การประชุมสุดยอด อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพปิดฉากไปเมื่อวันจันทร์ สำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า เวทีการประชุม “ถูกครอบงำด้วยประเด็นการค้า” โดยมี “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” เป็นหัวข้อหลักในการเจรจาระหว่าง 10 ชาติอาเซียน กับ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้ผลสรุปร่วมกันเพียง 15 ชาติ โดย ผู้นำอินเดีย ไม่ขอร่วมวงด้วย

สมาคมอาเซียนได้ออกแถลงการณ์หลังการประชุมว่า

สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สามารถปิดการเจรจาการจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บทได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และจะมีการ ลงนามข้อตกลงในการประชุมปีหน้าที่เวียดนาม ขณะที่ผู้นำ 15 ประเทศต่างเห็นพ้องว่าจะมีการเจรจากับอินเดียต่อไป และอินเดียสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มได้ตลอดเวลา แม้หลังจากที่มีการลงนามข้อตกลงในปีหน้าไปแล้ว

RCEP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 16 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกันกว่า 27.2 ล้านล้านดอลลาร์ ร้อยละ 32.3 ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันกว่า 11.5 ล้านล้านดอลลาร์ ร้อยละ 29.3 ของมูลค่าการค้าทั้งโลก เป็น “เขตการค้าเสรี” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี ให้เหตุผลที่ไม่ร่วม เขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป ว่า เนื่องจากยังมีความเห็นต่าง เกี่ยวกับการเก็บภาษีศุลกากร การขาดดุลการค้าของอินเดีย การตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเขาเห็นว่า ความตกลงอาร์เซ็ปไม่ได้สะท้อนถึงหลักการขั้นพื้นฐาน ไม่ได้ตอบสนองต่อปัญหาของอินเดียที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งยัง ส่งผลกระทบต่อคนยากจน โดยเฉพาะ ข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากร จะเปิดช่องให้สินค้าจีน รวมทั้ง สินค้าเกษตรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หลั่งไหลเข้าสู่อินเดีย ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ

...

นายกรัฐมนตรีอินเดียไม่เคยพูดประโยคโก้หรูว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่ ผู้นำอินเดียกลับกล้าทิ้งข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาร์เซ็ปกับ 15 ชาติ ที่เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อปกป้องผู้ผลิตในอินเดียที่ยังอ่อนแอ

นายวิชัย ฐากุร ซิงห์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศอินเดีย แถลงถึงความกังวลของอินเดียว่า อุตสาหกรรมต่างๆภายในประเทศอินเดีย จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการไหลบ่าของสินค้าต่างๆที่ผลิตในจีนที่มีราคาถูกกว่า เราได้สื่อสารถึงประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุมว่า เราจะไม่เข้าร่วม RCEP ข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ปุถุชนทั่วไปของอินเดีย การทำมาหากินของประชาชน รวมถึงคนจนที่แร้นแค้นที่สุด

ใน 15 ชาติอาร์เซ็ป นอกจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีทั้งสิ้น

เขียนถึง เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาร์เซ็ป แล้ว ทำให้ผมนึกถึง “นโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี” หรือ Open Sky Policy ที่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2547 เปิดน่านฟ้าไทยให้สายการบินต่างชาติบินเข้าออกอย่างเสรี (ขณะที่ประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่วันนี้ก็ยังจำกัดน่านฟ้าเพื่อปกป้องสายการบินในประเทศ) ผลก็คือ การบินไทย สายการบินแห่งชาติ สู้สายการบินต่างชาติไม่ได้ ขาดทุนบักโกรกมาจนถึงทุกวันนี้ สายการบินต่างชาติก็แห่เข้ามาตั้งฐานการบินในไทย ใช้สิทธิการบินของไทยบินไปทั่วโลก

ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาร์เซ็ปก็คงไม่ต่างกันมากนัก

ผมก็หวังว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อ่อนแอของไทย จะไม่ล้มหายตายจากไปหมด เมื่อมีการ เปิดเขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป ในปีหน้า สินค้าดีกว่า ถูกกว่า เทคโนโลยีสูงกว่า จะไหลบ่าเข้ามา ถล่มสินค้าไทยที่อ่อนด้อยกว่า แถมยัง ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า อีกด้วย ตัวใครตัวมันก็แล้วกันนะโยม.

“ลม เปลี่ยนทิศ”