ถ้าไม่มีเสียงโวยจากประชาชน ช่วงนี้นํ้าประปามีรสเค็มจนรู้สึกได้ เราคงไม่รู้ว่า การประปานครหลวง ใช้นํ้าจาก แม่นํ้าเจ้าพระยา ที่มี นํ้าทะเลผสม ผลิตนํ้าประปาให้คนกรุงเทพฯบริโภค โดย คุณปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) สารภาพว่า นํ้าประปาในช่วงนี้มีความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัม/ลิตร หรือ มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร สูงกว่ามาตรฐานที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด จึงขอแนะนำให้การใช้นํ้าประปาปรุงอาหารช่วงนี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงให้น้อยลง และ กลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการบริโภค เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุ และ เด็กเล็ก

เท่ากับว่า นํ้าประปาไทย อยู่ในขั้นที่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคแล้ว

คุณปริญญา เปิดเผยถึงสาเหตุที่ นํ้าประปามี “โซเดียม” หรือ “ความเค็ม” เกินมาตรฐาน 200 มิลลิกรัม/ลิตร ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เกิดจากภัยแล้ง นํ้าในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะปล่อยลงมาผลักดันนํ้าเค็มในแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่ผ่านมา กปน.ได้หลีกเลี่ยงการสูบนํ้าเค็มในแม่นํ้าเจ้าพระยาเพื่อผลิตนํ้าประปาช่วงที่นํ้าทะเลหนุนสูง ซึ่ง นํ้าทะเลหนุนสูงในปีนี้มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จึงส่งผลให้รสชาตินํ้าประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกแม่นํ้าเจ้าพระยาเปลี่ยนไป กปน. จะนำนํ้าประปาจาก โรงงานผลิตนํ้ามหาสวัสดิ์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากนํ้าเค็ม ไปให้บริการประชาชนที่สำนักงานประปา 18 สาขา ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 มกราคมเป็นต้นไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สถานการณ์ นํ้าทะเลรุกเข้ามาในแม่นํ้าเจ้าพระยา เกิดขึ้นตั้งแต่บ่ายวันที่ 16 ธันวาคม 2562 แล้ว คุณทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ สถานีประปาสำแล มีค่าความเค็มขึ้นสูงถึง 0.92 กรัม/ลิตร (920 มิลลิกรัม/ลิตร) เกินมาตรฐานในการผลิตนํ้าประปาที่ 0.50 กรัม/ลิตร (500 มิลลิกรัม/ลิตร) กรมชลประทานได้เร่งผลักดันค่าความเค็มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหกจาก 5 ลบ.ม./วินาที เป็น 15 ลบ.ม./วินาที และ ลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่าน 3 คลองหลักมาช่วยผลักดันค่าความเค็มใน แม่น้ำท่าจีน และ แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

...

เรื่องนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า วันที่ 29 ธันวาคม 2562 น้ำเค็มรุกขึ้นไปสูงถึง 2.03 กรัม/ลิตร (2,030 มิลลิกรัม/ลิตร) เปิดสถิติที่สูงมากเมื่อเทียบกับการรุกของน้ำเค็มเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 ที่มีความเค็มสูงสุด 1.92 กรัม/ลิตร (1,920 มิลลิกรัม/ลิตร) ที่น่าเป็นห่วงก็คือต้องรอไปอีกราว 6 เดือนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เดือนมกราคมถึงมีนาคมจะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงมาก นอกจากกระทบต่อการประปาแล้ว ยังกระทบต่อการเกษตรด้วย เช่น สวนทุเรียนเมืองนนท์ แหล่งปลูกผักสวนครัวแหล่งใหญ่ในภาคกลางดัง กระทรวง อว. จะใช้เทคโนโลยี “หน่วงน้ำเค็ม” มาแก้ปัญหาการรุกของน้ำเค็ม

ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่า วิธีการ “หน่วงน้ำเค็ม” ก็คือ จะนำน้ำจาก แม่น้ำแม่กลอง เข้ามาเพิ่มให้กับ แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน คลองประปาฝั่งตะวันตก เข้าไปที่ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ และระบายน้ำลงสู่ คลองปลายบาง คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย และ แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ โดยจะขอให้ กองทัพเรือ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในคลองบางกอกน้อย 20 เครื่อง คลองมหาสวัสดิ์ 10 เครื่อง เพื่อเร่งส่งน้ำจืด จาก คลองมหาสวัสดิ์ ลงสู่ แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำให้ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง ซึ่งเป็นการหน่วงน้ำเค็มอย่างเป็นระบบ

รัฐบาลมี “กรมน้ำ” ถึง 4 แห่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี 2561-2580 กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รู้เรื่องน้ำหมด แต่ไม่รู้บริหารจัดการน้ำกันอย่างไร จึงทำให้น้ำประปาไทยมาถึงจุดนี้ได้???

เป็นคำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะ กก.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้ดูแลทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ ควรจะตอบประชาชนด้วยตัวเอง เป็นงานที่อยู่ในการบริหารของท่านโดยตรง และจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืนอย่างไร.

“ลม เปลี่ยนทิศ”