อเล็กซานเดอร์มหาราช.
อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์หนุ่มผู้พิชิต เป็นลูกของราชาฟิลิปที่ 2 กับราชินีโอลิมเพียส พ่อของเขาได้ขึ้นนั่งบัลลังก์แห่งเมซีดอน แคว้นชายขอบทางทิศอีสานบนคาบสมุทรกรีก ก่อนที่เขาจะลืมตาขึ้นมาดูโลก 3 ปี
ครั้นอเล็กซานเดอร์อายุ 10 ขวบ ราชาฟิลิปก็ทำให้ “รัฐบาลนอก” อย่างเมซีดอนกลายเป็นรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดด้วยนโยบาย “รวมกรีกให้เป็นหนึ่ง”
ในสายตาของชาวเอเธนส์ศูนย์กลางความเจริญของอารยธรรมกรีก พวกเมซีดอนต่อให้มีอำนาจทางทหารแค่ไหนก็ไม่พ้นถูกมองว่าเป็นคนเถื่อน ฟิลิปผู้เป็นพ่อจึงว่าจ้างครู ชั้นเยี่ยมมาถ่ายทอดวิชาความรู้ของอารยชนให้แก่ลูกชาย ครูคนนั้นมีชื่อว่า “อริสโตเติล” ส่วนวิชาว่าด้วยการทหารและนโยบายทางการเมือง ราชาฟิลิปรับหน้าที่เป็นติวเตอร์ด้วยตัวเอง
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน คือ ราชาฟิลิปถูกลอบสังหารโดยองครักษ์ส่วนตัว อเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นเพียงวัยรุ่นต้องอ้างสิทธิ์ขึ้นนั่งบัลลังก์แทนพ่อ ท่ามกลางสายตาของแว่นแคว้นอื่น และศัตรูตลอดกาลของกรีก คือชาวเปอร์เซียที่มองว่าเขาก็แค่เด็กอมมือ
...
อเล็กซานเดอร์ด้วยวัยเพียง 21 ปี ได้นำกองทัพแห่งเมซีดอน (ที่ขุนศึกนายกองส่วนใหญ่คือเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน) ถล่มคนเถื่อนดานูเบียน ที่ลอบตีเมืองบริวารของเมซีดอนอย่างราบคาบ ก่อนจะยกทัพใหญ่ลงใต้เพื่อประกาศศึกกับเมืองธีบส์ (Thebes) เมืองโบราณของกรีกจนพินาศย่อยยับ ทำให้ทั่วทั้งคาบสมุทรกรีกไม่มีใครกล้าหือกับเด็กอมมือคนนี้อีก...
อายุเข้า 22 ปี อเล็กซานเดอร์ก็เดินนโยบายตามที่พ่อได้กรุยทางไว้คือ “บุกเอเชีย” เดินนโยบาย รวมตะวันออก-ตะวันตกให้เป็นหนึ่ง
แต่อเล็กซานเดอร์ก็สิ้นลมเมื่ออายุเพียง 32 ปี ในเดือนมิถุนายน เมื่อ 323 ปี ก่อน ค.ศ. ด้วยโรคร้ายในร่างกายที่บอบช้ำหนักจากการกรีธาทัพและการศึก นโยบายรวมตะวันตก-ตะวันออกเป็นหนึ่งโลกเดียวก็ไม่มีใครสานต่อ หลังอเล็กซานเดอร์ตายไป เหล่าแม่ทัพนายกองที่ติดตามมาก็ตัดแบ่งดินแดนต่างๆในอาณาจักรแยกกันไปปกครอง...
