คุณหมอยงชัย กับอาจารย์สมัยเรียนแพทย์อยู่แคนาดา
พอจะครบ 2 ปี ที่ก่อตั้ง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ประธานศูนย์ฯ รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช ก็มีเรื่องตื่นเต้นดีใจมาก เพราะมีเศรษฐีใจบุญ ร่วมกันบริจาค รถพยาบาลคันละ 20 ล้านบาท ให้ศูนย์ฯ ซึ่งจะทำให้การรักษาผู้ป่วย “สโตรค” รวดเร็วขึ้น ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกอาการ ตั้งแต่ระดับเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือขั้น “เจ้าชาย-เจ้าหญิงนิทรา” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก จนเป็นปัญหาอันดับ 2-3 รองจากอุบัติเหตุ ซึ่งพบมากอันดับ 1 เพราะการใช้ชีวิตในสมัยนี้ ทำให้ตกอยู่ใน ภาวะเสี่ยง ที่จะ สโตรค กันมาก เช่น เป็นความดันสูง ไขมันสูง เป็นเบาหวาน ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่ กินเหล้า เป็นโรคอ้วน และเครียด
คุณหมอยงชัย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช จึงเน้นให้ศูนย์ฯมีการรักษาแบบ Fast Track เพราะพบว่า ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการตีบ อุดตันของหลอดเลือดสมอง ได้รับการรักษาด้วยการ “เปิดหลอดเลือดหรือสวนเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก” ภายในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 7 ชั่วโมง จะลดความเสี่ยงที่จะพิการหรือเสียชีวิตได้มาก ดังนั้น จึงดีที่สุด ถ้าคนป่วยถูกส่งตัวถึงหมอได้เร็ว เพื่อรีบให้ ยาสลายลิ่มเลือด ที่ชื่อว่า tPA ทาง หลอดเลือดดำ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้ ภายใน 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน หายจากความพิการ มากถึง 42%--มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา ซึ่งมีโอกาสหาย 26%
...
หรืออีกวิธีในการรักษา คือการใช้ “สายสวน” ดึงลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดใหญ่ในสมองออกมา ซึ่งก็จะต้องได้รับการรักษาภายในเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง
คุณหมอจึงย้ำเสมอว่า ถ้าใครสโตรค ขอเพียงส่งตัวถึงหมอทันเวลา จะมีโอกาสหาย ไม่พิการ หรือตาย จึงสรุปได้ว่า ยิ่งเร็ว ยิ่งดี คุณหมอจึงเปิด Fast Track เมื่อคนไข้ถึง รพ. ก็สามารถกดปุ่มเข้า Fast Track ได้เลยไม่ต้องรอคิว เพราะเป็นอาการที่รอไม่ได้
รถพยาบาล คันละ 20 ล้าน ที่เรียกว่า Mobile CT AMBULANCE จึงเป็นศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ เพราะทันทีที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยสโตรค ทางศูนย์ฯก็จะส่งรถพร้อมแพทย์ พยาบาล ออกไปรับตัวทันทีเมื่อได้ตัวผู้ป่วย ก็ทำการ CT Scan ด้วยเครื่องมือ CT Scan ที่ติดตั้งในรถได้เลย ทำให้ทราบอาการเดี๋ยวนั้น ว่าจะให้ยา tPA หรือแจ้งไปทางศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชให้เตรียมการรักษาที่เหมาะสม ว่าจะต้องใช้สายสวนหรือวิธีอื่น
และนอกจาก Mobile CT AMBULANCE จะใช้กับผู้ป่วยสโตรคแล้ว ยังใช้กับผู้ป่วยอาการอื่นๆได้ด้วย เพราะมีครบทั้งเครื่องช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ ยิ่งถ้าใช้คู่กับรถ Mobile ICU จะยิ่งดีมากเพราะเหมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ รักษาตรงจุดเกิดเหตุได้เลย
ที่ภูมิใจมากอีกเรื่องคือ คุณหมอซึ่งช่วยออกแบบประกอบรถคันนี้ ในราคาเพียง 20 ล้าน บอกว่าถูกกว่าสั่งจากต่างประเทศ ซึ่งคันละ 30-40 ล้าน และจะเป็น Mobile CT AMBULANCE คันแรกของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งจะพร้อมเปิดตัวใน “วันโรคหลอดเลือดสมองโลก” เดือน พ.ย.นี้ ให้เห็นประสิทธิภาพว่าเก่งกว่ารถ Transformer เสียอีก.
โสมชบา