ผมเขียนเรื่องไวรัสมรณะบ้าง เรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 บ้าง มาหลายวัน จนรู้สึกเครียดกันไปหมด ทั้งคนเขียนและคนอ่าน แม้วันนี้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้จะยังไม่คลี่คลาย...แต่ผมจะไม่เขียนถึงละครับ

ขอเปลี่ยนบรรยากาศไปเขียนเรื่องเบาๆ สนุกสนาน โดยเฉพาะเป็นความหลังที่ผมยังฝังใจและคิดถึงอยู่เสมอ สักเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน

เรื่องการแข่งขัน อเมริกันฟุตบอล ที่บ้านเราเรียกว่า กีฬา “คนชนคน” ซึ่งเป็นกีฬายอดฮิตของคนอเมริกันนั่นแหละครับ

ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนต้นฉบับวันนี้ ไม่กี่ชั่วโมงการแข่งขันคู่ชิงแชมป์ของฤดูกาลนี้ หรือ ศึก “ซุปเปอร์โบว์ล 54” เพิ่งจะจบลงไป

ผลปรากฏว่าทีม แคนซัสซิตี้ ชีฟส์ ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปนักรบอินเดียนแดง ระดับหัวหน้าเผ่า นักข่าวกีฬาบ้านเราจึงเรียกว่า ทีม “ท่านหัวหน้าเผ่า” เป็นฝ่ายเอาชนะ ทีม ซานฟรานซิสโก โฟตี้ไนเนอร์ส ที่บ้านเราเรียกว่า ทีม “คนตื่นทอง” ไปได้ 31-20 คะแนน

ทำให้ทีม แคนซัส ซิตี้ ซึ่งเคยเป็นแชมป์ซุปเปอร์โบว์ล มาแล้วหนหนึ่งเมื่อ 50 ปีก่อนโน้น ได้กลับมาครองแชมป์อีกหนหลังจากที่รอคอยมายาวนานเป็นเวลากึ่งศตวรรษพบดิบพอดี

ที่สำคัญกว่าจะได้ชัยชนะในครั้งนี้ ทีมท่านหัวหน้าเผ่าทำท่าจะแย่เหมือนกัน เพราะล่วงมาถึงควอเตอร์ที่ 4 แล้ว เหลือเวลาอีกประมาณ 6 นาทีเศษเท่านั้น ยังเป็นฝ่ายตามอยู่ที่ 10-20 หรือตามถึง 10 คะแนน

แต่แล้วด้วยความสามารถของควอเตอร์แบ็กหนุ่ม แพททริก มาโฮมส์ ที่โชว์สปิริตไม่ยอมแพ้ง่ายๆ นำทัพทะลุทะลวงกลับมาแซงจนเอาชนะได้ด้วยสกอร์ 31-20 อย่างสุดมันส์

...

อเมริกันฟุตบอลยังคงเป็นกีฬายอดนิยมของคนอเมริกันอยู่เสมอ และศึกชิงแชมป์ซุปเปอร์โบว์ลทางทีวีก็ยังคงเป็นรายการที่มีคนดูมากที่สุด เกิน 100 ล้านคนมาโดยตลอด รวมทั้งปีนี้สถิติล่าสุดยังไม่ออก แต่ดูจากความสนุกทำให้คาดเดากันว่าอาจจะเกินหลัก 110 ล้านคนขึ้นไปอีกครั้ง

ปีนี้เป็นปีที่ 100 ของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลอาชีพของสหรัฐอเมริกาพอดี จึงเรียกความสนใจได้เป็นพิเศษ แต่การชิงแชมป์ซุปเปอร์โบว์ล ซึ่งเป็นการเอาแชมป์ลีกในสมัยก่อนมาเจอกันและต่อมารวมเป็นลีกเดียว แต่เอาแชมป์ 2 สายมาชิงกัน เพิ่งจะเป็นครั้งที่ 54 เพราะจัดขึ้นภายหลังการตั้งลีกอาชีพ เป็นเวลาหลายปี

แต่เขาก็ช่วยกันสร้างช่วยกันโหมประโคม โดยเฉพาะการร่วมมือของสื่อต่างๆทั้งสหรัฐฯ ทำให้ศึก “ซุปเปอร์โบว์ล” เป็นวาระแห่งชาติและบรรยากาศในวันแข่งขันก็กลายเป็นวันหยุดแห่งชาติไปโดยปริยาย

เท่าที่ผมมีโอกาสไปทำข่าวกีฬาในระดับโลกหลายๆประเทศ ผมยกนิ้วให้เลยว่า “ซุปเปอร์โบว์ล” เป็นมหกรรมกีฬาที่ให้เกียรติสื่อมวลชนมากที่สุด

จัดระบบศูนย์สื่อมวลชนได้ดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด อำนวยความสะดวกให้มากที่สุด และให้โอกาสที่จะเข้าถึงตัวนักกีฬาได้มากที่สุด

จริงๆแล้วที่ผมตัดสินใจเขียนถึง “ซุปเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 54” ในวันนี้ไม่ใช่เพราะผลการแข่งขันที่สนุกตื่นเต้นอะไรทั้งสิ้น

ผมตั้งใจเขียนถึงเพราะคิดถึงบรรยากาศการทำข่าว บรรยากาศของศูนย์แถลงข่าว และกิจกรรมที่เขาจัดให้นักข่าวมากกว่าครับ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้สื่อข่าวทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลกไปทำข่าวเฉียดๆ 5,000 คนอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะปีนี้มีข่าวว่ายอดสูงถึง 5,800 คน

ล่าสุดที่ผมไปทำข่าวคือเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นซุปเปอร์โบว์ลครั้งที่ 49 จัดแข่งที่เมืองฟีนิกซ์ อริโซนา พอกลับมาเมืองไทยก็ตรวจพบว่าเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจของผมอุดตันทั้ง 4 เส้น เลยต้องเข้าทำผ่าตัดบายพาสในเดือนเมษายนอีก 2 เดือนให้หลัง

แผล็บเดียว 5 ปีแล้วนะเนี่ย...ปีนี้ยังนึกจะโทร.ไปหาคุณ ระวิ โหลทอง เจ้าพ่อ สยามสปอร์ต ขอไปอีกสักหน แต่มัวชักช้าก็เลยอด

ที่ต้องไปในโควตาของ สยามสปอร์ต เพราะประเทศไทยมีสื่อสำนักเดียวเท่านั้นที่ได้สิทธิ์นี้ เวลาผมไปทำข่าวนอกจากจะเขียนให้กับหน้ากีฬา ไทยรัฐ ของเราแล้ว ต้องรับปากเขียนให้ สยามกีฬา ด้วย

สงสัยจะต้องจองข้ามปีเสียแล้วละ...ยังไงๆปีหน้าผมจองอีกสักหนนะครับเสี่ยระวิ จะไปฉลองอายุ 80 ที่โน่น และจริงๆแล้วก็อย่างที่บอก ...ไม่อยากไปดูการแข่งขันอะไรหรอก เพราะดูทางทีวีสนุกที่สุดอยู่แล้ว

แต่อยากไปร่วมบรรยากาศทำข่าวซุปเปอร์โบว์ลน่ะครับ...ผมยืนยันว่าสนุกและมันส์จริงๆ และเป็นความสนุกความมันที่คุณไม่มีวันจะซื้อตั๋วเข้าไปสัมผัสได้เลย เว้นแต่จะเป็น “นักข่าว” เท่านั้น.

“ซูม”