สถานการณ์แบบนี้? ผมคิดว่าไม่ต้องอธิบายอะไรมาก คนไทยส่วนใหญ่คงรู้สึกอย่างเดียวกัน สัปดาห์ที่แล้ว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม” พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ลงไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน นับจากเดือนพฤศจิกายน 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก็รายงานว่า ดัชนีการผลิตภาคเกษตรติดลบทุกตัวครั้งแรกในรอบปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงติดลบ 3% ต่อปี ว้าเหว่ไหมครับ

ดัชนีทุกตัวร่วงหนัก เพราะ ระบอบประชาธิปไตยที่คาดหวัง ล้มเหลวสิ้นเชิง

นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ชิงเป็นเจ้าโลก ก็มีทีท่าจะยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น สถานการณ์แบบนี้จะไปลงทุนอะไรดี? พอดีผมได้รับวารสาร “การเงินธนาคาร” เดือนมิถุนายน พลิกอ่านเจอบทความนี้พอดี “ฝ่ามรสุมการลงทุนด้วยกลยุทธ์ Multi–Asset Investing” ผู้เขียนคือ ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล เลยขอนำข้อมูลบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ท่ามกลางความมึนตึ้บก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ดร.ธนาวุฒิ ระบุว่า ความไม่แน่นอนของผลตอบแทนการลงทุนในสภาวะที่ท้าทายเช่นนี้ ทำให้นักลงทุนระดับสถาบันทั่วโลกได้หันหน้ามาให้ความสนใจ กลยุทธ์การลงทุนแบบ Multi–Asset Investing กันมากขึ้น ในประเทศไทยเองต้องยอมรับว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ MuIti-Asset Investing ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่บริหารการลงทุนในแนวนี้เข้ามาเสนอขายในตลาดไทย บลจ.บางกอกแคปปิตอลก็ได้นำกลยุทธ์นี้มาบริหารการลงทุนของลูกค้าสถาบันและลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (UItra High Net Worth)

รายละเอียดมีมากไปหาอ่านกันเองนะครับ ผมขอสรุปเพียงคร่าวๆ ตรงนี้ว่า การลงทุนแบบ MuIti–Asset Investing ต้องกระจายการลงทุนทั่วโลกในหลายมิติ เช่น พันธบัตรรัฐบาลที่ยังสามารถลงทุนได้มีมากกว่า 80 ประเทศ หุ้นกู้บริษัทเอกชนในต่างประเทศที่มีอันดับความเสี่ยงเทียบเท่าหรือดีกว่ารัฐบาลไทยมีมากกว่า 1,000 ตัว นอกจากนี้สินทรัพย์ประเภท Reits และโครงสร้างพื้นฐานก็มีมากมายร้อยกองที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ

...

ข้อดีของการลงทุนแบบ Multi–Asset Investing ก็คือ การมีสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนชดเชยสินทรัพย์ที่ปรับมูลค่าลดลงในสภาวะวิกฤติ

ในจังหวะที่ นักลงทุนต่างประเทศหมดความเชื่อมั่นและขายสินทรัพย์ไทย ผลที่เกิดขึ้นคือ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้เงินลงทุนต่างประเทศได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เราสามารถขายสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อทำกำไร และนำเงินมาซื้อสินทรัพย์ไทยในราคาถูก ข้อมูลที่แสดงในกราฟจะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทมักอ่อนอย่างมีนัย ในปีที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงเกินกว่า 10% ไม่รู้จะเหมือนภาวะหุ้นไทยในช่วงนี้หรือไม่ ที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาซื้อหุ้นราคาถูกในไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทเริ่มจะแข็งค่าขึ้นมาอีกครั้ง

หัวใจสำคัญอีกข้อของการลงทุนแบบ Multi–Asset Investing ก็คือ สร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นในระยะยาว โดยรักษาระดับความเสี่ยง หรือลดความเสี่ยงลง ถ้าดูในกราฟจะเห็นว่า พอร์ต Global Multi–Asset สามารถถือสัดส่วนหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงได้สูงกว่าพอร์ตในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยความเสี่ยงทั้งสองพอร์ตอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

การลงทุนแบบที่เล่ามา เป็นการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนรายย่อย ในวารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับนี้ คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ก็ได้เลือกกลุ่มหุ้นที่น่าลงทุนโดยได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ 5 กลุ่มคือ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มไฟฟ้า กลุ่มขนส่งที่เป็นขนส่งมวลชน และ กลุ่มธนาคาร มีไว้ติดพอร์ตบ้าง น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีในสถานการณ์แบบนี้นะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”