เมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏเป็นข่าวว่าชาวบ้านต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน อาทิ มีการใช้ไฟฟ้าในหน้าร้อนมากขึ้น ค่าไฟแพงขึ้น ราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่ง วีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชี้แจงว่า จะมีการหารือกับ กระทรวงพลังงาน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนหลังจากที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ ค่าเอฟที ที่เรียกเก็บในเดือน พ.ค.-ส.ค.เพิ่มขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตามมาตรการรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดค่าไฟ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ข้ออ้างว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีเพราะไม่ได้ขึ้นมานานแล้วและขึ้นแค่ร้อยละ 3 น้อยกว่าการขึ้นราคาน้ำมันและราคาแก๊ส แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก กรณีการขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นวงกว้างมีผล ถึงครัวเรือนทุกครัวเรือน รวมทั้ง ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มขาขึ้น วิธีที่จะ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะยาว ต้องลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่พ้น ต้องพึ่งพาถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า อยู่ดี เพราะมีต้นทุนต่ำที่สุดในขณะนี้

นอกจากนี้ ทวารัฐ สูตะบุตร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้พูดถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติไว้ด้วยว่า เกิดจากปัจจัยหลัก 4 ประการ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น 9.35 บาทต่อล้านบีทียู และผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน

ผลกระทบจากการขึ้นค่าเอฟที ต่อค่าไฟเฉลี่ยของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.7 และในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านอันเนื่องมาจากค่าไฟฟ้าแพงอย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่งและในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

...

ที่สำคัญคือควรจะศึกษาถึงทางออกในระยะยาวที่ไม่ใช่เฉพาะผลกระทบกับชาวบ้านผู้บริโภคไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึง เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ของประเทศด้วย เนื่องจากไฟฟ้าก็เป็นต้นทุนประเภทหนึ่ง ค่าไฟฟ้าแพง ราคาสินค้าก็ต้องแพงไปด้วย

ในขณะที่ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาสินค้าแพง ค่าไฟแพงเกิดผลกระทบกับชาวบ้าน ทั้งทางด้านจิตวิทยาและคุณภาพชีวิต ปัญหาปากท้องไม่ใช่เป็นปัญหาชาวบ้านหรือปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยัง เป็นปัญหาการเมือง มีผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลเช่นกัน

การสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านจากสำนักโพลต่างๆระบุว่า เศรษฐกิจปากท้องเป็นปัญหาที่กระทบถึงคะแนนนิยมของรัฐโดยตรง ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า การที่รัฐบาลยุติการสร้างโรงไฟฟ้าหรือการไม่ อนุมัติสัมปทานการขุดเจาะก๊าซในอ่าวไทยเพราะการคัดค้านของ เอ็นจีโอ หรือคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อน ผลกรรมจะมาตกอยู่กับรัฐบาลและประชาชนไม่ใช่กลุ่มผู้คัดค้าน เกิดความเสียหายกระทบกับส่วนรวมของประเทศ

เรื่องนี้ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th