5 โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 3.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 4.ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 และ 5.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ยังเดินหน้าได้ค่อนข้างช้า
ทั้ง 5 โครงการประสบปัญหาอุปสรรคต่างกัน วันนี้จะขอคุยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ที่อาจยืดเยื้อลากยาวออกไปอีก หลังกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับการดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนไว้ก่อน
ประเด็นของข้อพิพาทเริ่มจาก การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ คณะกรรมการอีอีซี ประกาศตัดสิทธิในการเข้าร่วมลงทุน ของกลุ่มเอ็นซีพี อันประกอบด้วย บจ.นทลิน บมจ.พริมา มารีน บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ บจ.พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น เนื่องจากกลุ่มเอ็นซีพี ยื่นเอกสารซองที่ 2 (ซองคุณสมบัติ) ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือกิจการร่วมค้า ซึ่งตามเอกสารหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือก (RFP : Request for Proposal) กำหนดให้สมาชิกทุกรายในกิจการร่วมค้าต้อง รับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน
ข้อกำหนดการลงนามเกี่ยวกับเอกสารด้านคุณสมบัติ กำหนดให้ เซ็น 2 ครั้ง 2 ที่ เซ็นครั้งแรก (ด้านล่างเอกสาร) เพื่อยืนยันว่าเป็นส่วนของข้อเสนอ เซ็นครั้งที่สอง (ในช่องที่กำหนดไว้เฉพาะ) เพื่อยืนยันคุณสมบัติของสมาชิกว่ารับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน แต่ปรากฏว่าเอกสารส่วนนี้กลุ่มเอ็นซีพีเซ็นแค่ด้านล่างที่ยืนยันว่าเป็นส่วนของข้อเสนอ แต่ไม่มีตัวแทนของสมาชิกเซ็นลงนามในช่องยืนยันคุณสมบัติของสมาชิกว่าจะรับผิดชอบแทนกัน
...
นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดกรณีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใดๆจากการประมูล ภาครัฐอาจจะไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาชิกรายใดได้เลย หรือไล่เบี้ยได้ยากลำบาก หรือเรียกร้องความรับผิดชอบได้ไม่เต็มจำนวน เพราะไม่มีการเซ็นสัญญารับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน
ต่อมากลุ่มเอ็นซีพีได้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกตัดสิทธิดังกล่าว ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยขอให้ ผู้อำนวยการ กทท. และ ประธานอีอีซี ทบทวนหรือยกเลิกกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน และเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนอีกครั้ง โดยเห็นว่าแม้กลุ่มเอ็นซีพีไม่ได้ลงนามในช่องยืนยันรับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน แต่ได้ลงนามที่ด้านล่างอยู่ 1 จุดแล้ว ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวไม่ใช่แบบฟอร์มเอกสารตามราชการ กรณีนี้ถือว่าไม่ใช่ข้อบกพร่องที่เป็นสาระ จึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย
ก็ไม่รู้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินลืมคิดไปหรือเปล่าว่า อีอีซีมีกฎหมายเป็นของตัวเอง คือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนคือ การใช้ RFP เป็นเกณฑ์ โครงการนี้ เมื่อ RFP กำหนดให้สมาชิกทุกรายในกิจการร่วมค้าจะต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน คณะกรรมการคัดเลือกก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์นั้น
ผมไม่ใช่ผู้รู้ทางกฎหมายที่มีอำนาจชี้ว่า การลงนามไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดถือเป็นข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ แต่อยากให้เปรียบเทียบกับ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่ กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด มีพันธมิตรเป็นกลุ่มทุนใหญ่ทั้งนั้น ยังตกม้าตายชวดงานประมูลเพียงเพราะยื่นซองช้าไป 9 นาที ซึ่งศาลปกครองกลางเห็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องเอกสารไว้พิจารณา โดยไม่สามารถยกเว้นให้แก่กลุ่มบริษัทธนโฮลดิ้งเป็นกรณีพิเศษได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติและเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ลองชั่งน้ำหนักดูแล้วกันว่าระหว่างจงใจลงนามไม่ครบถ้วน กับมายื่นซองช้าไป 9 นาที อย่างไหนร้ายแรงกว่ากัน?
“ลมกรด”