วันนี้เป็นวันแรกที่สำนักงาน กสทช. เปิดให้แด้วยระบบสแกนลายนิ้วมือ (finger print) นำร่อง 30 จุดบริการ แบ่งเป็นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บวก 2 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.นาทวี และ อ.จะนะ) 25 จุด รวมทั้งในกรุงเทพฯอีก 5 จุด โดยเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟเอช เปิดให้บริการที่ศูนย์บริการสยามพารากอน ส่วนทีโอทีกับ กสท โทรคมนาคม ให้บริการที่ศูนย์บริการสำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะ

ระบบสแกนลายนิ้วมือที่นำมาใช้ลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้ใช้บริการเท่านั้น กสทช. และค่ายมือถือไม่ได้นำลายนิ้วมือของผู้ใช้บริการไปเก็บไว้ จึงไม่ต้องกลัวข้อมูลรั่วไหล โดยเมื่อผู้ใช้บริการมาสแกนลายนิ้วมือลงทะเบียนซิม ระบบจะเปรียบเทียบลายนิ้วมือและตรวจสอบใบหน้าว่าตรงกับข้อมูลบัตรประชาชนที่อยู่ในฐานข้อมูลของกรมการปกครองหรือไม่ เป็นการพิสูจน์ยืนยันตัวตนที่แท้จริง

หลังจากนี้ค่ายมือถือจะทยอยส่งอุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือลงไปจนครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณ 20,000-30,000 จุดบริการ เน้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บวก 4 อำเภอของสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา สะบ้าย้อย) จะมีประมาณ 2,000 จุดบริการ คาดว่าใช้เวลาเกือบ3 เดือน ถึงช่วงปลายเดือน ส.ค.คงเรียบร้อย จากนั้นจะเริ่มบังคับลงทะเบียนซิมด้วยระบบสแกนลายนิ้วมือ โดยกำหนดช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสมมติว่าประมาณ 6 เดือน (ก.ย.60-ก.พ.61) พอครบกำหนดถึงต้นเดือน มี.ค.61 ก็จะยกเลิกระบบลงทะเบียนซิมแบบ 2 แชะ แล้วใช้สแกนลายนิ้วมือเท่านั้น

ระหว่างนี้ซึ่งถือเป็นช่วงทดลองเตรียมความพร้อม คนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ บวก 4 อำเภอ ทั้งที่ มีซิมอยู่แล้ว หรือ จะเปิดเบอร์ใหม่ ใครพร้อมก็ลงทะเบียนแบบสแกนลายนิ้วมือก่อนได้เลย เพื่อยืนยันตัวตน ไม่เช่นนั้นถ้าพ้นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน หากยังไม่สแกนลายนิ้วมือจะไม่สามารถใช้ซิมได้

...

คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. บอกว่า เรื่องนี้เป็นเหตุผลด้านความมั่นคง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรองหัวหน้า คสช. มอบนโยบายให้ กสทช. ดำเนินการ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากเหตุระเบิดในภาคใต้ส่วนใหญ่จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ

คุณฐากรบอกอีกว่า ในอนาคตจะมีมาตรการบังคับใช้กับคนนอกพื้นที่ที่เดินทางเข้าไปใน 3 จังหวัดภาคใต้บวก 4 อำเภอด้วย เช่นอาจต้องแจ้งโอปะเรเตอร์ให้ทราบก่อน มิฉะนั้นเมื่อเข้าพื้นที่แล้วจะใช้ซิมไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่ใช้ ซิมต่างประเทศ ถ้าไม่แจ้งผ่านโอปะเรเตอร์ของไทย พอเข้าพื้นที่แล้วจะถูก ตัดสัญญาณ ที่เน้นเป็นพิเศษคือซิมของ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย

ไม่เพียงแค่มิติด้านความมั่นคง ยังมีมิติด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับ คนพื้นที่อื่นนอก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่ออุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือกระจายไปครบแล้ว จะต้องลงทะเบียนด้วยการสแกนลายนิ้วมือเช่นกัน ยกเว้นซิมที่เคยลงทะเบียนแบบเดิมไปแล้ว ยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่อาจมีความเสี่ยงบ้าง เหมือนเหตุการณ์ที่อยุธยา มีคนปลอมสำเนาบัตรประชาชนและใบมอบฉันทะของผู้เสียหาย ไปแอบอ้างขอออกซิมใหม่เบอร์เดิม แล้วโทรศัพท์ไปขอรหัสกับธนาคารเพื่อเข้าโมบายแบงกิ้ง เอาเงินไปใช้ 9 แสนบาท

ปัจจุบันมี เบอร์โทรศัพท์ผูกกับบัญชีธนาคารถึง 24 ล้านเบอร์ ใครไม่อยากเสี่ยงสูญเงินในบัญชี หรือถูกแฮ็กเข้าไปทำธุรกรรมทางการเงิน ก็น่าจะไปลงทะเบียนสแกนลายนิ้วมือเพื่อความปลอดภัย

ใช้เวลาไม่เกิน 1 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย.

ลมกรด