วันเสาร์สบายๆ วันนี้ไปคุยเรื่องหุ้นกู้ที่เรียกกันน่ากลัวว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” หรือ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” (Perpetual Bond) ที่มีบริษัทจดทะเบียนน้อยใหญ่ออกขายกันไปแล้วกว่า 77,000 ล้านบาท โดยให้ดอกเบี้ยสูงในช่วง 5 ปีแรก เพื่อจูงใจผู้ลงทุน แต่หลัง จาก 5 ปีไปแล้ว ถ้าบริษัทไม่ไถ่ถอนคืน ไม่จ่ายดอกเบี้ย ก็จะกลายเป็น “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ต้องถือไปจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะล้มหายตายจากกันไป แต่ก็มีนักลงทุนไทยที่ชอบความเสี่ยงสูงแบบนี้ ซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไปแล้วกว่า 77,000 ล้านบาทและมีบริษัทกำลังทยอยออกขายอีก 32,000 ล้านบาท
ท่านผู้อ่านคงได้เห็นโฆษณาหุ้นกู้แบบนี้ตามสื่อแล้ว ช่วงแรกๆที่ออกขายไม่ต้องโฆษณาเลย เห็นดอกเบี้ย 5-6% ก็ขายเกลี้ยง แต่ช่วงนี้ต้องโฆษณากันมากหน่อย
ความจริง “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ที่ออกขายก็มีการบอก “ความเสี่ยง” เอาไว้ชัดเจนว่า จะไถ่ถอนหุ้นกู้เมื่อเลิกบริษัท มีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดก็ได้ มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆก็ได้ ผู้ลงทุนมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยที่บริษัทกำหนด และดอกเบี้ยแปรผันในอนาคตอีก 20 ปี 50 ปี 100 ปี ถ้าบริษัทไม่คิดไถ่ถอนคืน
วันนี้ผมเลยอยากแนะนำให้รู้จักกับ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน กันสักนิดเพื่อป้องกันความเสี่ยงในปัจจุบันและอนาคต เพราะเงินทองเป็นของหายาก ความเสี่ยง ผมขอเน้นว่า ความเสี่ยง ของ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อดังนี้
1.ไม่มีวันกำหนดไถ่ถอน ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตราบใดที่บริษัทยังไม่เลิกกิจการ หากผู้ลงทุนต้องการเงินคืน ทำได้ทางเดียวคือขายในตลาดรอง อาจได้ราคาสูงกว่าหรือตํ่ากว่าราคาทุนก็ได้ แต่ปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดรองมีน้อยมาก
...
2.เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หากบริษัทล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับสิทธิชำระหนี้เป็นลำดับที่ 3 หลังจากชำระให้เจ้าหนี้อื่นๆแล้ว
3.บริษัทเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าธุรกิจของบริษัทจะมีกำไรดี แต่ผู้ออกหุ้นกู้จะไม่จ่ายดอกเบี้ยก็ได้ หรือไปจ่ายในอนาคตก็ได้
คำถามแบบชาวบ้านก็คือ แล้วจะลงทุนหุ้นกู้แบบนี้ไปทำไม ก็นี่แหละที่อยากเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ขนาด SEARS ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี มีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี เดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2561) เซียร์สยื่นล้ม-ละลายต่อศาลล้มละลายนิวยอร์ก ด้วยหนี้สินท่วมท้นกว่า 11,300 ล้านดอลลาร์ มีใครคาดคิดว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเซียร์สจะล้มละลายได้
วันนี้ ความเสี่ยง ของ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ยังเพิ่มความเสี่ยงให้กับ “บริษัท” ที่ซื้อหุ้นกู้ประเภทนี้ด้วย คุณชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน PwC Thailand เปิดเผยว่า ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TAS 32 ที่จะใช้ในต้นปี 2563 ได้ระบุเงื่อนไขการจัดประเภทตราสารหนี้และทุนให้ชัดเจนขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ถูกจัดให้เป็น “หนี้สิน” ในงบการเงินแทนงบลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “อัตราหนี้สินต่อทุน” หรือ D/E Ratio ของบริษัท ทำให้บริษัทมีหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้เงินสูงขึ้น และอาจถูกปรับลดเครดิตอีกด้วย
คุณชาญชัย ระบุว่า ผลกระทบต่อบริษัทที่ถือหุ้นกู้แบบนี้ ยังอาจบานปลายออกไปถึง สัญญาเงินกู้ต่างๆ ที่บริษัททำไว้กับธนาคารต่างๆอีกด้วย เพราะการกู้เงินจากธนาคารจะมีข้อกำหนดเรื่องอัตราหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกินที่กำหนด ถ้าต้องบันทึกเงินลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เป็นหนี้สิน อาจส่งผลให้ธนาคารเรียกคืนเงินกู้ได้ทั้งก้อน ไม่เจ๊งก็ต้องเจ๊ง
เมืองไทยเรา ชอบก้าวหน้าในสิ่งที่ควรล้าหลัง แต่สิ่งที่ควรก้าวหน้ากลับล้าหลัง ผมเชื่อว่าหน่วยงานรัฐก็รู้ดี ผู้ลงทุนไทยมีความรู้น้อยในเรื่องหุ้นกู้พิสดารแบบนี้ ขนาดแชร์ลูกโซ่ “แม่มณี” ยังมีคนเชื่อกู้เงินมาลงทุนกันเป็นล้าน เสียหายไปกว่า 400 ล้านบาท จากผู้ลงทุนกว่า 1,800 คน ตัดไฟแต่ต้นลมยังไม่สาย ความโลภไม่เข้าใครออกใครจริงๆ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”