ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ วิกฤติพลังงาน ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การที่ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ สภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติ ปี 2564-2566 อันเกิดจากผลพวงของความล่าช้าในการเปิดสัมปทานแหล่งก๊าซ บงกชและเอราวัณ ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 รวมทั้งกรณี โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา ต้องเลื่อนการก่อสร้างออกไปไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เดิมทีกระทรวงพลังงานกำหนดว่าจะต้องเปิดประมูลแหล่งก๊าซในอ่าวไทยทั้ง 2 แห่งให้เสร็จสิ้นกลางปีนี้

ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่ล่าสุด วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ออกมาระบุว่า ภายในเดือน กรกฎาคมหรือสิงหาคม นี้ จะต้องมีการเปิดประมูลผู้รับสัมปทานทั้ง 2 แห่ง คาดว่าจะได้ผู้ชนะในช่วงประมาณเดือน ก.พ.ปี 2561 แต่ถ้าช้าไปกว่านี้แผนพลังงานของประเทศก็จะได้รับผลกระทบทันที

แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณสามารถจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้รวมกันสูงสุดถึงร้อยละ 44 ของประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้สัมปทาน ปัจจุบันต้องมีการลดกำลังการผลิตตามแผนที่จะทำให้ก๊าซหายไปราว2 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 1,700 เมกะวัตต์ เดิมวางแผนสำรองโดยการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่กระบี่และเทพา แต่เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งต้องเลื่อนการก่อสร้างออกไป ทำให้กลายเป็นระเบิดเวลาด้านพลังงานทันที เพราะอย่างน้อยการศึกษาผลกระทบใหม่จะทำให้โครงการดังกล่าวเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อยถึง 4 ปี

อีกเหตุการณ์ก็คือ การที่ 7 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม ต้องหยุดกิจการชั่วคราวตาม คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมีพื้นที่การดำเนินการบางส่วนทับซ้อนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรหรือ สปก. ส่งผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมชนิดคาดไม่ถึง

...

เป็นระเบิดเวลาอีกลูกที่พร้อมจะระเบิด

แม้แต่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ก็ยังอดแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับพลังงานของประเทศไม่ได้ ตรงกับมุมมองของ เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มองว่า ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ทับซ้อนกัน จนส่งผลกับ การลงทุนของประเทศ ที่รัฐจะต้องเร่งแก้ปัญหา ก่อนที่จะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน

การหยุดการผลิตปิโตรเลียมรอบนี้ ประเมินผลกระทบเบื้องต้น ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบ ลดลง 16,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว ลดลง 100 บาร์เรลต่อวัน มีมูลค่ารวม กว่า 47 ล้านบาทต่อวัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาทต่อวัน ค่าภาคหลวงที่จะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะลดลงกว่า 3.55 ล้านบาทต่อวัน

ถ้าหยุดไป 100 วัน รายได้ประเทศจะหายไป 2,600 ล้านบาท

ระเบิดเวลาที่กำลังทำลายเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงรัฐต้องเร่งหาทางออกโดยด่วน ได้แต่หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะผ่าทางตันเรื่องนี้ จะให้อำนาจตาม ม.44 ก็ต้องใช้ก่อนจะกลายเป็นหายนะประเทศ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th