วันศุกร์สุดสัปดาห์นี้ การจราจรในกรุงเทพฯคงจะติดขัดมากทีเดียว โดยเฉพาะแถวถนนวิทยุ เพลินจิต สุขุมวิท พระราม 4 เพราะ ผู้นำประเทศอาเซียน 9 ชาติ เดินทางมาประชุม “สุดยอดผู้นำอาเซียน ASEAN Summit ครั้งที่ 34” ที่ ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ในฐานะ ประธานอาเซียน ในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ 22–23 มิถุนายน ที่ โรงแรมพลาซา แอทธินี ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยตำรวจจะปิดการจราจรถนนวิทยุตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น ใครไม่จำเป็นก็โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางรอบๆแถวนั้น
แต่ ผู้นำเมียนมา ส่ง นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้นำตัวจริงมาประชุมแทน
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ประเทศไทย เจ้าภาพจัดภายใต้แนวคิด “ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน Advancing Partnership for Sustainability” การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ผู้นำ 10 ชาติต้องให้การรับรองเอกสาร 17 ฉบับ สำคัญระดับสูงสุดมี 6 ฉบับ คือ 1.วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (รู้สึกคุ้นไหม) เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” 2.การก่อตั้ง Delsa คลังอุปกรณ์สิ่งของช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย ที่จังหวัดชัยนาท และ ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน ที่กรมการแพทย์ทหารบก
3.การตั้งเครือข่ายสมาคมอาเซียน ที่ไทยเป็นผู้ผลักดัน เพื่อให้ประชาชนอาเซียนรู้ว่าจะได้ประโยชน์จากอาเซียนอย่างไรบ้าง 4.ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล เพื่อให้มีแผนปฏิบัติการร่วมกัน (ไทยล้าหลังมากในเรื่องนี้) 5.แผนงานสำหรับปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 6.แนวคิดอาเซียนเกี่ยวกับอินโด–แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
...
เย็นวันนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ชาติ จะประชุมร่วมกันที่ โรงแรมแลนด์มาร์ค และประชุมต่อในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ เพื่อร่วมกันกำหนด “ท่าทีร่วมของอาเซียน” ในการผลักดันการเจรจา “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP” ให้สำเร็จภายในปี 2562 ก็คือปีนี้
คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 มีเรื่องที่ต้องพิจารณา 3 ด้าน 13 ประเด็น ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเดือนเมษายนที่ภูเก็ตได้เห็นชอบแล้ว คือ
1.การเตรียมอาเซียนเพื่อรับมือกับอนาคต เช่น การจัดทำแผนดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย
2.ความเชื่อมโยงต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร
3.การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน
คุณอรมน เปิดเผยว่า จากการศึกษาของอาเซียนพบว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 (ยุค 5G และ IOT อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง) จะส่งผลให้ เศรษฐกิจดิจิทัลใน 6 ตลาดใหญ่ในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม เติบโตจากปัจจุบัน 50,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 200,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2568 ส่งผลให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกเลยทีเดียว
แต่ ประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 57 ล้านคน จากประชากร 69 ล้านคน ติดอันดับที่ 18 ของโลก แต่เศรษฐกิจดิจิทัลยังอยู่กับที่ไม่ไปไหนเสียที.
“ลม เปลี่ยนทิศ”