ตลอดทั้งปีธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง จัดสัมมนาเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับลูกค้า พร้อมเสาะหาวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นที่สนใจ

หัวข้อสัมมนาที่มาแรง และได้รับความนิยมสูงสุดจนติดลมบน หนีไม่พ้นเรื่อง “บริหารภาษีอย่างมืออาชีพ” ยิ่งเน้นไปเรื่องการจัดการภาษีมรดก ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.59 บรรดาเศรษฐีน้อยใหญ่ที่เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ มีทรัพย์สินร้อยล้านหรือสูงกว่าพันล้านบาท ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ เรียงคิวเข้าร่วมงานสัมมนาอย่างคับคั่ง

“บรรดาเศรษฐีที่ยังไม่ได้มีการจัดการทรัพย์สิน หลังภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ ก็พยายามดิ้นหาทางออก หากจำเป็นต้องเสียภาษีมรดก ก็ยอมเสียภาษีให้น้อยที่สุด”

พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 กำหนดมูลค่าของทรัพย์สินต่ำกว่า 100 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี หากสูงกว่า 100 ล้านบาทให้คิดภาษีส่วนที่เกิน หากเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน ให้คิดภาษี 5% หากไม่ได้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน เสียภาษี 10%

กรณีภาษีการให้ ในช่วงที่เจ้าของมรดกยังมีชีวิตอยู่ กำหนดการให้สังหาริมทรัพย์ ยกเว้นภาษีส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีภาษี อสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีภาษี และส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป คิดภาษี 5%

จากวงสัมมนาผู้เชี่ยวชาญภาษีมรดก ได้ชี้ทางสว่างให้บรรดาเศรษฐีถึง 6 ทางออกดังนี้

เริ่มทางออกแรก เจ้าของมรดก ทยอยโอนทรัพย์สินให้กับลูกหลานในช่วงที่มีชีวิตอยู่ จะเสียภาษีการให้ ตามกฎหมายกำหนด หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท และสังหาริมทรัพย์ได้อีก 20 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษี 5%

...

“ทางออกง่ายๆ ช่วงมีชีวิตอยู่ ทยอยโอนมรดกไปเรื่อยๆ สูงสุดต่อปี 40 ล้านบาท แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ 20 ล้านบาท และสังหาริมทรัพย์อีก 20 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของมรดกเกรงว่าโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับลูกหลานไปแล้ว ตัวเองจะไม่ได้รับการดูแลและไม่เหลืออะไรในชีวิต ก็ให้จดสิทธิเก็บกินในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ทางออกนี้เป็นการควบคุมลูกหลานแม้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติไปล้างผลาญ หรือไปขายกินได้ เนื่องจากติดในเรื่องของสิทธิเก็บกิน ต้องรอให้เจ้าของมรดกเสียชีวิตก่อนจึงขายได้

ทางออกที่ 2 เจ้าของมรดกซื้อประกันชีวิต กรณีที่มีทรัพย์สินเป็นเงินสด พันธบัตร หรือหุ้น เปลี่ยนมาซื้อประกันชีวิตให้กับตัวเอง ซื้อด้วยทุนประกันสูงๆ หากต้องการให้ลูกหรือหลานคนใดได้รับมรดกเป็นเงินเท่าไร ก็ซื้อประกันชีวิตตามทุนประกันตามนั้น และระบุผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ เมื่อผู้ซื้อประกันเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายสินไหมให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ ซึ่งตามกฎหมาย เงินที่ได้รับจากสินไหมประกันชีวิต ได้รับการยกเว้นภาษี

“ยกตัวอย่างต้องการให้มรดกลูกคนเล็ก 100 ล้านบาท เจ้าของมรดกต้องซื้อประกันชีวิตมีทุนประกัน 100 ล้านบาท พร้อมกำหนดผู้รับประโยชน์เป็นลูกคนเล็ก เมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายสินไหมให้กับลูกคนเล็กตามกรมธรรม์กำหนดที่ 100 ล้านบาท หรือเรียกได้ว่าได้รับมรดกเต็มๆ ไม่ต้องเสียภาษีสักบาท”

ทางออกที่ 3 ตั้งบริษัทจำกัด กำหนดให้เจ้าของมรดกมีอำนาจออกเสียงสูงสุด หรือเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับโอนทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเข้าไปยังบริษัท ให้ลูกหรือหลานหรือบุคคลที่ต้องการให้มรดกร่วมถือหุ้นบริษัทที่ตั้งขึ้น ในระหว่างปีภาษีโอนผ่องถ่ายหุ้นบริษัทในลูกหรือหลานไม่เกิน 20 ล้านบาท จนท้ายสุดเจ้าของมรดกถือหุ้นในบริษัทเพียง 1 หุ้น แต่ยังมีอำนาจควบคุมบริษัทจนกว่าเสียชีวิต

ทางออกที่ 4 เจ้าของมรดกจัดตั้งทรัสต์ พร้อมโอนทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเข้าไปยังทรัสต์ และให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร เจ้าของมรดกหรือลูกหลาน ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบเงินปันผล ซึ่งรูปแบบทรัสต์มีแล้วในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้

ทางออกสุดท้าย เหมาะสำหรับเศรษฐีที่มีทรัพย์สินหรือสมบัติเป็นจำนวนมาก ต้องการให้ชื่อตระกูลเป็นผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม แม้เสียชีวิตไปแล้วชื่อตระกูลช่วงลูกช่วงหลานยังอยู่ต่อไป ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ สมาคม หรือวิสาหกิจเพื่อชุมชน พร้อมจดทะเบียนต่อกรมสรรพากร เพื่อขอยกเว้นภาษี เมื่อโอนมรดกเข้ามูลนิธิ สมาคม หรือวิสาหกิจชุมชนก็จะได้รับการยกเว้นภาษี เชื่อว่าทางออกสุดท้ายในเมืองไทยมีโอกาสเกิดน้อยมาก...

วงสัมมนา ยังได้สรุปทางออกให้กับบรรดาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมหาศาล หากมัวแต่คิดโอนอสังหาริมทรัพย์ 20 ล้านบาท หรือสังหาริมทรัพย์ปีละ 20 ล้านบาท คงไม่ทันกาล ก็ควรใช้หลายๆทางออกพร้อมกัน เพื่อบริหารจัดการมรดกให้มีประสิทธิภาพ หรือเรียกง่ายๆ หลีกเลี่ยงภาษีมรดกภายใต้กฎกติกากำหนด.

ประพัฒน์ เนตรอัมพร รายงาน