อาหารไทย เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติใน ลำดับต้นๆ

จากการสำรวจของหลายสำนักข่าว ด้วยอาหารไทยเป็นอาหารที่มีรสชาติกลมกล่อม มีครบทั้งรสเผ็ด จากพริกสารพัดพันธุ์ ทั้งสด แห้งและป่น รสหวานจากน้ำตาลทราย น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย รสเค็มจากน้ำปลา เกลือ และซีอิ๊วขาว รสเปรี้ยวจากมะนาว มะขามเปียก น้ำส้มสายชูหมัก และความมันจากกะทิและน้ำมัน

ทำให้ตลอดระยะเวลานับสิบๆปี “อาหารไทย” จึงมีสถานะเป็นอาหารที่ได้รับความสนใจจากนักชิมทั่วโลก

ทั้งรูปแบบร้านอาหารไทย วัตถุดิบอาหารไทย เครื่องปรุงรสอาหารไทย ตำราอาหารไทย หรือแม้แต่โรงเรียนสอนทำอาหารไทยที่เปิดกันอยู่ทุกทวีปทั่วโลก

สิ่งที่ต้องยอมรับและนับว่าเป็นข้อดีของอาหารไทย คือ การนำภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทยที่สั่งสมมายาวนาน มาสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้อาหารไทยต่างจากอาหารชาติอื่นๆ ทั้งรสชาติ ความวิจิตรบรรจง รวมถึงองค์ประกอบของเครื่องปรุงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าอาหารไทยอาจมีความผิดเพี้ยนทั้งเรื่องรสชาติและรูปลักษณ์ของอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการปรุงอาหารไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้วัตถุดิบที่ไม่เหมาะสม

วิธีการป้องกันและแก้ไขทางหนึ่งคือ การจัดทำมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นเรื่องเป็นราว เช่น อาหารไทยแต่ละเมนูต้องมีวัตถุดิบหลักและส่วนผสมที่จำเป็นอะไรบ้าง สำหรับอาหารไทยเมนูนั้นๆ ไม่ใช่นำส่วนผสมอะไรก็ได้มาผสมกันกับวัตถุดิบหลักแล้วเรียกว่าอาหารไทย เพราะนั่นจะทำให้รสชาติอาหารไทยผิดเพี้ยน

สถาบันอาหาร หน่วยงานในกำกับกระทรวงอุตสาหกรรม จึงริเริ่มกิจกรรมส่งเสริมมาตรฐานด้านรสชาติอาหารไทย (Authenticity of Thai Food) ซึ่งจะจัดทำมาตรฐานอาหารไทยทั้งเมนูคาว หวาน และทำการทดสอบ ทวนสอบสูตรอาหารไทยต้นแบบ ด้วยการทดสอบทางประสาทสัมผัส (ชิม) และการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ตรวจวัดกลิ่นและรสชาติของอาหาร

...

เมื่อมาตรฐานดังกล่าวแล้วเสร็จ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆคือ ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ประกอบการอาหาร ที่ผลิตอาหารประเภทซอสปรุงรสอาหารไทยสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบน้ำ ก้อน ผง

เมื่อผู้ประกอบการผลิตอาหารที่มีรสชาติเป็นไปตามมาตรฐานอาหารไทยที่กำหนดแล้วนั้น จะทำให้ได้อาหาร “รสไทยแท้” ที่มีรสชาติไม่ผิดเพี้ยน สมเจตนารมณ์ของการเป็นครัวอาหารของโลก

นอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของอาหารและความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องคงคุณค่าของอาหารไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ยากที่จะมีชาติใดในโลกเหมือนอีกด้วย.