แม้จะเตรียมการและประสานงานกันนานแรมเดือน แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งแรกใน 8 ปี กลายเป็นจบไม่สวย พรรคฝ่ายค้านเดินออกจากห้องประชุม เพราะฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมยืดเวลา เพื่ออภิปรายให้ครบถ้วน แทนที่จะเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกับ 5 รัฐมนตรี กลายเป็นฝ่ายค้านไม่ไว้วางใจกันเอง

แม้ผลการลงมติรัฐบาลจะเป็นผู้ชนะด้วยเสียงท่วมท้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้คะแนนไว้วางใจถึง 277 คะแนน ไม่ไว้วางใจแค่ 55 แต่ถ้าจะให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียง คะแนนฝ่ายรัฐบาลไม่น่าจะท่วมท้น อาจสอบไม่ผ่านในหลายประเด็นด้วยซ้ำ เพราะตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ไม่ชัดเจน

การอภิปรายครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ถูกซักฟอกอย่างเข้มข้นเผ็ดมัน ติดต่อกันถึง 3 วันเต็มๆ จนแทบไม่มีเวลาเหลือเพื่ออภิปรายรัฐมนตรีอื่นๆ ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหา ได้แก่ ไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเอื้อประโยชน์บรรดาเจ้าสัวหรือนายทุนใหญ่ๆ

รวมทั้งข้อกล่าวหาสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม จนเป็นหมายเลข 1 ของโลก การทุจริตเชิงนโยบายในโครงการต่างๆ การปกครองประเทศที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้ระบอบเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งกล่าวหาเรื่อง “ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือไอโอ สร้างความเกลียดชังผู้เห็นต่าง

บางคนอาจจะบอกว่าประเด็นอภิปรายล้วนแต่เป็นข้อมูลเก่าๆ ชาวบ้านรู้กันทั่ว เป็นคำกล่าวที่มีส่วนจริง แม้จะเป็นปัญหาเดิมๆ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับ หรือไม่ยอมแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ก็ต้องเป็นปัญหาที่ต้องเถียงกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ที่เรื้อรังมาตั้งแต่ยึดอำนาจ

...

ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมา คือนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถม ยอดนิยมที่สุดคือ “ชิม ช้อป ใช้” แจกเงินให้ชาวบ้านไปช็อปหลายรอบ แต่ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจตามเป้าหมาย ซ้ำยังปล่อยปละละเลย ให้มีการสมคบคิดระหว่างร้านค้าบางแห่ง กับชาวบ้าน เพื่อหลอกเอาเงินภาษีไปใช้

ปัญหาที่หินที่สุดสำหรับรัฐบาล คสช. ที่สืบทอดอำนาจมาถึงรัฐบาลปัจจุบันคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการ “คืนประชาธิปไตย” เต็มใบ คืนการปกครองที่ยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐที่แท้จริง แต่อาจเป็นไปไม่ได้ ตราบที่รัฐบาลยัง “อยากอยู่ยาว” ด้วยการสืบทอดอำนาจต่อๆไป โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นพาหนะ.