กิจกรรมการเมืองที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ คือ “วิ่งไล่ลุง” กับ “เดินเชียร์ลุง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใน กทม.มีจำนวนใกล้เคียงกัน แต่การวิ่งไล่ลุงมีในหลายจังหวัด บางจังหวัดถูกเจ้าหน้าที่รัฐสกัดกั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัวละครสำคัญที่ทำให้มีการวิ่งไล่ และเดินเชียร์ อาจรู้สึกหงุดหงิดเป็นธรรมดาทำไมต้องวิ่งไล่หรือเดินเชียร์ เอาเวลาไปสร้างความสามัคคีดีกว่า แต่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคู่ขัดแย้งใหม่ ขัดแย้งกับสังคมของคนรุ่นใหม่
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เห็นว่าทุกฝ่ายทำได้ภายใต้กฎหมาย แต่ไม่อยากให้นำการเมืองลงสู่ถนน วันนี้ประเทศก้าวสู่ประชาธิปไตยแล้ว สอดคล้องกับคำกล่าวของแกนนำกลุ่มเชียร์ลุงคนหนึ่งที่ว่า การที่บางฝ่ายบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นเผด็จการ เป็นการบิดเบือน
แกนนำกลุ่มเชียร์ลุงชี้ว่ารัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ต่างชาติก็ยอมรับว่าไทยเป็นประชาธิปไตย และขอเตือนนักการเมืองที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเจอกับประชาชน ผู้ออกเสียงประชามติเมื่อปี 2560 ขอให้นักการเมืองบางกลุ่ม หยุดล้างสมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แล้ว
...
ความเห็นต่างเป็นธรรมชาติของคน เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ แต่ไม่ต้องทะเลาะกัน คนไทยเคยผ่านร้อน ผ่านหนาวมามาก ในบางยุคบางสมัยทะเลาะกัน เพราะตีความหมาย “ประชาธิปไตย” ต่างกัน บางพรรคบางกลุ่มยืนยันว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตย
ถึงวันนี้ บางฝ่ายก็ยืนยันว่า “การเลือกตั้ง” คือประชาธิปไตย แม้จะเป็นการเลือกตั้งที่ คสช.เพียงสิบกว่าคน มีสิทธิเลือก ส.ว.ได้ 250 คน ส่วนผู้มีสิทธิทั่วประเทศเลือก ส.ส.ได้ 500 คน ทั้ง ส.ว. และ ส.ส.ต่างมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งมีสิทธิเลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี แบบนี้ประชาธิปไตยหรือ?
การวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุง จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี และเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ถ้าทุกฝ่ายยอมรับและปลูกฝังวัฒนธรรมการเมือง ถือว่าการชุมนุมโดยสงบ และการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ต้องยอมรับ ชื่อของกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อาจแสลงหู ควรใช้คำกลางๆโดยไม่ต้องด่าใคร ผู้ก่อความเกลียดชังจะถูกชังตอบ.