“คนอาจจะมองว่าผมประสบความสำเร็จมาก แต่ผมก็ทำเรื่องผิดพลาดมาเยอะ ผมอยากให้ทุกคนมองว่าความผิดพลาดคือบทเรียน อย่าไปกลัวความล้มเหลวจนไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็ควรมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าถึงจะพลาดครั้งนี้ แต่ครั้งหน้าจะต้องทำได้สำเร็จแน่ๆ”

ก็เพราะไม่กลัวความล้มเหลว และไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง “ทาดาชิ ยานาอิ” จึงสามารถสร้างแบรนด์เสื้อผ้าบ้านๆอย่าง “ยูนิโคล่” ให้ผงาดขึ้นเป็นแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่อันดับสี่ของโลก เป็นรองก็แต่ ZARA ของสเปน, GAP ของอเมริกา และ H&M ของสวีเดน

เขาไม่ได้สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากศูนย์เหมือนเถ้าแก่ยุคเสื่อผืนหมอนใบ เพราะเกิดในครอบครัวพ่อค้ามีอันจะกิน แต่ถ้าไม่มีไอเดียซุกซน ขยันคิด ขยันทำ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันนี้เราก็คงไม่มีเสื้อผ้าไฮเทคใส่ในราคาสบายกระเป๋า

เขาร่ำเรียนจบมาด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ เป็นชาวเมืองอูเบะ จังหวัดยามะงุชิ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น หลังเรียนจบไปทำงานหาประสบการณ์เป็นพนักงานขายเครื่องครัวและเสื้อผ้าผู้ชายในห้างฯจัสโก้ ทำงานห้างฯอยู่แค่ปีเดียว ก็ลาออกมารับช่วงดูแลกิจการร้านขายเสื้อผ้าผู้ชายของบิดา ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1949 เป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่ชาวยามะงุชิรู้จักกันดี

ความที่เขาเป็นคนไม่อยู่นิ่ง และมีไอเดียเยอะแยะ ขายเสื้อผ้าผู้ชายอย่างเดียวมันน่าเบื่อเกินไป จึงคิดขยายไลน์ธุรกิจมาทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปสไตล์ลำลอง ที่ใส่ได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง โดยเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น “Unique Clothing Warehouse” เปิดสาขาแรกในจังหวัดฮิโรชิมา ขายคอนเซปต์ “made for all” เสื้อผ้าลำลองที่ทำมาเพื่อทุกคน คุณภาพดี ใส่สบาย ราคาถูก มีให้เลือกหลายสี ถึงจะไม่ตามเทรนด์แฟชั่น แต่ร่วมสมัยตลอดกาล เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น “ยูนิโคล่” ซึ่งเกิดจากการผสมคำระหว่าง “Unique” และ “Clothing” แรกๆยังใช้ตัวสะกดว่า “Uni-clo” ซึ่งไม่เก๋เท่าไหร่ แต่เพราะความผิดพลาดของพนักงานที่ฮ่องกง สะกดตัว C เป็น Q ทำให้ซีอีโอใหญ่ปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น “Uniqlo” เหมือนกันหมดทั้งโลก พร้อมผลักดันแบรนด์ยูนิโคล่จากแบรนด์เสื้อผ้าพื้นๆโหลๆที่ไม่เน้นดีไซน์ มาเป็นแบรนด์ร่วมสมัยเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น

ด้วยความเป็นนักฝันผู้ยิ่งใหญ่ “ทาดาชิ” ตั้งเป้าตั้งแต่วันแรกว่าจะสร้างยูนิโคล่ให้เป็นแบรนด์ค้าปลีกรายใหญ่ระดับโลก ที่ออกแบบ ผลิต และมีหน้าร้านจำหน่ายแบบครบวงจร และตั้งแต่ปี 1984 จนถึงวันนี้ ยูนิโคล่ขยายสาขาไปแล้ว 14 ประเทศทั่วโลก มีสาขาเยอะสุดในญี่ปุ่น คือ 841 สาขา รองมาคือจีน 457 สาขา, เกาหลีใต้ 155 สาขา, ฮ่องกง 25 สาขา, ชาติอาเซียน 150 สาขา, ยุโรป 48 สาขา ส่วนอเมริกามี 49 สาขา ตั้งใจจะขยายให้ได้ 1,000 สาขา แต่ก็เปลี่ยนใจแล้ว เพราะรำคาญนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ล่าสุด เขายังประกาศว่า ภายในปี 2020 จะต้องทำยอดขายให้ได้มากกว่า 61,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะผงาดขึ้นเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของโลก

ในขณะที่ฟอร์บส์จัดอันดับให้เขาเป็นมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่นมาต่อเนื่องหลายปี ด้วยสินทรัพย์มากกว่า 16,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรวยเป็นอันดับ 35 ของโลกจากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก เมื่อปี 2013 นิตยสารไทม์ก็เคยเสนอชื่อเขาเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลแห่งปีที่ทรงอิทธิพลต่อโลก เพราะทึ่งในความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีของยูนิโคล่ ที่สามารถปฏิวัติวงการสิ่งทอ ทำให้เสื้อผ้าเป็นมากกว่าแค่แฟชั่น ด้วยการใช้นวัตกรรมล้ำสมัยของญี่ปุ่น

เขาเคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า เราไม่ใช่บริษัทแฟชั่น เราเป็นบริษัทเทคโนโลยี เราก็เหมือนบริษัทไฮเทคเปิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อต้องเผชิญกับแนวคิดใหม่กว่า ก็ต้องเลือกว่าจะก้าวต่อไป หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ สำหรับผมข้อผิดพลาดร้ายแรงที่สุดคือ การที่ใครสักคนไม่มีความกล้าพอจะลองสิ่งใหม่ เชื่อผมเถอะ อยากทำอะไรก็ทำซะ ถึงจะล้มเหลว เราก็จะล้มเหลวอย่างภาคภูมิใจ และสามารถพูดได้ว่าเราได้ลองทำแล้ว.

...

มิสแซฟไฟร์