ในที่สุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา–สุวรรณภูมิ–ดอนเมือง ก็ต้อง ล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 1–2 ปี จากปัญหาที่ผมเขียนติงไปเมื่อต้นเดือน โดยเฉพาะ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตลอดเส้นทาง 220 กม. ตั้งแต่ อู่ตะเภา ไปจนถึง ดอนเมือง ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ทุกพื้นที่มีการบุกรุกที่ดิน ที่เช่า และมีสิ่งก่อสร้างเดิม รวมทั้งสาธารณูปโภคของรัฐที่ต้องย้ายออกไป
แต่งานนี้ ยักษ์ใหญ่ซีพี ฮึดสู้ไม่ถอย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า กลุ่มซีพีกับพันธมิตรพร้อมจะลงทุนและตั้งใจเต็มที่ แสดงว่างานนี้ กลุ่มซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ พร้อมสู้เต็มที่ แม้จะรู้ว่าเป็นงานสุดหินและผลสรุปของโครงการอาจจะขาดทุนก็ตาม
โครงการรถไฟความเร็วสูง 220 กม. เชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนเบื้องต้น 224,544 ล้านบาท ถือเป็น โครงการแรก ใน เฟสแรก ของ ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) จากทั้งหมด 5 โครงการ อีก 4 โครงการคือ สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ถ้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสามารถสร้างเสร็จตามกำหนดภายใน 5 ปี ก็ถือว่า สิ้นสุดแผนอีอีซีระยะที่ 1 อีก 5–10 จะเป็นการพัฒนา เมืองการบิน หรือ มหานครการบิน เป็นระยะต่อไป
เห็นไหมครับว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สำคัญขนาดไหน
ถ้า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เกิด หรือไม่เสร็จ สนามบินอู่ตะเภา จะเป็นสนามเดี่ยวเหมือนเดิม หรืออาจกลายเป็น สนามบินโลว์คอสต์ รองรับนักท่องเที่ยวในภาคตะวันออก ไม่เชื่อมโยงกับ สนามบินสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ที่สำคัญ เมืองมหานครการบินก็ไม่เกิด ส่งผลกระทบไปถึง ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี เพราะระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ล้าสมัยต้องพึ่ง ระบบถนนที่ติดขัด และ รถไฟรางคู่ ที่มีอยู่แบบฉึกกะฉักถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างเหมือนเดิม
...
ผมจึงได้ชี้ให้เห็นถึง ปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข เพราะสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์จะตกแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เอกชนผู้สัมปทานเพียงรายเดียว
ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่แล้ว คุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบให้มีการ “เซ็นสัญญาก่อน” แล้วให้ การรถไฟฯ จะออก “หนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (Notice to Process–NTP)” คือ ให้มีการเซ็นสัญญาการประมูลไว้ก่อน ส่วน การเริ่มต้นนับสัญญาโครงการ 5 ปี ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่การรถไฟฯ ออกหนังสือ NTP ให้กับกลุ่มซีพี เพราะ การรถไฟฯมีปัญหาในการส่งมอบที่ดินก่อสร้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ 100% ได้ตามเงื่อนไขสัญญา
เงื่อนไขใหม่ คุณวรวุฒิ เปิดเผยว่า การเคลียร์พื้นที่ก่อสร้าง การรถไฟฯมีทั้ง การเวนคืนที่ดิน การย้ายผู้บุกรุก การคืนพื้นที่ 300 สัญญาเช่า และ ประสานกับ 6 หน่วยงานรัฐเจ้าของระบบสาธารณูปโภคที่ต้องรื้อย้าย โดยให้เจ้าของสาธารณูปโภคเป็นผู้รื้อย้ายเอง ส่วน กลุ่มซีพี จะรับผิดชอบรื้อสิ่งกีดขวางในแนวเส้นทาง เช่น ตอม่อโฮปเวลล์ โครงสร้างส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทยจีนช่วงบางซื่อ–ดอนเมือง และ รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงจิตรลดา เป็นต้น สมมติว่าลงตามเดือนตุลาคม จะต้องเคลียร์ปัญหาต่างๆภายในหนึ่งปี หากใช้เวลาเกินหนึ่งปีสามารถหารือร่วมกันขอขยายเวลาได้ เพื่อลดความเสี่ยงสองฝ่าย การรถไฟฯคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายใน 2 ปี เป็นโมเดลเดียวกับ สัญญารถไฟฟ้าสีชมพูและสีเหลือง
ถ้าทุกอย่างราบรื่นตามที่ คุณวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ แถลง รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะล่าช้าจากกำหนดอีก 2 ปี ถ้าเซ็นสัญญาปีนี้การก่อสร้างจะไปเริ่มปลายปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ก็จะไปเสร็จเอาปลายปี 2569 เฟสแรกอีอีซีจึงจะเสร็จ แต่การทำงานจริงผมเชื่อว่าการส่งมอบพื้นที่อาจล่าช้ากว่า 2 ปี ดูรถไฟสายสีแดงเป็นตัวอย่าง
ปล.ขอแก้ข่าวครับ บทความเสาร์ที่ 14 กันยายน เรื่อง เงินบริจาค ให้ มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก โรงพยาบาลราชวิถี ยอดเงินบริจาคที่ถูกต้องตามต้นฉบับคือ 800,000 บาท (แปดแสนบาท) ครับ ไม่ใช่ 8,000,000 บาท (แปดล้านบาท) โปรดเข้าใจตามนี้.
“ลม เปลี่ยนทิศ”