ เพราะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ให้กำลังใจตัวเองและท่องคาถา “ไม่ท้อ ไม่อาย ไม่ยอมแพ้” และจากบทเรียนครั้งนั้น สอนให้เขารู้ว่าต้องรู้จักอยู่อย่างพอเพียง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จ ถ้าสำเร็จแล้วอย่าเหลิง อย่าคิดว่าตัวเองแน่ แต่ถ้าล้มเหลวแล้วอย่าท้อ ต้องปรับตัวให้ได้กับสถานการณ์ อย่าอาย อย่ากลัวเสียหน้าให้ยอมรับความจริง แล้วหาช่องทางในการฟื้นฟูตัวเองและธุรกิจ

“ที่ผ่านมาผมโลภมีร้อยล้านก็อยากมีพันล้าน ประมาทและหลงตัวเอง อีโก้คิดว่าตัวเองแน่ ตัวเองเก่ง แต่เมื่อเจอปัญหาก็ล้มไม่เป็นท่า วันนี้ผมฟื้นแล้วแม้ไม่ได้กลับไปรวยเท่าเดิม แต่ผมมีความสุขเพราะอยู่กับความ พอเพียง”

“ศิริวัฒน์” เผยด้วยว่า เขาเพิ่งกลับมาขายแซนด์วิชอีกครั้งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เพราะที่ผ่านมา หาคนงานมายืนขายยากมาก จึงหันไปทำน้ำเม่าเบอร์รี่ และข้าวอบกรอบฝากขายตามห้างค้าปลีกและสายการบิน แม้จะขายดีแต่โดนห้างกินมาร์จิ้นไป 40% และต้องให้เครดิตกว่าจะเก็บเงินได้ 45 วันเหลือกำไรน้อยมาก จนเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งตกงานมาติดต่อขอขายแซนด์วิช ทำให้เขาตัดสินใจกลับมาทำอีกครั้ง โดยเริ่มเปิดตลาดเดินขายที่สำเพ็ง และบริการส่งแบบ Deliverly ด้วย แถมมีบริการทำอาหารกล่องสำหรับเลี้ยงในงานศพและงานสัมมนาต่างๆด้วย

“ศิริวัฒน์” บอกว่า เด็กคนนี้มีกำไรวันละ 300–500 บาท เขาบอกว่าไม่เคยคิดว่าขายแซนด์วิชจะเปลี่ยนชีวิตจากคนตกงานกลับมามีรายได้อีกครั้ง “ศิริวัฒน์” จึงฝากบอกกับคนที่ตกงาน ต้องการหารายได้ โดยขายแซนด์วิช ติดต่อมาที่เขาโดยตรงได้ที่เบอร์ 0–2676-4772-3

“ศิริวัฒน์” ยังได้วิเคราะห์เศรษฐกิจขณะนี้ให้ฟังว่า หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้ มองว่าจะหนักกว่าปี 40 เพราะครั้งนั้นคนเจ๊งคือ คนรวย นักธุรกิจ สถาบันการเงิน นักอุตสาหกรรมใหญ่ๆ

“แต่ตอนนี้ภาคที่เจอวิกฤติคือ “คนจน” ที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 11 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ของคนชั้นกลางถึงระดับล่าง เป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือราว 30 ล้านคน มีหนี้รวมกันถึง 11 ล้านล้านบาทที่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายหนี้ กำลังซื้อจึงหดหายทำให้เงินหมุนเวียนในประเทศน้อยลง เศรษฐกิจฝืดเคืองทุกระดับ กำลังซื้อหายตั้งแต่ระดับถนนถึงระดับห้าง ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุดก่อนคือ SME ซึ่งเขาแนะนำให้ต้องรีบปรับตัว ประหยัดรายจ่ายลดต้นทุน หาช่องทางเพิ่มรายได้ เพื่อประคองตัวประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปให้ได้”.

ทีมเศรษฐกิจ