มีหลายคนมาตั้งรกรากแถวๆอินเดียทางเหนือ หันมาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้ากลายเป็นองค์อุปถัมภ์ในพระศาสนาไปเสียก็มาก เช่น พระเจ้าเมนันเดอร์ ที่ 1 หรือที่เราคุ้นกันในชื่อพระเจ้ามิลินท์ ผู้ตั้ง “มิลินทปัญหา”, พระเจ้ากนิษกะมหาราช ผู้ได้รับขนานนามว่า พระเจ้าอโศกองค์ที่ 2
แต่ 10 ปี แห่ง “การประกาศแสนยานุภาพ” ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสูญเปล่า ชัยชนะของอเล็กซานเดอร์ทำให้วัฒนธรรมกรีกหยั่งรากลงหลักปักฐานจนก่อให้เกิดอารยธรรมเฮเลนนิสติก (Hellenistic) ตามมา
ในฟากตะวันออก (ของกรีก) “ความเป็นกรีก” ได้แผ่ขยายเข้าไปในดินแดนภายใต้อาณัติปกครองของขุนศึกของอเล็กซานเดอร์ ผู้คนในเยรูซาเล็ม อียิปต์ หรือแถวๆตะวันออกกลาง ปรับวัฒนธรรมเดิมของคนให้ละม้ายคล้ายไปทางกรีกมากขึ้น ทั้งภาษา การศึกษา ศิลปะ วรรณกรรม...จะเว้นเพียงศาสนาและความเชื่อเท่านั้นที่ยังคงไม่เป็นกรีก
เมื่อวัฒนธรรมกรีกและยิวมาผสมกัน มันได้ให้กำเนิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา และภายใต้บรรยากาศวัฒนธรรมใหม่ๆนี่เองที่จีซัส แห่งนาซาเร็ธ หรือพระเยซูคริสต์ได้ออกเทศนาคำสอนใหม่
ขณะที่ในฟากตะวันตก จักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ได้รับช่วงอารยะไปจากชาวกรีก จวบจนถึงยุโรปหลังยุคกลาง ความเป็นกรีกได้ถูกค้นพบใหม่ในสมัยแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หลังจากที่คริสต์ศาสนาได้หยั่งรากไปเรียบร้อยแล้ว
นั่นคือการยาตราทัพของอเล็กซานเดอร์ ถือเป็นต้นธารของวัฒนธรรม “กรีก-โรมัน-ยิว-คริสต์” อันเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมตะวันตก อารยธรรมที่ “ครอบ” และมีพวกที่ใช้มัน “ครอง” โลกอยู่ในขณะนี้...
นักประวัติศาสตร์อย่าง อาร์โนลด์ ทอยน์บี (Arnold Toynbee) ได้เสนอสถานการณ์สมมติที่มีชื่อเสียงมากว่า “หากอเล็กซานเดอร์ไม่ด่วนจากไปแต่วัยเยาว์แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?”
แดนมังกรที่จิ๋นซีฮ่องเต้กำลังรวบรวมอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็คงตกเป็นอาณาจักรของ อเล็กซานเดอร์
แอฟริกาคงเป็นส่วนหนึ่งของมหาอาณาจักร เนื่องมาจากการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทะเล
...
ภาษากรีกจะเป็นภาษาสากลของโลก
และพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาหลักของโลก
นี่แหละครับคือ “โลกเดียว” ของอเล็กซานเดอร์ ที่อาจแตกต่างไปจากโลกปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้อย่างสิ้นเชิง...
นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เองก็เสนอสถานการณ์สมมติขึ้นมาอีกแนวหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับของทอยน์บี นั่นคือ...หากไม่มีการยาตราทัพของ อเล็กซานเดอร์ อะไรจะเกิดขึ้น?
