แค่ไม่กี่ปี พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตและการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ย้อนหลังไป 5-6 ปี คนเจน X รุ่นผมมีมากกว่าครึ่งที่ไม่ค่อยกล้าใช้อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง พวกเราชอบไปดูหนังในโรง ชอบขับรถออกไปหาของอร่อยกิน แต่ตอนนี้โอนเงินทางมือถือกันเป็นเรื่องปกติ ดูหนังผ่าน Pay TV และ OTT video แทบทุกวัน อยากกินของอร่อยร้านไหนก็สั่งไลน์แมน

ประเทศไทยแม้ไม่ถึงกับมีเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่เราก็ตามติดกระแสโลกแบบไม่น้อยหน้าใคร หัวใจสำคัญคือการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ต้องยกเครดิตให้สำนักงาน กสทช. ที่ทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งยังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ก้าวทันกระแสเทคโนโลยี

คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึง ผลการดำเนินงานจัดสรรคลื่นความถี่ ว่า ตั้งแต่ปี 2555 มีการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของไทย หรือที่เรียกว่าประมูลคลื่น 3G ประมูลไป 9 ใบอนุญาต ได้เงิน 41,625 ล้านบาท ต่อมาปี 2558 ประมูลคลื่น 1800MHz อีก 2 ใบอนุญาต เป็นเงิน 80,778 ล้านบาท จากนั้นปี 2559 ประมูลคลื่น 900MHz อีก 2 ใบอนุญาต เป็นเงิน 151,952 ล้านบาท ถัดมาในปี 2561 ประมูลคลื่น 1800MHz จำนวน 9 ใบอนุญาต เป็นเงิน 25,022 ล้านบาท และประมูลคลื่น 900MHz อีก 1 ใบอนุญาต เป็นเงิน 38,064 ล้านบาท และปีนี้ได้จัดสรรคลื่น 700MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต เป็นเงิน 52,752 ล้านบาท รวมแล้ว กสทช.สร้างรายได้จากการประมูลคลื่นนำเงินส่งเข้ารัฐ 390,193 ล้านบาท

(รายได้ทั้งหมดแบ่งเป็น จากค่ายเอไอเอสประมูลคลื่นไปเป็นเงินทั้งสิ้น 161,360 ล้านบาท ทรู 147,174 ล้านบาท และดีแทค 81,659 ล้านบาท)

ผมไปค้นดูผลสำรวจ ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละวัน ของกลุ่มตัวอย่าง 5 พันคน ผ่าน แอปพลิเคชัน “พฤติมาตร” ของ กสทช. พบว่าเมื่อวันที่ 31 พ.ค.62 กลุ่มตัวอย่างใช้งานอินเตอร์เน็ตใน 5 แอปท็อปไฟว์ (Line Facebook Messenger YouTube Chrome) เฉลี่ยคนละ 261 นาทีต่อวัน วันที่ 30 มิ.ย.62 ใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยคนละ 444 นาทีต่อวัน และวันที่ 31 ก.ค.62 ใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยคนละ 252 นาทีต่อวัน เท่ากับว่าคนไทยอยู่กับอินเตอร์เน็ตวันละ 4-5 ชั่วโมง

...

ทีนี้ไปดู จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต บ้าง Mobile ปี 2558 มีใช้ 83 ล้านเครื่อง ปี 2561 มี 92 ล้านเครื่อง และคาดการณ์ปี 2565 มี 99 ล้านเครื่อง ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2558–2565 ขยายตัว 1.57% Fixed voice ปี 2558 มีอุปกรณ์มาเชื่อมต่อ 5.3 ล้านเครื่อง ปี 2561 มี 4.1 ล้านเครื่อง และคาดการณ์ปี 2565 มี 3 ล้านเครื่อง เฉลี่ยขยายตัว -7.54%

Fixed broadband ปี 2558 มีอุปกรณ์มาเชื่อมต่อ 6.1 ล้านเครื่อง ปี 2561 มี 8.8 ล้านเครื่อง และคาดการณ์ปี 2565 มี 10 ล้านเครื่อง เฉลี่ยขยายตัว 5.64% Pay TV ปี 2558 มีอุปกรณ์มาเชื่อมต่อ 4.1 ล้านเครื่อง ปี 2561 มี 4.6 ล้านเครื่อง และคาดการณ์ปี 2565 มี 5.8 ล้านเครื่อง เฉลี่ยขยายตัว 7.28% OTT video ปี 2558 มีอุปกรณ์มาเชื่อมต่อ 3.5 แสนเครื่อง ปี 2561 มี 1.09 ล้านเครื่อง และคาดการณ์ปี 2565 มี 1.8 ล้านเครื่อง เฉลี่ยขยายตัว 17.77%

ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป คนไทยอยู่กับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้น ต้องการบริการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการส่วนตัวมากขึ้น 5G จึงไม่ใช่มีความจำเป็นเฉพาะในวงการอุตสาหกรรม แต่ยังมีความจำเป็นต่อไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ยุคดิจิทัล

ในเมื่อเทรนด์ของโลกเปลี่ยนไป หลักวิธีคิดในการจัดสรรคลื่นก็ควรปรับเปลี่ยนเช่นกัน ที่ผ่านมา การประมูลมักมุ่งเน้นหาเงินเข้ารัฐเยอะๆ แต่ต่อไปนี้ถ้าจะจัดประมูลคลื่นก็ควรมองถึงประโยชน์ของการใช้งานเป็นหลัก ราคาตั้งต้นไม่ต้องสูง แต่กำหนดเงื่อนไขให้ประชาชนได้ประโยชน์แทน

เช่น กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดทำบริการ เทเลเฮลท์ อี-เลิร์นนิ่ง หรือ แอปพลิเคชันดูแลผู้สูงวัย เป็นต้น หรืออาจจะประมูลใบอนุญาต 5G เป็น โซนพื้นที่ ไม่ต้องทำเท่ากันทั้งประเทศ จะได้ลดต้นทุนผู้ประกอบการ

จะเงื่อนไขอะไรก็ตาม ขอให้วิน-วิน-วิน ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ.

ลมกรด