เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมเขียนถึงเรื่องการสัมมนาโต๊ะกลมเรื่อง “จากชายฝั่งทะเลตะวันออกถึงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก...เชื่อมโลกให้ไทยแล่น” ที่จะจัดโดยสำนักงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ ในวันนี้ (จันทร์ที่ 29พ.ค.) เวลา 09.00-13.00 น.

นอกจากจะสรุปให้เห็นว่าโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก” ซึ่งเป็นโครงการช้างเผือกของรัฐบาลนี้ที่มีจุดมุ่งหมายในการเดินไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 มีอะไรบ้างอย่างคร่าวๆแล้วผมยังเขียนชื่นชมคณะผู้จัดที่เชิญบุคคลที่มีส่วนในการให้กำเนิดโครงการ อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเปรียบเสมือนฐานรากของโครงการนี้มากล่าว แสดงความรู้สึกในระหว่าง การสัมมนาด้วย 2 ท่าน

ได้แก่ ท่านอดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ดร.เสนาะ อูนากูล และอดีตผู้ว่าการ ปตท. ดร.อาณัติ อาภาภิรม

เสร็จแล้วผมก็ทิ้งท้ายว่า เห็นชื่อท่านอาจารย์เสนาะ เห็นชื่อท่านอาจารย์อาณัติ ผมก็อดนึกถึงตัวละครของแผนพัฒนาฉบับที่ 5 อีกท่านหนึ่งเสียมิได้...ได้แก่ ท่านอาจารย์ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ผู้ล่วงลับ

จริงๆแล้วท่านอาจารย์โฆสิตแม้จะเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒน์ในยุคนั้น และเปรียบเสมือนมือขวาของท่านเลขาฯเสนาะ แต่ก็มิได้เข้าร่วมในโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกแต่อย่างใด

แต่ท่านก็ติดตามให้กำลังใจและให้ข้อคิดเห็นในขณะที่มีการประชุมร่วมกันของผู้บริหารสภาพัฒน์ เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอยู่เสมอๆ

เหตุที่ผมนึกถึงท่านอาจารย์โฆสิตขึ้นมาด้วยนั้นเป็นเพราะท่านอาจารย์โฆสิตนี่แหละที่มั่นใจว่า การพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน จะมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งจากภายในและต่างประเทศ

...

ที่ท่านห่วงก็คือ รายได้จากความสำเร็จของโครงการนี้จะตกอยู่แก่นักลงทุนเป็นส่วนใหญ่ และก็คงจะมีคนไทยส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในระดับต่างๆ ได้รับแบ่งปันเป็นค่าจ้าง เงินเดือน ทำให้ฐานะดีขึ้นบ้าง

แต่ก็จะเป็นคนไทยเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้น ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบท และภาคเกษตรจะยังคงยากจนอยู่เหมือนเดิม

ลงท้ายแล้ว ความสำเร็จของอีสเทิร์นซีบอร์ดจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนของประเทศไทยถ่างมากขึ้นไปอีก

ท่านจึงขออาสาท่านอาจารย์ ดร.เสนาะในการดูแลประชากรในส่วนยากจนในส่วนชนบทหรือภาคเกษตรที่จะไม่ได้รับผลพวงจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดโดยตรง

ท่านอาจารย์ ดร.เสนาะซึ่งตระหนักในปัญหานี้มาโดยตลอด เพราะท่านเองก็คิดไว้แล้วตั้งแต่ต้น จึงสนับสนุนให้อาจารย์โฆสิตตั้งกลุ่มทำงานว่าด้วยเรื่องการพัฒนาชนบทขึ้นมาคู่ขนานกันไป

กลายเป็นการพัฒนาที่ครบวงจร คือการบุกไปข้างหน้า เพื่อนำประเทศสู่อุตสาหกรรม และความทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งคนยากจนและเกษตรกรที่ต้องการการพัฒนาในอีกรูปแบบหนึ่ง

ซึ่งก็กลายเป็นนโยบายหลักของป๋าเปรมไปด้วยใน พ.ศ.ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทำครบทุกด้าน รวมทั้งในด้านแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งทางอาจารย์โฆสิตได้ทุ่มเททั้งกายและใจในการทำงานด้านนี้กว่า 10 ปีเต็มๆ แต่ช่องว่างของคนรวยกับคนจนก็ยังห่างออกเรื่อยๆดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ที่ผมนึกถึงท่านอาจารย์โฆสิตก็เพราะผมนึกไม่ออกว่ารัฐบาลนี้ได้มอบหมายให้ใคร หรือหน่วยงานไหนมาดูแลคนจนแล้วหรือยัง

ผมเชื่อมาตลอดว่าการไป 4.0 นั้นไปได้แต่จะไปเพียงแค่ส่วนหัวหรือส่วนบนเท่านั้น ในขณะที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะยังคงเป็น 2.0 หรืออย่างเก่ง 3.0 ก็หรูแล้ว และในที่สุดก็จะทำให้ช่องว่างถ่างกว้างขึ้นไปอีก

คนที่เชื่อมาตลอดว่าเราไม่มีวันเป็น 4.0 ได้ทั้งหมดอย่างผมจึงขออนุญาตกราบเรียนฝากท่านนายกฯและท่านรองสมคิดได้กรุณาคิดถึงปัญหาของคนกลุ่มใหญ่ที่จะไม่มีวันเป็น 4.0 ได้ไปพร้อมๆกันด้วย

อยากให้ทำให้ครบวงจรเหมือนอย่างที่ “ป๋าเปรม” ท่านทำโดยการเสนอแนะของ ดร.เสนาะในยุคโน้นว่างั้นเถอะครับ.

“ซูม”