เป็นเรื่องที่สร้างความเซอร์ไพรส์มาก เมื่อโครงการดิจิทัลพาร์ค ของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งมีบริษัทเอกชนซื้อซองประมูลไปถึง 16 ราย แต่พอถึงวันประมูลเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน กลับไม่มีเอกชนเสนอตัว เข้าประมูลเลยแม้แต่รายเดียว

คุณอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ประธานการประมูล ให้เหตุผลว่า น่าจะมาจากการบังคับให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 3% จากรายได้ที่ไม่ใช่กำไรทุกปี ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ทำโครงการ และยังบังคับให้ทำโครงการเฟสแรก 9 หมื่นตารางเมตรให้เสร็จภายใน 2 ปี เร็วกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่จะเสร็จภายใน 5 ปี รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ที่ต้องจ่ายให้รัฐตั้งแต่ปีแรกด้วย

ฟัง คุณอัจฉรินทร์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ สารภาพแล้ว ผมก็ไม่แปลกใจเลยที่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าประมูล ผมคิดว่าภาครัฐดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างมหันต์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่คิด “ฟันกำไร” จากเอกชนที่เข้าประมูลโครงการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โครงการที่เป็น “โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” ทำให้ “ต้นทุนของประเทศแพงขึ้นเกินจริงทุกโครงการ” สุดท้ายโครงการก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่าง “ทีวีดิจิตอล” ก็มีให้เห็นแล้ว และรัฐบาลก็เอาเงินภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านบาทไปชดเชยให้เอกชน โดยไม่มี “เจ้าหน้าที่รัฐ” รับผิดชอบเลยแม้แต่คนเดียว

กรณี โครงการดิจิทัลพาร์ค ก็เช่นเดียวกัน เอกชนที่ประมูลยังไม่ทันจะลงทุนเลย รัฐก็จะฟันค่าเช่าที่ดินตั้งแต่ปีแรกเสียแล้ว แค่นั้นยังไม่พอ ยังจะฟันส่วนแบ่งอีก 3% ของรายได้ตลอดระยะเวลา 50 ปี ทำยังกะเป็นโครงการขายหวยไปได้

โครงการดิจิทัลพาร์ค เป็นโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล ที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานมากมาย เช่น แพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะ สนามทดสอบระบบการสื่อสาร 5G ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงและความปลอดภัยไซเบอร์ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าและดาต้าเซ็นเตอร์ อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น เป็นโครงการใหม่ที่รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เอกชนหลากหลายเข้ามาร่วมงานด้วยซ้ำ ไม่ใช่การขูดรีดหวังเอากำไรจากเอกชนตั้งแต่ต้น

...

ดิจิทัลพาร์คในประเทศอื่น ที่ผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ยาวไกล รัฐบาลลงทุนให้ด้วยซ้ำ แล้วเปิดให้เอกชนหรือบุคคลที่มีโครงการดิจิทัลเข้ามาลงทุน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศ สร้างระบบนิเวศการลงทุนในดิจิทัลพาร์คให้มีความสมบูรณ์ เพื่อเติบโตเป็นเมืองอัจฉริยะต่อไป แต่ของไทยรัฐบาลเล่นฟันกำไรจากเอกชนตั้งแต่ปีแรกเลย ไม่รู้ว่าคิดจะพัฒนาประเทศด้านดิจิทัล หรือคิดจะค้ากำไรกับเอกชนกันแน่

แต่ก็ยังดีที่รู้ว่าผิดแล้วแก้ไข คุณอัจฉรินทร์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯแถลงว่า กระทรวงได้ดำเนินการปรับเงื่อนไขใหม่แล้ว โดยรวบรวมความเห็นของเอกชนและร่างสัญญาใหม่ โดยจะเปิดขายซองอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ และ ประมูลใหม่ช่วงเดือนตุลาคม

เงื่อนไขการประมูลที่มีการแก้ไขก็คือ ยกเลิกส่วนแบ่งรายได้แบบคงที่ (ปีละ 3% จากรายได้ทั้งหมด) โดยให้เอกชนเสนออย่างอิสระ เช่น อาจจะเป็น 0% ใน 5 ปีแรก และปีถัดไปไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกปี แต่ต้องจ่ายให้รัฐ 50% ของเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งที่เสนอ ค่าเช่าจะเว้นให้ 5 ปี การส่งมอบงานเฟสแรกจะขยายจาก 2 ปีเป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น

จุดอ่อน อย่างสำคัญของ โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่ผมเห็นมาก็คือ ภาครัฐ และ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่รู้ข่าววงใน มุ่งที่จะ “ขายที่ดิน” เป็นหลักมากกว่าจะสนใจโครงการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ที่ดินไร่ละไม่กี่แสนบาท ขายไร่ละหลายล้าน ฟันกำไรกันบานเบิก ทำให้ต้นทุนโครงการดิจิทัลพาร์คที่รัฐบาลต้องการมีราคาแพงขึ้น

ผมคิดว่า รัฐบาลต้องไปคิดใหม่ ในเรื่องวิสัยทัศน์ของประเทศ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐบาลอยากได้อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นดิจิทัล เพื่อเป็น รากฐานใหม่ของประเทศในอนาคต หรืออยากค้าขายที่ดินกันแน่.

“ลม เปลี่ยนทิศ”