การประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจบลงไปเมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม ไม่ได้แสดงบทบาทที่โดดเด่นอะไรในการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะกับ “ประเทศคู่เจรจา” ที่มีปัญหาการค้ากับไทย เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่ โครงการ National Digital Trade Platform ที่ คุณกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำเข้าหารือใน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อผลักดันให้เป็นโครงการ ASEAN Digital Trade Transformation Project โดย รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ส่ง บริษัท NTT Data Thailand สนับสนุนการทดลองเทคโนโลยี “บล็อกเชน” เพื่อใช้กับโครงการนี้

ในช่วงแรกจะเป็นรูปแบบ B to B บริษัทต่อบริษัท ก่อน เพื่อช่วยการติดต่อค้าขายกับต่างชาติและการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ โดยรัฐบาลได้มอบให้ สำนักงาน ก.พ.ร. และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เป็นผู้สนับสนุน

คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง พูดถึงโครงการนี้ว่า รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริง ภาคเอกชนไทย ถือเป็น ลำดับ 2 ในอาเซียน ที่ทำโครงการนี้รองจาก สิงคโปร์ เป็นโมเดลต้นแบบของอาเซียนที่ เอกชนริเริ่มงาน รัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริม เพราะปัญหาของโลก 4.0 คือ ขาดแคลนแพลตฟอร์ม ขาดข้อมูล โครงการนี้จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ปัญหาคือ การเชื่อมโยงกันยังไม่สุด เพราะเอกชนอยากนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับรัฐบาลในส่วนนี้ด้วย

สรุปโดยสรุปก็คือ ภาครัฐคือตัวปัญหาและอุปสรรคตามเคย ผมขออวยพรให้สำเร็จ

แต่ที่ไม่ต้องอวยพรก็คือ กลุ่มอาลีบาบา อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีนที่เข้ามาหยิบชิ้นปลามันในเมืองไทย เมื่อ ประกาศกรมศุลกากรที่ 204/2562 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก หรือ EEC ตีพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา และให้บังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป

...

ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) กิจการอีคอมเมิร์ซในเขตอีอีซี ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 ไร่ อยู่ใน 3 จังหวัดเขตอีอีซี เป็น “ศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ” โดย ขยายเวลาให้การนำสินค้าออกจากเขตฟรีโซนไปยื่นเสียภาษีศุลกากรจากเดิมภายใน 1 วัน เป็น 14 วัน เนื่องจากการค้าอีคอมเมิร์ซมีอัตราการปฏิเสธรับสินค้าของผู้สั่งซื้อสูง หากตีกลับสินค้าคืนเข้าเขตฟรีโซนในกำหนดสามารถแจ้งยกเลิกรายการนั้นได้ (เมื่อไหร่รัฐจะเข้าใจเอกชนไทยแบบนี้บ้าง) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น จากนี้ไป กลุ่มอาลีบาบา จะใช้ฐานนี้ค้าขายกับคนไทยและในอาเซียนได้อย่างสบายใจไร้คู่แข่ง

ผู้ประกอบการไทยและอีคอมเมิร์ซไทย อ่านประกาศนี้แล้วก็ร้องไห้กันหนักมาก จากนี้ไปคนไทยจะทำธุรกิจกันอย่างไร เมื่อ กลุ่มอาลีบาบามีอภิสิทธิ์เหนือคนไทย มีอภิสิทธิ์เหนือธุรกิจไทย ค้าขายไม่ต้องเสียภาษี เพราะแจ้งยกเลิกภาษีขายได้ใน 14 วัน ถ้าลูกค้าส่งคืน อธิปไตยไทยไปอยู่ที่ไหน แต่คนไทยต้องเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์

ดูเหมือน อาลีบาบา จะรู้เรื่องประกาศล่วงหน้า เพราะ คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานกลุ่ม WHA เปิดเผยว่า ได้ลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท สร้างศูนย์กระจายสินค้าในเขตส่งเสริมอีคอมเมิร์ซนี้ให้กลุ่มอาลีบาบาที่เข้ามาเช่าใช้พื้นที่แล้ว 130,000 ตร.ม. กำลังเจรจาขยายพื้นที่เพิ่มอีก 7-8 หมื่น ตร.ม. ถ้าได้ข้อสรุปจะส่งมอบพื้นที่ได้ในปี 2563

คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม ให้ความเห็นว่า ประกาศกรมศุลกากรฉบับนี้เอื้อประโยชน์อาลีบาบา เช่น ลูกค้าส่งคืนสินค้าไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร แต่ผู้ประกอบการไทยต้องเสีย (ทำไมคนไทยมีสิทธิด้อยกว่าต่างชาติ???) และกระตุ้นให้สินค้าจีน หลั่งไหลเข้ามาพักใน อีคอมเมิร์ซพาร์ค ของ อาลีบาบา โดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้มีต้นทุนการค้าถูกลง แล้ว สินค้าไทย เอสเอ็มอีไทย จะไปสู้ สินค้าจีน ได้อย่างไร

อ่านข่าวไปก็ว้าเหว่ไป แล้วเราจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง?

“ลม เปลี่ยนทิศ”