วันนี้ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันเพ็ญเดือนหก เป็น “วันวิสาขบูชา” หรือ “วันพระพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นวันสำคัญยิ่งของพวกเราชาวพุทธ และยังเป็น วันสำคัญทางศาสนาของโลก ตามมติ องค์การสหประชาชาติ เป็นวันที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรง ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 อย่างน่าอัศจรรย์

พระพุทธเจ้า ทรง ประสูติ เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ตรัสรู้ เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา เสด็จปรินิพพาน วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ได้กล่าวสัมโมทนียกถาใน งานประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องใน วันวิสาขบูชานานาชาติ ปีนี้ว่า “โลก โดยปริยายหมายถึง แผ่นดินหรือหมู่มนุษย์ ตามธรรมชาตินั้น มนุษย์มีความสามารถในการมองเห็นได้ ตราบเท่าที่มีแสงสว่างพาให้ก้าวเดินไป หากโลกมีแต่ความมืดมิด ก็อาจทำให้ผู้คนเดินไปกระทบกระทั่งกันบ้าง ชนกับสิ่งกีดขวางเป็นอันตรายบ้าง นั่นเป็นลักษณะของความมืดทางโลก อันเป็นสภาพทางรูปธรรม

โลกอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งพึงพิจารณาในทาง พระพุทธศาสนา อาจหมายถึง โลกในสภาพปรุงแต่งความคิดและอารมณ์ในการสร้างสรรพสิ่งขึ้นมา หากความคิดของผู้คนดำเนินไปบนหนทางที่มืดบอดแล้ว ผลร้ายได้แก่ ความเบียดเบียนกัน และความเดือดเนื้อร้อนใจย่อมบังเกิดขึ้น ไม่ต่างจากการเดินดุ่มไปท่ามกลางขวากหนามในความมืด

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเราทั้งหลายไว้ว่า ปัญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ความว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” แม้ปัญญาในทางโลกมีความสำคัญยิ่ง และจำเป็นต่อการประกอบสัมมาชีพก็ตาม แต่ปัญญาที่มีความสำคัญยิ่งกว่า ยังมีอยู่อีก ทั้งนี้ พระพุทธศาสนาได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว นั่นคือ “ปัญญาในทางธรรม” อันเกิดจาก การฝึกอบรมทางจิตภาวนา จนเกิดความสามารถที่จะหยั่งรู้สภาพความเป็นไปของชีวิต ตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดความดับทุกข์ ทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากการวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ ประเสริฐยิ่งกว่าประดิษฐกรรมใดๆในทางโลก...

...

เพราะฉะนั้น พุทธบริษัททั้งหลาย จึงควรที่จะ อบรมบ่มเพาะปัญญาให้งอกงามยิ่งขึ้น เพื่อให้รู้จักโลกอย่างถ่องแท้ทั้งสองนัย และจงเตือนใจตนให้ซาบซึ้งถึงพระพุทธคุณ เพื่อจะได้พากเพียรเจริญรอยพระยุคลบาท พระผู้ทรงเป็น “โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก” และจะได้พากัน นำแสงสว่างที่แท้จริงมาสู่โลกนี้ ให้ก้าวผ่านความมืดมนอนธกาลให้จงได้ ด้วย “สติ” คือ ความระลึกได้ สามารถคุม “จิต” ไว้ได้ด้วย “ปัญญา” คือความรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล สามารถเข้าใจความเป็นของสรรพสิ่งได้ชัดเจน อันเป็นบ่อเกิดแห่งความผาสุกสันติได้อย่างแท้จริง”

ได้ฟังคำสอนของ สมเด็จพระสังฆราช แล้ว ผมก็นึกถึง “ศีล สมาธิ ปัญญา” หรือ มรรค 8 วิถีทางในการดับทุกข์ที่ พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ใน “อริยสัจ 4” ที่ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (การดับทุกข์) มรรค (วิถีทางดับทุกข์)

ศีล คือ การฝึกกายและวาจา ให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ศีล 5 ที่เราท่องจำกันตั้งแต่เป็นนักเรียนนั่นเอง ไปจนถึง การควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจใฝ่ต่ำ ทำมาหาเลี้ยงชอบอย่างพอเพียง ซึ่งก็คือ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ใน มรรค 8

สมาธิ คือ การฝึกความตั้งใจมั่น จนเกิดความสงบสมถะ ทำสติให้รับรู้สิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ซึ่งก็คือ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ใน มรรค 8 นั่นเอง

ปัญญา คือ การฝึกให้จิตพิจารณาธรรมชาติ จนรับรู้ว่า สิ่งทั้งปวงทั้งหลายเป็นเช่นนี้เองหนอ (ตถตา) ตื่นจากมายาที่หลอกลวง หรือ “จิตดั้งเดิม” ที่ดิ้นรนอยากได้โน่นอยากได้นี่ ซึ่งก็คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ ใน มรรค 8 สองข้อสุดท้าย

เมื่อฝึกให้ “จิต” ที่ชอบดิ้นรนอยากได้โน่นอยากได้นี่จนมี “ศีล สมาธิ ปัญญา” ซึ่งเป็น หลักการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนา แล้ว ก็จะทำให้เรารู้จัก “เดินทางสายกลาง” อันเป็น อริยมรรค ที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ในที่สุด เมื่อไม่มีทุกข์ ชีวิตก็เป็นสุขนิรันดร์.

“ลม เปลี่ยนทิศ”