5 ปีที่แล้ว ตัน โฮย หลิง และแอนโธนี ตัน ร่วมกันก่อตั้งแอพพลิเคชัน My TEKSI ขึ้นมาในมาเลเซีย ประเทศบ้านเกิด หลังถูกเพื่อนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบ่นให้ฟังว่า เรียกแท็กซี่ในมาเลเซียยาก จนมาถึงวันนี้ My TEKSI กลายสภาพมาเป็น Grab (แกร็บ) ขยายบริการครอบคลุม55 เมืองใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แกร็บ แอพพลิเคชันด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชิญสื่อมวลชนหลายสิบชีวิต จาก 7 ประเทศที่แกร็บเปิดให้บริการ ไปร่วมฉลองความสำเร็จครบรอบ 5 ปี ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
แกร็บวันนี้ แตกต่างและเติบโตขึ้นอย่างมาก มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาร่วมงาน ถือเป็นสตาร์ตอัพที่ลงทุนจ้างงานในอัตราสูงกว่าทั่วไป ซึ่งตัน โฮย หลิง อธิบายว่า เป็นเพราะแกร็บกำลังพยายามอย่างหนักที่จะนำเสนอบริการที่ดี ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ หากอยู่แต่เพียงในโลกออนไลน์ คงไม่จ้างพนักงานมากมายเช่นนี้
...
เฉพาะในประเทศไทย แกร็บมีพนักงานราว 300 คน ไม่รวมคนขับในเครือข่าย ที่ปัจจุบันมีอยู่เกือบ 1 ล้านคนใน 7 ประเทศก้าวสู่ปีที่ 6 แกร็บทำตัวเลข เติบโตที่บ่งชี้สถานภาพทางธุรกิจได้อย่างสดใส มียอดดาวน์โหลดแอพมากกว่า 45 ล้าน ครั้ง เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีก่อนหน้า มีคนใช้บริการเกือบวันละ 2.5 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งจากเมื่อ 6 เดือนก่อน และล่าสุดเพิ่งขยายบริการเข้าสู่เมียนมา นอกเหนือจากไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
นับจากปี 2557 เป็นต้นมา (ก่อตั้งเมื่อปี 2555) แกร็บก็เริ่มเนื้อหอมพอที่จะดึงดูดนักลงทุน ให้อัดฉีดเงินเข้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่กลุ่มเทมาเส็ก ตามด้วย GGV Capital และ Qunar ที่ใส่เงินเข้ามา 15ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามด้วย Tiger Globalและ Hill House Capital อีก 65 ล้านเหรียญฯ Softbank 250 ล้านเหรียญฯ รวมทั้ง China Investment Corporation, Didi Kuaidi ซึ่งร่วมกันลงทุน 350 ล้านเหรียญฯและสุดท้าย Softbank ที่อัดฉีดเงินเพิ่มรอบ 2 ในอัตรา 750 ล้านเหรียญฯ เมื่อเดือน ก.ย.2559 ที่ผ่านมา
ในแง่บริการ แกร็บ ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นแอพพลิเคชันเพื่อเรียกแท็กซี่ เปิดตัวบริการแกร็บแท็กซี่ก่อนเพื่อน ตามมาด้วยแกร็บคาร์ (บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล),แกร็บไบค์ (บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์), แกร็บเอ็กซ์เพรส (บริการส่งของ), แกร็บฮิทช์ GrabHitch (บริการรับผู้โดยสารที่เรียกรถไปในเส้นทางเดียวกับคนขับและช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย), แกร็บแชร์ (บริการแชร์รถร่วมกัน) และล่าสุดแกร็บเพย์ ระบบรับชำระค่าบริการเดินทาง ซึ่งแกร็บหมายมั่นปั้นมือให้เป็นธุรกิจสร้าง
รายได้ตัวต่อไปตัน โฮย หลิง ผู้ก่อตั้งแกร็บให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ไม่สำคัญแล้วว่าเธอจะถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนเท่าใด เพราะไม่ว่าอย่างไร ความมุ่งมั่นของเธอในการพัฒนาบริการของแกร็บให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
โดยแกร็บเพย์ จะเป็นบริการไฮไลต์ตัวต่อไปของแกร็บ ด้วยความคาดหวังที่จะทำให้การเดินทางคล่องตัวยิ่งขึ้น ลดการจับจ่ายเงินสด นอกจากนั้นยังจะเป็นการช่วยผลักดันให้คนขับรถสาธารณะ ซึ่งเป็นพันธมิตรของแกร็บ เข้าสู่ระบบธนาคาร มีบัญชีแบงก์ รู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รู้จักการออมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าผู้ขับขี่รถสาธารณะในเกือบทุกประเทศที่เป็นเครือข่ายของแกร็บ แทบไม่ได้อยู่ในระบบธนาคาร ไม่มีแม้แต่บัญชีแบงก์
...
นอกจากนั้น แกร็บยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อช่วยผลักดันเป้าหมายสู่การเป็นสมาร์ทเนชัน หนึ่งในนั้นคือการสร้างโครงข่ายรถโดยสารสาธารณะ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ลดการใช้รถส่วนตัว เนื่องจากสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด ผืนดินถูกตัดไปทำถนนแล้ว 12% และไม่สามารถตัดเพิ่มได้อีก การส่งเสริมการแชร์หรือร่วมกันใช้รถ (Vehicle-Sharing) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนอย่างเต็มที่
โดยล่าสุดในวันที่ 1 ก.ค.2560 ที่จะถึงนี้ บริการแกร็บคาร์ ซึ่งเป็นบริการที่ไม่มีกฎหมายรองรับในหลายประเทศ ก็จะเป็นบริการอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลสิงคโปร์แล้ว โดยรัฐกำหนดให้บริการแบบแกร็บคาร์หรืออูเบอร์ เป็นบริการที่ต้องขอใบอนุญาต
สำหรับผู้ขับขี่ ต้องมีใบขับขี่ประเภท Private Hire Car Driver’s Vocational Licence ซึ่งมีเงื่อนไขมากกว่าใบขับขี่ส่วนบุคคล เช่น ต้องมีประกัน ต้องมีการฝึกอบรม ต้องมีใบรับรองจากแพทย์ เป็นต้น ขณะที่รถส่วนตัวที่จะนำให้บริการแกร็บคาร์หรืออูเบอร์นั้น ต้องมีใบอนุญาตประเภท Commercial Car.