ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2556 และมีผลบังคับใช้วันที่ 14 ก.ค. 2557 เป็นต้นมา

โดย พ.ร.บ.กีฬาอาชีพ เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนกีฬาอาชีพ เป็นเครื่องมือคุ้มครองบุคลากรกีฬา ผู้บริหาร เจ้าของสโมสร/ทีม นักกีฬา สตาฟฟ์โค้ช เจ้าหน้าที่ทีม ผู้ตัดสิน ให้ทำหน้าที่ตามครรลองที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน อีกทางยังเป็นเครื่องมือป้องกันปรามไม่ให้เกิดการทุจริต กระทำการอันเสื่อมเสีย

ให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่นายทะเบียน คือ เจ้าหน้าที่ กกท. ดำเนินการเอาผิดตามบทลงโทษที่ระบุไว้

ทั้งนี้ ผ่านมาเกือบ 3 ปี มีบุคลากรกีฬาไม่น้อย ที่ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.กีฬาอาชีพ และปฏิบัติตาม ขณะที่อีกส่วน ก็ยังมีที่ไม่นำพา ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดในการปฏิบัติตน เฉพาะอย่างยิ่งหากฝ่าฝืน บทลงโทษ จะเป็นอย่างไร หนักแค่ไหน วันนี้ฮอตสปอร์ตจะนำเสนอเพื่อย้ำเตือนอีกครั้ง

สำหรับบทกำหนดโทษ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก โทษทางปกครอง มาตรา 58 สโมสรกีฬาอาชีพ สมาคมกีฬาอาชีพ ไม่จดแจ้งดำเนินการตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อมูล หลักฐานที่ได้เคยยื่นขอจดแจ้งไว้แล้วตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา 59 สโมสรกีฬาอาชีพ สมาคมกีฬาอาชีพ ไม่จัดทำสัญญาจ้าง ตกลงร่วมกันเป็นหนังสือ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการจ้าง ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท, มาตรา 60 สโมสรกีฬาอาชีพ สมาคมกีฬาอาชีพ ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 มาตรา 23 หรือมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

...

มาตรา 61 สโมสรกีฬาอาชีพและสมาคมกีฬาอาชีพ ไม่ดูแลนักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ บรรดากองเชียร์ ผู้ชม ที่อยู่ภายในบริเวณสถานที่จัดให้อยู่ในความเรียบร้อยตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท, มาตรา 62 ผู้จัดกีฬาอาชีพ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 ต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 63 การกำหนดโทษปรับทางปกครอง การพิจารณาลงโทษทางปกครอง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์แห่งการกระทำความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนที่ 2 โทษทางอาญา มาตรา 64 ผู้ใดให้ ขอให้รับว่าจะให้ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพ ผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, มาตรา 65 ผู้ใดเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง ผู้อื่นเพื่อให้มีการกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 66 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือกติกา หรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 67 ผู้ตัดสินใดเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกา หรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 68 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) ไม่มาให้ถ้อยคำ ส่งเอกสารหลักฐาน สิ่งอื่นใดตามคำสั่งของคณะกรรมการ (2) ขัดขวางไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่

ต้องบอกว่า โทษล้มกีฬา เด็ดขาดและหนักหน่วง โดยเฉพาะโทษทางอาญา ยิ่งตอนนี้ฟุตบอลไทยลีก หนึ่งในกีฬาอาชีพที่ฮอตฮิต เริ่มฟาดแข้งเลกที่ 2 แล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องสำนึกในหน้าที่ของตนเองให้ดี หากใครเริ่มไขว้เขว เริ่มมีสิ่งเย้ายวนอื่น มีเงิน มีของมาล่อใจ ได้โปรดมีสติ ไม่เช่นนั้นอาจเสียอนาคต ต้องเปลี่ยนที่ยืน

จากสนามหญ้า ไปอยู่ในคุกแทน...

กัญจน์ ศิริวุฒิ