เหตุการณ์นั้นเกือบจะเกิดขึ้นจริงๆในประวัติศาสตร์ด้วยครับ
ตอนที่อเล็กซานเดอร์นำทัพเหยียบย่างเข้าแผ่นดินเอเชีย ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับการตั้งกองทัพเปอร์เซียในสมรภูมิกรานิคัส อเล็กซานเดอร์ในวัยหนุ่มกำลังห้าว แต่งชุดเกราะแม่ทัพสีขาวที่โดดเด่นเห็นแต่ไกล บุกตะลุยนำหน้าเหล่าแม่ทัพนายกองทั้งมวลเพื่อสร้างความฮึกเหิมและขวัญกำลังใจให้กองทัพ แม้ในสายตาของขุนศึกเฒ่าพาร์มีเนียน (Parmenion) ผู้อยู่ในสนามรบจะห้ามปรามไว้แล้ว เพราะชัยภูมิเสียเปรียบต่อข้าศึกนั่นเอง ตลิ่งของฝั่งแม่น้ำกรานิคัสสูงชัน ทัพหลังจะตามแม่ทัพไม่ทัน อีกทั้งข้าศึกอาจใช้แผนล่อเสือออกจากถ้ำ ทำทีเป็นถอยร่นทำให้แม่ทัพโหมรุกเข้าไปตกอยู่ในวงล้อมของตน ซึ่งง่ายต่อการล้อมฆ่าแต่อเล็กซานเดอร์ก็ไม่ฟัง
...
การณ์ก็เป็นไปอย่างที่นายพลชราคิดไว้ อเล็กซานเดอร์ขี่ม้าบูเซฟาลัส (Bucephalus) โหมบุกไปโดยที่ถูกตัดขาดจากทัพหลัง ตกอยู่ภายใต้วงล้อมของข้าศึก แม่ทัพเปอร์เซียนามสปิธริดาเตส (Spithridates) ใช้อาวุธคู่กายคือขวาน จามเข้าที่ศีรษะของอเล็กซานเดอร์ได้อย่างจัง!
เดชะบุญ! หมวกเกราะของกษัตริย์หนุ่มช่วยชีวิตเขาไว้ แต่ความแรงของขวานที่ฟาดลงมาทำให้หมวกเกราะเสียหายอย่างหนัก และอเล็กซานเดอร์เองก็อยู่ในสภาพเหมือนใกล้ถูกน็อก ไม่อาจป้องกันตัวเองได้อีกต่อไป
สปิธริดาเตสเงื้อขวานขึ้นหมายจามซ้ำลงไป!
ถ้าเพียงการจามครั้งนี้เกิดขึ้น กษัตริย์หนุ่มก็ต้องจบชีวิตตั้งแต่วัย 22 ปี จะไม่มีการบุกตะลุยเอเชีย ไม่มีอเล็กซานเดอร์มหาราช ไม่มีต้นธารของอารยธรรมตะวันตกที่ครอบโลกอยู่ในขณะนี้...
แน่นอนครับว่า อเล็กซานเดอร์รอดตายจากวินาทีมรณะนั้นไปได้ และโลกก็เป็นอยู่อย่างที่มันเป็นอยู่ในตอนนี้...แต่เขารอดได้อย่างไร?
บางครั้งบางเรื่องบางราวในประวัติศาสตร์ก็เหมือนเรื่องเหลือเชื่อ ใครจะไปนึกว่าอารยธรรมตะวันตกนั้นมันขึ้นอยู่กับวินาทีมรณะของอเล็กซานเดอร์ในสมรภูมิริมฝั่งแม่น้ำกรานิคัส
ในการประจัญบานแบบตัวต่อตัวระหว่างสปิธริดาเตสกับอเล็กซานเดอร์ เมื่อสปิธริดาเตสเงื้อขวานหมายจามลงไปซ้ำ แต่คลีตุส เดอะแบล็ค (Cleitus the Black) องครักษ์ของอเล็กซานเดอร์ ไม่รู้โผล่มาจากไหน เสยหอกยาวเข้ากลางลำตัวมือขวานเปอร์เซียถึงฆาตในทันที อเล็กซานเดอร์จึงพ้นมัจจุราช ได้สติแล้วลุกขึ้นนำทัพรบกับศัตรูได้ โดยฝ่ายกรีกตายไปเพียง 34 คน ขณะที่ฝ่ายเปอร์เซียถูกฆ่าไป 20,000 คน
โลกจึงเป็นอย่างที่เราเห็นๆอยู่ในขณะนี้...
