ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการศึกษารายงานเรื่อง “ความเสี่ยงระดับภูมิภาคในการประกอบธุรกิจ” (Regional Risk of Doing Business 2019) ที่จัดทำโดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ 7 อันดับแรกของโลก สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี มีสัดส่วนการผลิต 60% ของโลก ไตรมาส 2 มีการเติบโตลดลงและมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 225% ของจีดีพี
ความเปราะบางนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ความเสี่ยงต่างๆจะทำให้แต่ละภูมิภาคมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
ที่น่าสนใจก็คือ รายงานที่พูดถึง ประเทศไทย โดย WEF ระบุว่า ไทยมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ 5 ประการคือ 1.เศรษฐกิจฟองสบู่ 2.ความล้มเหลวของรัฐบาล 3.การโจมตีทางไซเบอร์ 4.ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 5.ความไม่มั่นคงทางสังคม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาในเชิงลึกเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ
ประเด็นเรื่อง เศรษฐกิจฟองสบู่ ผมไม่เชื่อว่าจะมี แต่ประเด็นเรื่อง ความล้มเหลวของรัฐบาล ผมเชื่อว่าเป็นไปได้สูง ดูจากพฤติกรรมของนักการเมืองในรัฐบาลแล้ว อาการน่าเป็นห่วงมาก เป็นรัฐบาลไม่กี่เดือน มีแต่ข่าวฉาวข่าวลบ ไม่มีข่าวบวก บางเรื่องน่าแขยงด้วยซํ้า ไม่คิดว่าจะทำกันได้ ความล้มเหลวของรัฐบาล จะนำไปสู่ ความไม่มั่นคงทางสังคม ตรงนี้ เป็นเรื่องอันตรายมาก ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกกันแล้ว
ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจฟองสบู่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะซบเซา แต่ไม่ใช่ภาวะฟองสบู่
...
ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ไทยมีโอกาสดีกว่าเพื่อนในแง่ของ “ภูมิรัฐศาสตร์” โดย ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน แต่น่าเสียดายที่เราทำร้ายตัวเองจนเสียโอกาสตรงนี้ไป จากวิสัยทัศน์สั้นของรัฐบาลทหารที่มุ่งต่อท่ออำนาจมากกว่ามองไปที่โอกาสของประเทศในอนาคต จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญที่บังคับให้รัฐบาลเลือกตั้งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้มีแต่รัฐบาลที่อ่อนแอ อำนาจรัฐบาลถูกแบ่งแยกจนขาดเอกภาพการบริหารประเทศ ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศแบบบูรณาการได้
ในเวทีสัมมนา AEC Business Forum 2019 หัวข้อ 2020 : The Age of ASEAN Connectivity จัดโดย ธนาคารกรุงเทพ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ได้พูดถึงเศรษฐกิจของอาเซียนว่า ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง ปี 2561 มีการเติบโตถึง 5.2% มูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 91.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก ไอเอ็มเอฟคาดว่า ปีนี้จีดีพีอาเซียนจะขยายตัว 4.6% และปีหน้า 2563 ขยายตัวอีก 4.8% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ สูงกว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.0% และปีหน้าขยายตัว 3.4%
คุณชาติศิริ เสนอให้ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล อาเซียนมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงกว่า 90% ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวสูง เศรษฐกิจดิจิทัลในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มีการเติบโต 20–30% ต่อปี แต่ เวียดนาม อินโดนีเซีย เติบโตมากกว่า 40% ต่อปี สงครามการค้ายังทำให้มีการย้ายฐานการผลิต เช่น โซนี่ย้ายฐานการผลิตมาไทย และ ซัมซุงย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม
เห็นไหมครับ ในวิกฤติยังมีโอกาสอีกมากมาย อยู่ที่ใครจะสามารถไขว่คว้ามาครอง โดยเฉพาะ ประเทศไทย ที่ ได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ทุกประตู ขอเพียง มีรัฐบาลที่เก่งและเข้มแข็งเท่านั้น พูดไปก็ได้แต่เสียดาย เสียดาย เสียดาย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”