ก็แค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า ครม.เศรษฐกิจ ในฐานะ ประธานบอร์ด EEC ลุกขึ้นมาทำงานนั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดอีอีซีเท่านั้นแหละ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ยึกยักกันมานาน ก็ตกลงอนุมัติผ่านฉลุยในเวลาไม่กี่สิบนาที กำหนดเซ็นสัญญากันช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นสักขีพยานกันเบี้ยว

ก่อนหน้านี้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กำหนดให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าซีพี CPH เซ็นสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม ทั้งที่ยังมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ขู่ว่าถ้าไม่เซ็นจะริบเงินประกัน 2,000 ล้านบาท และขึ้นบัญชีดำกลุ่ม CPH

แต่พอ นายกฯพล.อ.ประยุทธ์ เคาะให้ผ่านปุ๊บ คุณอนุทิน ก็รีบออกมาแถลงข่าวทันที นํ้าเสียงก็เปลี่ยนไป บอกว่า ที่ประชุมได้ปรับเงื่อนไขเล็กน้อย เรื่องการส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามารื้อย้ายสาธารณูปโภค เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย นายกฯกำชับว่าภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น รัฐต้องออกแรงด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนออกแรงอย่างเดียว

ถ้า คุณอนุทิน คิดแบบ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ เสียตั้งแต่แรก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็คงได้เซ็นสัญญาไปแล้ว โครงการนี้ถือเป็น “หัวใจของอีอีซี” ถ้าโครงการนี้ล้มเหลวหรือต้องเลื่อนไปอีก คงไม่มีต่างชาติที่ไหนกล้ามาลงทุนในอีอีซี เพราะตั้งแต่เปิดโครงการมามีแต่คนแสดงความสนใจ แต่ยังไม่มีบริษัทไหนเริ่มลงทุน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี แถลงผลการประชุมบอร์ดอีอีซีว่า มีนายกฯเป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ ได้เคาะแผนส่งมอบพื้นที่ที่ปรับใหม่ ตามข้อเสนอใหม่ของ คณะอนุกรรมการบริหาร ที่มี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลัง เป็นประธาน ดร.คณิศ เปิดเผยว่า แผนส่งมอบพื้นที่และสาธารณูปโภคเดิม เอกชนทำงานยาก เพราะให้เอกชนไปเจรจากับ 8 หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของสาธารณูปโภคเอง ต้องแก้จุดตัดเสาไฟฟ้าแรงสูง 230 จุด ย้ายเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน 450 ต้น ย้ายอุโมงค์ระบายนํ้า 1 จุด ย้ายท่อนํ้ามันและท่อก๊าซของ ปตท. ฯลฯ บอร์ดอีอีซีเห็นว่า ถ้าให้เอกชนต้องดูเองทั้งหมด จะช้าและก่อสร้างลำบาก เรื่องอย่างนี้ คุณอนุทิน รองนายกฯที่กำกับดูแลโครงการนี้ ย่อมรู้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ทำไมจึงไม่รีบแก้ไขปัญหา ต้องรอให้นายกฯสั่ง

...

ดร.คณิศ เปิดเผยต่อว่า บอร์ดอีอีซีให้ปรับแผนใหม่ ฝ่ายบริหารการรถไฟฯ ต้องไปทำหนังสือสัญญาแนบท้ายโครงการเพื่อความชัดเจน โดยส่งมอบพื้นที่เป็น 3 เฟสดังนี้

1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กม. เป็นพื้นที่แอร์พอร์ตลิงก์เดิม ส่งมอบได้ทันทีหลังลงนามสัญญา แต่กลุ่ม CPH ต้องจ่ายค่าเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ล่วงหน้า 10,671 ล้านบาทก่อน 2. สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. เดิมจะส่งมอบภายใน 2 ปี จะเร่งส่งมอบใน 1 ปี 3 เดือน 3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม. เดิมส่งมอบภายใน 4 ปี (เกือบเท่าสัญญาก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 220 กม.ที่ระบุให้สร้างเสร็จภายใน 5 ปี) จะเร่งรัดให้ได้ใน 2 ปี 3 เดือน คาดว่า รถไฟความเร็วสูงสายแรกที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง คือ สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2566 หรือต้นปี 2567 ถือเป็น “หัวใจ” ของโครงการนี้ ส่วน สถานีพญาไท-ดอนเมือง จะเสร็จในปี 2567–2568

คุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ ผู้ที่จะเซ็นสัญญากับกลุ่ม CPH กล่าวว่า ถ้าส่งมอบพื้นที่ไม่ทัน รัฐจะชดเชยเวลาให้ แต่ไม่จ่ายค่าชดเชย หลังเซ็นสัญญาจะเร่งส่งมอบพื้นที่ช่วง พญาไท–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ให้เสร็จไม่เกิน 2 ปี การออกหนังสือให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) จะขยายเวลาเป็น 2 ปี แทนที่จะนับทันทีเมื่อเซ็นสัญญา ตามแบบเดิม

ก็อย่างที่ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านว่า โครงการเมกะโปรเจกต์ รัฐต้องออกแรงด้วย ไม่ให้ปล่อยให้เอกชนออกแรงฝ่ายเดียว โครงการนี้ก่อนที่นายกฯจะฟันธง ไม่เพียงรัฐไม่ช่วยออกแรง ยังขู่ด้วย ถ้าทุกโครงการมีคนรัฐบาลคิดแบบนี้ ประเทศเสียหายครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”