“โจชาห์ โอเบอร์” (Josiah Ober) นักประวัติศาสตร์การทหารได้กล่าวถึงสถานการณ์สมมติว่า หากการเฉาะซ้ำครั้งนั้นสำเร็จผล อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง?
...
หลังความตายที่ไม่คาดฝัน ทัพเมซีดอน ก็คงยกเลิกการตะลุยเอเชีย ยกทัพกลับไปกรีก อิทธิพลของเมซีดอนก็คงเสื่อมลง เอเธนส์จะกลายเป็นศูนย์กลางทั้งทางทหาร ทางการเมือง และวัฒนธรรม บนคาบสมุทรกรีก...
ทางด้านเปอร์เซียก็คงเลือกที่จะค้าขายอย่างสันติ ไม่อยากที่จะไปแหย่ชาวกรีกให้ยกทัพข้ามน้ำข้ามทะเลมารุกรานอีก ปัญหาของกรีกเอง คงไม่ได้อยู่ทางทิศตะวันออกอย่างเดิม แต่จะอยู่ทางทิศตะวันตก นั่นคือเกิดการเผชิญหน้าของ 2 มหาอำนาจทางทะเล คือ คาร์เธจ (Carthage) ที่ตั้งอยู่บนแอฟริกาตอนเหนือ กับเอเธนส์ เพื่อแย่งกุมอำนาจการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเอาไว้ จะเกิดการรบพุ่งทางทะเลครั้งใหญ่ ในขณะที่คาร์เธจและเอเธนส์อ่อนแอลงจากสงคราม โรมก็จะค่อยๆขยาย อำนาจจากการขึ้นเป็นผู้นำในคาบสมุทรอิตาลี ต่อด้วยการสลายอำนาจของคาร์เธจ ก่อนจะยกทัพรุกรานกรีก...ความทะนงของชาวเอเธนส์จะทำให้ทัพโรมันต้องสังหารหมู่ชาวเอเธนส์และเผาเมืองจนพินาศ อารยธรรมของกรีกก็พินาศสาบสูญไปในพริบตา
ทีนี้โรมันและเปอร์เซียจะเผชิญหน้ากันโดยตรง แต่พื้นฐานความเชื่อของทั้ง 2 วัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จะนำไปสู่การผสมผสานและหลอมรวมกันทางอำนาจและวัฒนธรรม มากกว่าการระเบิดศึกเข้าใส่กัน อิทธิพลความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเท่าเทียมทางการเมือง และเกียรติภูมิของปัจเจกแบบชาวกรีก ไม่ได้ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรม 2 ขั้วผสมผสานที่เกิดขึ้น ไม่มีวัฒนธรรมหลัก (master culture) ไม่มีความพยายามจะทำให้โลกเป็นโลกเดียว
ศาสนายิวจะเป็นเพียงความเชื่อของพื้นถิ่น จีซัส แห่งนาซาเร็ธอาจจะเป็นเพียงศาสดาของท้องถิ่น ในพันธสัญญาใหม่ (พระคริสตธรรมใหม่-New Testament) จะไม่ผสมด้วยความเป็นสากลที่มุ่งหวังการแพร่ขยายสู่ผู้นับถือในหมู่มาก
การก่อเกิดของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง
คำว่าวัฒนธรรมจะมีความหมายเพียงระดับท้องถิ่น ไม่มีความพยายามผลักดันวัฒนธรรมใดไปสู่ความเป็นสากล (ที่มีนัยถึงการใช้มันครอบงำโลก) และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การปะทะทางวัฒนธรรม” ก็ไม่บังเกิด
โลกก็คือโลก ผู้เกรียงไกรอย่างอเล็กซานเดอร์อยากให้มันเป็นแบบหนึ่ง แต่มันก็ไม่เป็น แถมไอ้ที่มันเป็นๆอยู่ ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบที่เราอยากให้มันเป็นสักเท่าไหร่...
วิถีที่โลกดำเนินไป ใครเล่าที่อหังการกล้ากำหนดมัน?
โดย : วาทิต ชาติกุล
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน